วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภาวะย้อนแย้ง? / โดย นายหัวดี

On August 28, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

“ปฏิรูปกองทัพ” ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เมื่อกองทัพมีข่าวในทางลบจะเป็นประเด็นร้อนที่แทงใจกองทัพทุกครั้ง โดยเฉพาะระยะหลังกรณี “ทหารเกณฑ์” และ “พลทหาร” ยิ่งทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก “การเกณฑ์ทหาร”

“วัฒนา เมืองสุข” โพสต์เฟซบุ๊คว่า ภารกิจเร่งด่วนหลังการเลือกตั้งคือ “ปฏิรูปกองทัพ” ให้มีขนาดที่เหมาะสม มีความทันสมัยและมีขีดความสามารถต่อการป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เป็นกองทัพของประชาชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามภารกิจ ไม่ซ้ำซ้อนและไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนกองทัพกลายเป็นภัยคุกคามเสียเอง

ปัจจุบันกองทัพมีกำลังประจำการประมาณ 335,000 นาย เมื่อรวม “ทหารเกณฑ์” ปีนี้กว่า 100,000 นาย ทำให้มีกำลังประจำการมากถึง 440,000 นาย ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจที่มีขนาดและประชากรใกล้เคียงกัน โดยอังกฤษมี 150,000 นาย ฝรั่งเศส 215,000 นาย และเยอรมนี 180,000 นาย

ขณะที่ยุทธศาสตร์ทางทหารคือการ “ป้องกัน” ไม่ใช่ “รุกราน” ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศก็อยู่ท่ามกลางประชาคมอาเซียนและมิตรประเทศ การมีกำลังพลจำนวนมากจึงไม่มีความจำเป็นและเป็นภาระแก่งบประมาณ นับจากรัฐประหารปี 2549 งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 85,000 ล้านบาท เป็น 227,000 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 167%

การ “ปฏิรูปกองทัพ” จึงเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับหลายพรรคการเมืองประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 และ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” รวมทั้งยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. หลายสิบฉบับที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน

การเลือกตั้งที่ยังเหมือน “ลูกผีลูกคน” ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกอนาคตของกองทัพอีกด้วย!


You must be logged in to post a comment Login