- อย่าไปอินPosted 9 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ปลายทาง‘สามมิตร’
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การเมืองก่อนเข้าสู่เดือนกันยายนฝุ่นควันที่เคยคละคลุ้งมาก่อนหน้านี้เริ่มจางลงจนทำให้มองเห็นทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้ชัดขึ้น ที่ชัดเจนแล้วคือกลุ่มสามมิตรไม่มีเวลามากพอที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นของตัวเอง ต้องใช้ทางลัดเข้าเทคโอเวอร์พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วหรือพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก กกต. แม้จะเคยปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่ทางเลือกที่มีความเป็นไปได้คงไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐที่ชื่อคุ้นหูประชาชนและเหมาะสมกับภารกิจสนับสนุน “บิ๊กตู่” มากที่สุด ส่วนปัญหาไพรมารีโหวตเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าจะให้ทำพอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น
อย่างที่บอกไว้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมและล่วงเข้าเดือนกันยายนการเมืองจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น และหลายเรื่องที่คลุมเครือมาตลอดก่อนหน้านี้ประชาชนจะเริ่มมองเห็นความชัดเจนมากขึ้น
เริ่มต้นสัปดาห์นี้มีความชัดเจนแล้วอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือกลุ่มสามมิตรที่เดินสายหาคนร่วมงานหรือที่ภาษาการเมืองเรียกว่า “ดูด” จะไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นของตัวเอง
ทั้งนี้เพราะระยะเวลากระชั้นชิดมากเกินไป ประกอบกับกระบวนการตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน จึงจะใช้ทางลัดเข้าไปเทคโอเวอร์พรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว
แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเทคโอเวอร์พรรคการเมืองที่มีสภาพเป็นพรรคสมบูรณ์แล้ว หรือพรรคการเมืองที่ยังมีแค่ใบอนุญาตจับจองชื่อพรรค แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ทำคลอดออกมาเป็นพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์
หากถามถึงความน่าจะเป็นก็คงเข้าไปสวมพรรคพลังประชารัฐตามที่มีข่าวมาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังดำรงเป้าหมายสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ชื่อพรรคพลังประชารัฐถือว่าคลิกที่สุดกับภารกิจนี้ เพราะเป็นชื่อที่ติดหูประชาชน เนื่องจากเหมือนกับนโยบายของรัฐบาลทหาร คสช. ที่พูดออกสื่อทุกวันแบบใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ชื่อพรรคโดยอ้อมให้คุ้นหูประชาชนกับแบบฟรีๆมาหลายปี
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการเดินสายของกลุ่มสามมิตรอย่างนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีเพื่อไปเตรียมลงสนามเลือกตั้งนั้นยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะยืนยันได้
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประเมินว่าระหว่างยังอยู่ในตำแหน่งกับออกไปทำงานการเมืองเต็มตัวอย่างไหนจะช่วยผลักดันภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้ง่ายกว่ากัน ซึ่งดูแล้วอยู่หรือออกไปก็มีค่าไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก่อนเลือกตั้ง 90 วัน จะต้องมีชื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้
ความชัดเจนอีกอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในวันนี้ (28 ส.ค.) หลังการประชุม ครม. คือการคลายล็อกพรรคการเมือง 6 ข้อที่เป็นข้อสรุปจากการส่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับ กกต. เมื่อสัปดาห์ก่อน
แม้จะยังไม่ปลดล็อกกันในทันที แต่เชื่อว่าน่าจะพอมองเห็นเค้ารางบ้างว่าจะคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่วนระยะเวลาของการปลดล็อกน่าจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่คาดกันว่าจะเป็นช่วงกลางเดือนกันยายน
สำหรับเรื่องการทำไพรมารีโหวตที่พรรคการเมืองมีความกังวลว่าจะทำไม่ทัน ดูเหมือนมีแนวโน้มว่าจะเลือกแนวทางที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนตั้งแต่แรกคือ เพียงให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ต้องทำไพรมารีโหวตรายเขตเหมือนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำการปรับแก้กฎหมาย
ทั้งหมดคือความคืบหน้าล่าสุดที่พอทำให้ประชาชนมองเห็นทิศทางการเมืองที่จะเดินต่อไปหลังจากวันนี้
You must be logged in to post a comment Login