วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พิพากษาตามกระแส / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On August 31, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 31 สิงหาคม -7 กันยายน 2561)

เด็กชายผิวดำวัย 14 ปี ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา ถูกจองจำโดยห้ามเยี่ยมห้ามประกัน ไม่มีการสอบปากคำพยานฝ่ายจำเลย ไม่มีหลักฐานใดๆนอกจากคำรับสารภาพ คณะลูกขุนใช้เวลาเพียง 10 นาที ตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา เขาถูกตัดสินประหารชีวิตโดยห้ามอุทธรณ์

วันที่ 24 มีนาคม 1944 หลังเวลาโรงเรียนเลิกเพียงไม่นาน เด็กผู้หญิง 2 คนปั่นจักรยานไปตามริมทางรถไฟในเมืองอัลโคลู รัฐเซาท์แคโรไลนา พวกเธอตั้งใจจะแวะเก็บดอกเสาวรสป่าระหว่างเดินทางกลับบ้าน

เบตตี้ บินนิกเกอร์ วัย 11 ปีขี่จักรยาน โดยมีเพื่อนรุ่นน้อง แมรี่ เทมส์ วัย 7 ขวบซ้อนท้าย ใช้เส้นทางริมทางรถไฟผ่านโรงเลื่อยไม้ที่คนเกือบทั้งหมู่บ้านทำงานที่นี่ รวมถึงบิดาของพวกเธอเช่นเดียวกัน ทันใดนั้นเบตตี้ก็เหลือบไปเห็นเด็กผิวดำ 2 คนที่ข้างทาง

จอร์จ สตินนีย์ วัย 14 ปี และเอมี่ น้องสาววัย 7 ขวบ กำลังเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้า ขณะที่เบตตี้และแมรี่หยุดรถจักรยานเพื่อถามว่าจะสามารถหาดอกเสาวรสป่าได้ที่ไหน แต่จอร์จและเอมี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เบตตี้และแมรี่จึงเดินจูงจักรยานมุ่งหน้าต่อไป

ต่างคนต่างอยู่

อัลโคลูเป็นเมืองเล็กๆใกล้ชายป่า มีทางรถไฟตัดกลาง โดยคนผิวขาวอาศัยอยู่ที่ด้านหนึ่งของทางรถไฟ ขณะที่คนผิวดำอาศัยอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ทุกๆเช้าทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำจะมาทำงานร่วมกันที่โรงเลื่อย ดี.ดับบลิว. อัลเดอร์แมนแอนด์ซัน จนกระทั่งถึงเวลาเลิกงานในตอนเย็น

เวลาพลบค่ำจอร์จและเอมี่ต้อนวัวกลับบ้าน ก่อนจะอาบน้ำแต่งตัวไปกินเลี้ยงกับครอบครัวที่บ้านเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน แต่เบตตี้และแมรี่กลับไม่ถึงบ้านในวันนั้น ชาวบ้านเกือบ 200 คนช่วยกันออกค้นหา ทันทีที่จอร์จได้ยินข่าวเด็กผู้หญิง 2 คนหายตัวไป เขาก็บอกกับบิดาว่าเพิ่งพบกับพวกเธอเมื่อตอนบ่าย

จอร์จและบิดารีบช่วยชาวบ้านออกตามหาตัวเบตตี้และแมรี่ ไม่นานนักพระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้า การค้นหาจึงต้องยุติลง เช้าวันรุ่งขึ้น จอร์จ เบิร์ก นายใหญ่โรงเลื่อย เกณฑ์คนงานออกช่วยตามหา ไม่นานนักก็พบร่างของเบตตี้และแมรี่นอนเสียชีวิตอยู่บนพื้นที่มีน้ำเจิ่งนองในเขตที่อยู่อาศัยของคนผิวดำไม่ไกลจากบ้านของจอร์จ สตินนีย์ เท่าไรนัก

คนร้ายนำจักรยานวางทับบนร่างผู้เสียชีวิต เด็กหญิงทั้งสองคนถูกตีที่ศีรษะด้วยของแข็งหลายครั้งจนกระทั่งกะโหลกร้าว ไม่พบร่องรอยว่าถูกข่มขืน ตำรวจเชื่อว่าคนร้ายใช้เดือยตะปูรางรถไฟเป็นอาวุธ

จับทันควัน

บ่ายวันเดียวกัน จอห์นนี สตินนีย์ พี่ชายต่างมารดาของจอร์จ เดินทางมาเยี่ยมจากเมืองไพน์วูด เนื่องจากเขากำลังจะเดินทางไปรับราชการทหาร แต่บิดาและมารดาของจอร์จออกจากบ้านไปทำงานแล้ว ส่วนลูกๆคนอื่นก็ไม่อยู่บ้าน มีแต่เพียงจอร์จและเอมี่เท่านั้นที่อยู่บ้าน

บิดาของจอร์จทำงานในโรงเลื่อย ส่วนมารดาเป็นแม่ครัวโรงเรียนคนผิวดำ ประชากรเมืองอัลโคลูส่วนใหญ่เป็นคนยากจน พวกเขาแค่มีกินมีใช้ไปวันๆ บิดาของจอร์จจึงเช่าที่ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่และวัวนม เพื่อไว้ให้ลูกๆได้มีกินในยามที่เงินขาดมือ

รถยนต์สีดำ 2 คันขับตรงมาที่บ้านจอร์จ ตำรวจหลายคนลงจากรถบุกเข้าชาร์จทางประตูหลังบ้าน รวบตัวจอร์จและจอห์นนีใส่กุญแจมือก่อนจะนำตัวขึ้นรถพาไปยังสถานีตำรวจ ขณะที่เอมี่ตกใจกลัวแอบซ่อนตัวอยู่ในเล้าไก่

หลังจากนั้นเพียงแค่ 40 นาที ผู้ช่วยนายอำเภอ เอช.เอส. นิวแมน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จอร์จให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้สังหารเบตตี้และแมรี่ เนื่องจากเขาขอมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงแต่พวกเธอปฏิเสธ และขู่ว่าจะไปฟ้องบิดามารดา ทำให้จอร์จโมโหใช้เดือยตะปูรางรถไฟขนาดความยาว 1 ฟุต ทุบตีแมรี่ที่ศีรษะหลายครั้ง ก่อนจะหันมาทำแบบเดียวกันกับเบตตี้

บ้านแตกสาแหรกขาด

ทันทีที่ข่าวจับกุมตัวคนร้ายได้แพร่สะพัดออกไป บิดาของจอร์จถูกไล่ออกจากงาน กลุ่มคนผิวขาวที่โกรธแค้นรวมตัวกัน ทำให้บิดาของจอร์จรีบกลับมาที่บ้านเก็บข้าวของที่มีไม่มากนักพาครอบครัวหนีออกจากเมืองโดยทันที ขณะที่ตำรวจนำตัวจอห์นนีมาปล่อยที่ข้างถนนให้หาทางกลับเอาเอง

ตำรวจไม่เปิดเผยว่าควบคุมตัวจอร์จไว้ที่ไหน ทำให้เขาไม่ได้พบกับใครเลยตลอดการถูกควบคุมตัว จนกระทั่งถูกนำตัวมาขึ้นศาลในอีก 31 วันต่อมา ฝูงชนราว 1,500 คน รุมล้อมกันในอาคารศาลเพื่อรอฟังการไต่สวนคดีที่จะเริ่มขึ้นในเวลา 14.30 น.

การไต่สวนคดีใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง โดยมีเพียงพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจ 3 นาย และชายผู้พบร่างเด็กหญิงเท่านั้น ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีพยานมาให้การแม้แต่คนเดียว หลังจากนั้นคณะลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวทั้งหมดใช้เวลาเพียง 10 นาทีตัดสินว่าจอร์จมีความผิดจริง และให้ลงโทษขั้นสูงสุดโดยไม่มีการอุทธรณ์ ศาลจึงพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าจอร์จไม่ได้ลงชื่อรับสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เพียงคำบอกของผู้ช่วยนายอำเภอ ทนายจำเลยซึ่งเป็นคนผิวขาวไม่ตามหาพยานให้กับจำเลย เพราะช่วงเวลาที่เบตตี้และแมรี่ถูกสังหาร จอร์จอยู่ที่บ้านกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน มีหลายคนที่สามารถมาให้การเป็นพยานกับจำเลยได้

ผิดทำนองคลองธรรม

จอร์จถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1944 แต่ใช่ว่าคนผิวขาวทุกคนจะเห็นดีเห็นงามไปกับการไต่สวนคดีที่มีเงื่อนงำ คนผิวดำและผิวขาวหลายคนพยายามเรียกร้องให้มีการไต่สวนคดีใหม่ บางคนลงทุนซื้อพื้นที่โฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ประกาศหาแนวร่วมคัดค้านการพิจารณาคดีครั้งนั้น แต่ไม่เป็นผล

ซอนย่า เอดดี้-วิลเลี่ยมสัน เป็นหนึ่งในชาวเมืองอัลโคลูที่ค้างคาใจในคดีนี้ ครอบครัวของซอนย่าเป็นหนึ่งในตระกูลร่ำรวยที่มีเพียงไม่กี่ตระกูลในเมืองอัลโคลู มารดาของเธอเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกับเบตตี้และแมรี่ คุณตาของเธอเคยบอกกับแม่เธอว่าเจ้าเด็กหนุ่มจอร์จไม่ได้เป็นคนร้าย แต่ไม่มีใครกล้าพูดในตอนนั้น เพราะสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ โดยเฉพาะเป็นยุคที่มีกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ “KKK”

ซอนย่าสืบจนพบว่าในวันที่เกิดเหตุ หลังจากเบตตี้และแมรี่พบกับจอร์จและเอมี่แล้ว พวกเธอก็เดินจูงรถจักรยานตรงไปยังบ้านของจอร์จ เบิร์ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านเบตตี้ เพื่อชวนภรรยาของจอร์จไปหาดอกไม้ป่าด้วยกัน

แต่ภรรยาของจอร์จไม่ว่างไปด้วย ขณะเดียวกันลูกชายของจอร์จขับรถบรรทุกของบริษัทกลับมาบ้าน จึงอาสาพาเบตตี้และแมรี่ไปหาดอกไม้ป่า เด็กหญิงทั้ง 2 คนจึงนำรถจักรยานขึ้นรถบรรทุกไปกับลูกชายจอร์จ หลังจากนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ซอนย่าพบเอกสารชันสูตรศพเบตตี้และแมรี่ ระบุว่าบาดแผลเกิดจากวัตถุปลายมนเช่นค้อน ไม่ใช่เดือยตะปูรางรถไฟ แต่คงเป็นการยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เพราะเรื่องราวเกิดขึ้นมานานกว่า 70 ปี พยานในคดีนี้ล้มหายตายจากไปจนหมด เพียงสิ่งเดียวที่ทำได้คือประณามการไต่สวนและพิจารณคดีที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนั้น

680-1

1.เบตตี้ บินนิกเกอร์

680-2

2.แมรี่ เทมส์

3

3.แมรี่ เทมส์ (ซ้ายสุด) และครอบครัว

4

4.จุดที่พบร่างเบตตี้และแมรี่

5

5.จอร์จ สตินนีย์

6

6.จอร์จถูกนำตัวเข้าเรือนจำ

7

7.ประกาศหาแนวร่วมคัดค้านการตัดสินคดี

8

8.ลายพิมพ์นิ้วมือจอร์จ

9

9.มหาวิทยาลัยกฎหมายชาร์ลสตันศึกษากรณีจอร์จ สตินนีย์


You must be logged in to post a comment Login