วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

90วันรู้อนาคต

On August 27, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองที่คลุมเครือมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมาน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้ ที่สำคัญช่วงระยะเวลา 90 วัน ระหว่างรอ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจะมีความเคลื่อนไหวพร้อมกันในหลายด้าน โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้ ส.ส. และการแย่งตั๋วนั่งเก้าอี้ ส.ว. แม้บรรยากาศอาจจะดูวุ่นวายบ้าง แต่เป็นช่วงเวลา 90 วันที่น่าติดตาม เพราะเมื่อพ้นห้วงเวลานี้ไปแล้วน่าจะทำให้ประชาชนมองข้ามช็อตไปถึงอนาคตประเทศหลังเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอลุ้นผลคะแนนว่าฝ่ายไหนจะชนะเลือกตั้ง

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม เมื่อล่วงเข้าเดือนกันยายนการเมืองจะมีความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น อะไรที่ดูคลุมเครือไม่ชัดเจนก่อนหน้านี้ก็น่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้

ความชัดเจนแรกแน่นอนว่าทุกคนจะจับจ้องไปที่การประกาศเลือกเส้นทางเดินทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แม้หลายคนเชื่อว่าในความชัดเจนจะไม่มีความชัดเจน เพราะ “บิ๊กตู่” จะประกาศอนาคตแบบแทงกั๊กประมาณว่าพร้อมกลับมาเป็นนายกฯหากประชาชนต้องการ แต่จะไม่บอกว่าจะเอาชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีชื่อนายกฯของพรรคการเมืองไหนหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะแทงกั๊กอย่างไร หลังการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก็สามารถเดาเส้นทางการเมืองของหัวหน้า คสช. ได้ไม่ยากว่าระหว่าง “อยากไปต่อ” กับ “พอแค่นี้” อย่างไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ความชัดเจนอย่างที่สองคือ การปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมบางประการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายได้ หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดย คสช. จะประชุมเพื่อเคาะปลดล็อกกันในวันที่ 28 สิงหาคมนี้

ความชัดเจนประการที่สามคือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้

ความชัดเจนประการต่อมาที่น่าจะเป็นไฮไลท์ไม่ต่างจากการประกาศอนาคตทางการเมืองของหัวหน้า คสช. คือ ความชัดเจนการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มสามมิตรที่ถึงเวลาเปิดตัวว่าใครจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองไหนบ้างที่ถูกดูดเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มสามมิตร

เมื่อล่วงเข้าเดือนกันยายนกลุ่มสามมิตรคงต้องใส่เกียร์ห้าเดินหน้าเต็มที่ เพราะเท่ากับว่าจะมีเวลาแต่งตัวเป็นพรรคการเมืองให้เรียบร้อยก่อนลงสู่สนามเลือกตั้งประมาณ 90 วัน ซึ่งเป็นช่วงระหว่างรอเวลา พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ถ้าช้าไปกว่านี้อาจไม่ทันกาล เพราะกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเข้าไปสวมหัวพรรคการเมืองที่ยื่นจับจองชื่อพรรคเอาไว้แล้วหรือยื่นตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง

ตามกรอบเวลาคือต้องจัดตั้งพรรคการเมืองให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายน เพราะต้องใช้เวลาในการทำไพรมารีโหวตก่อนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าแนวทางจัดทำไพรมารีโหวตจะเป็นแบบไหน อย่างไร

ความชัดเจนที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องและคงมีการเคลื่อนไหวกันมากขึ้นคือ การคัดเลือก ส.ว. ที่ให้อำนาจ คสช. ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกได้มากถึง 200 คน ส่วนอีก 50 คนเปิดรับสมัครจากทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ผู้เหมาะสมจำนวนหนึ่งก่อนส่งรายชื่อมาให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน เอาไปรวมกับ 200 คนที่ คสช. สรรหามา

เชื่อว่าในกลุ่มก้อนของคนที่อยู่ในสายอำนาจปัจจุบันและคนที่เคยอยู่ในแม่น้ำสายอำนาจแต่หลุดจากเก้าอี้ไปก่อนหน้านี้คงเคลื่อนไหวกันคึกคักเพื่อชิงตั๋วนั่งเก้าอี้ ส.ว. และมีความเป็นไปได้ว่าคนที่ต่อตั๋วนั่งเก้าอี้ ส.ว. ก็คงเป็นพวกหน้าเก่าๆที่เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตนายทหารในกองทัพ

การเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งที่ว่าร้อนแล้ว การวิ่งเพื่อชิงตั๋วนั่งเก้าอี้ ส.ว. ที่มีจำนวนจำกัดเพียง 250 ที่นั่ง คงเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้การเมืองไม่ต่างกัน

ที่สำคัญคือในช่วง 90 วันระหว่างรอเวลา พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง น่าจะทำให้ประชาชนมองข้ามช็อตเห็นอนาคตการเมืองหลังเลือกตั้งได้ไม่ยาก


You must be logged in to post a comment Login