วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แห่ย้ายโค้งสุดท้าย

On August 31, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การจะใช้อำนาจมาตรา 44 ปรับแก้วิธีทำไพรมารีโหวตดูเหมือนว่ามีอะไรมากกว่าการอำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการส่งผู้สมัคร ส.ส. ทั้งนี้ มีคนชี้ให้จับตาดูว่าการแก้ไขครั้งนี้เกิดจากอดีต ส.ส. จำนวนมากที่ถูกทาบทามให้ย้ายสังกัดยังไม่กล้าเปิดตัวตอนนี้ แต่พร้อมจะเปลี่ยนสีเสื้อเมื่อใกล้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกในการย้ายค่ายไม่ให้เรื่องไพรมารีโหวตมาเป็นพันธนาการกีดขวาง ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับแกนนำกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่คุยโวว่าใกล้เลือกตั้งจะมีอดีต ส.ส. ออกจากสังกัดเดิมมาร่วมงานด้วยจำนวนมาก ส่วนจะเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการย้ายพรรคจริงหรือไม่อีกไม่นานคงได้รู้กัน

พิจารณาเสร็จเรียบร้อยอย่างรวดเร็วสำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงินงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท

ในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 เมื่อวานนี้ (30 สิงหาคม) มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายแสดงความเห็นกันหร็อมแหร็มประมาณ 5 คน ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนน 206 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 ชั่วโมง

กระทรวงใหญ่ๆที่ได้รับงบประมาณจำนวนมากอย่างกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับวงเงินงบประมาณ 117,583,067,200 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบประมาณ 25,476,695,800 บาท กระทรวงมหาดไทย งบประมาณ 43,927,994,000 บาท กระทรวงศึกษาธิการ งบประมาณ 297,355,867,200 บาท ไม่มี สนช. อภิปรายท้วงติงหรือสอบถามแม้แต่คนเดียว

นี่คือการทำงานของสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ต่างจากสภาเลือกตั้งที่อภิปรายแสดงความคิดเห็นท้วงติงกันข้ามวันข้ามคืนเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของ สนช. หากต้นปีหน้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแม็พ ส่วนสมาชิกที่พ้นจากการทำหน้าที่ สนช. ก็ต้องไปลุ้นว่าใครจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่ คสช. จะแต่งตั้งก่อนลงจากอำนาจกี่คน

ย้อนกลับมาที่การเตรียมใช้อำนาจมาตรา 44 ปรับแก้วิธีการทำไพรมารีโหวตที่จะเปลี่ยนจากให้สมาชิกพรรคโหวตเลือกตัวแทนลงสมัคร ส.ส.รายเขตมาเป็นให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.

อย่างที่บอกไปเมื่อวานว่าการปรับแก้ครั้งนี้เพื่อให้พรรคการเมืองเกิดใหม่ไม่เสียเปรียบพรรคการเมืองเก่าที่มีสมาชิกกระจายทั่วประเทศพร้อมทำไพรมารีโหวตรายเขตอยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองเกิดใหม่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 350 เขต เพื่อแบ่งแต้มแชร์เก้าอี้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท้วงติงไปในทิศทางเดียวกันกับนายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ว่าการใช้วิธีตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครไม่เรียกว่าไพรมารีโหวต

“การใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้วก็พูดตรงๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน ตอนเข้ามาก็บอกว่าจะเปลี่ยนแปลงจะปฏิรูปให้ดีขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองก็พร้อมจะทำตามกติกาใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ใช้ก็เปลี่ยนแปลงอีก คงเป็นเพราะหลายเรื่องเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขาต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันทำไม่ได้ เพราะผู้สมัคร ส.ส. ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

การใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลักไม่แน่น เพราะเขียนเอง ลบเอง และหลายครั้งที่ใช้มาตรา 44 มาแก้ไขก็มีปัญหาว่าหลายบทบัญญัติขัดกันเอง จึงอยากให้ดูตามหลักความเป็นจริง อย่าเอาเรื่องการเมือง ความได้เปรียบเสียเปรียบเข้ามา เพราะการแปรสภาพจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระดับหนึ่งอยู่แล้ว ความไม่แน่นอนในเรื่องของกติกาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม เท่านั้นที่จะเป็นหัวใจที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้”

จากความเห็นของนายอภิสิทธิ์สะท้อนได้ชัดเจนว่าเหตุผลที่แท้จริงของการปรับกติกาไพรมารีโหวตคืออะไร…เข้าใจตรงกันนะ


You must be logged in to post a comment Login