วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อ้าปากเห็นอะไร?

On August 30, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

รูปแบบการทำไพรมารีโหวตที่จะใช้วิธีให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ขึ้นมาทำบัญชีรายชื่อผู้ลงสมัครแล้วส่งให้กรรมการบริหารพรรคจิ้มเลือกแทนการให้สมาชิกพรรคโหวตเลือกรายเขต ในเบื้องหน้าผู้มีอำนาจให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง แต่หากพิจารณาลึกลงไปจะเห็นว่ามีเส้นกั้นอยู่ระหว่างคำว่าไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับการเอื้อประโยชน์ ทั้งนี้เพราะหากทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบพรรคการเมืองเก่าที่มีสมาชิกพรรคกระจายอยู่ทั่วประเทศจะได้เปรียบพรรคเกิดใหม่ และจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พรรคเกิดใหม่ไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขตเพื่อแบ่งแต้มชิงโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ซึ่งจะมีผลไปถึงการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

“ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป ตามที่กำหนดกรอบไว้อย่างเร็วที่สุด 24 ก.พ. 2562 และอย่างช้าไม่เกิน 5 พ.ค. 2562”

เป็นอีกหนึ่งเสียงของฝ่ายคุมอำนาจอย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ช่วยยืนยันหนักแน่นถึงกำหนดการเลือกตั้ง

ถึงนาทีนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายมั่นใจได้ถึง 99.99% ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกรอบโรดแม็พ ส่วนอีก 0.01% ที่เหลือเผื่อไว้สำหรับอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากกรอบเวลาจัดเลือกตั้งที่มีความชัดเจนแล้ว สิ่งที่ชัดเจนตามมาอีกเรื่องคือ การทำไพรมารีโหวตคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งหันกลับไปใช้เงื่อนไขเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างไว้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช้เงื่อนไขใหม่ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเพิ่มเติม

รูปแบบที่ กรธ. กำหนดไว้คือ ให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขต โดยให้มีกรรมการสรรหา 11 คน แบ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คน อีก 7 คนเป็นสมาชิกพรรคทั่วไป เมื่อได้ชื่อผู้เหมาะสมลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วให้ส่งรายชื่อให้กรรมการบริหารพรรคคัดเลือก ไม่ต้องให้สมาชิกพรรคโหวตกันรายเขตเหมือนที่ กรธ. ปรับแก้กฎหมาย

นอกจากเลี่ยงไม่ให้ขัดต่อมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้มีอำนาจยังให้เหตุผลว่าจะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง

“ไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง” ประโยคนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะหากทำไพรมารีโหวตตามที่ สนช. แก้กฎหมายมา พรรคการเมืองเก่าจะได้เปรียบพรรคการเมืองใหม่ เพราะมีฐานสมาชิกพรรคกระจายทั่วประเทศพร้อมทำไพรมารีโหวตรายเขตได้ แต่จะเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้พรรคการเมืองเกิดใหม่ไม่สามารถส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไปที่จะหาสมาชิกพรรคได้ครบตามจำนวนทุกเขตเลือกตั้งเพื่อทำไพรมารีโหวต

การส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้งถือว่าสำคัญมากสำหรับพรรคการเมืองเกิดใหม่ เพราะในระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนทุกคะแนนที่ได้มีค่า แม้ผู้สมัครจะไม่ชนะเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ได้มาจะมีผลต่อการได้โควตา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ผลดีก็คือจะทำให้ยอดรวมจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองเกิดใหม่ไม่ถูกพรรคการเมืองเก่าทิ้งระยะห่างออกไปมากนัก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลถึงการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

ความชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ อนาคตทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือที่เรียกกันว่าบ้านเลขที่ 111 และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย อดีตกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย 109 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังพรรคถูกยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

ถึงตอนนี้มีคำยืนยันชัดเจนว่าบรรดาอดีตกรรมการบริหารพรรคเหล่านี้ไม่ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. หากไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดโดยตรงและถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ตามมาตรา 97 (11) ของรัฐธรรมนูญ 60

ส่วนใครบ้างที่ต้องลาขาดจากการเมืองเพราะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ตลอดชีวิต คงต้องย้อนไปดูคำพิพากษาว่าระบุว่าใครทำความผิดฐานกระทำการทุจริตเลือกตั้งบ้าง แต่เท่าที่จำได้คงใช่ผู้เล่นตัวหลักของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป

ที่มีแกนนำพรรคการเมืองบางพรรคฝันหวานว่าเลือกตั้งเที่ยวนี้จะไม่เจอของแข็ง เพราะแข่งกับตัวสำรองของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นแค่ฝันเปียกที่ทำให้ตัวเองมีความสุขได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม


You must be logged in to post a comment Login