วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ขุดบ่อล่อปลา

On September 3, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังมีความชัดเจนว่า คสช. จะใช้อำนาจมาตรา 44 ล้มการทำไพรมารีโหวต ให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ฝ่ายการเมืองกำลังจะเดินหมากตาใหม่คือ จะยอมให้เลื่อนเลือกตั้งจากเดือนกุมภาพันธ์ไปเป็นเดือนพฤษภาคมแลกกับการคงไพรมารีโหวตไว้ตามเดิม หาก คสช. ไม่ยอมก็จะเสียเครดิตที่เคยประกาศจะเข้ามาปฏิรูปการเมือง แต่ถ้ายอมจะทำให้พรรคการเมืองใหม่ติดหล่มไพรมารีโหวต ไม่อาจส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 350 เขต ซึ่งจะส่งผลให้ได้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อลดน้อยลงไปด้วย เมื่อจำนวน ส.ส. ในมือลดน้อยลง การจะไปให้ถึงเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งใจไว้ก็จะเป็นไปได้ยากมากขึ้น

การเมืองเป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบ ชิงเหลี่ยมเพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตที่บรรดาพรรคการเมืองชูขึ้นมาเป็นประเด็นก่อนหน้านี้เพื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ คสช. ยื้อไม่ยอมปลดล็อกให้ จนทำให้เงื่อนเวลากระชั้นชิด ไม่สามารถทำไพรมารีโหวตทุกเขตเลือกตั้งได้ทันกำหนด

แม้บางคนจะมองว่าที่ คสช. ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเพราะมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวตจากทำทุกเขตเลือกตั้งมาเป็นแค่ให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส. ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มการเมืองที่กำลังเดินสายดูดอดีต ส.ส. มาเป็นพวกทำงานได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ซ้ำซ้อนของอดีต ส.ส. และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดูดมากองรวมกันให้สามารถกระจายลงสมัครในเขตข้างเคียง หรือข้ามห้วยไปสมัครเขตอื่นได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต

ที่สำคัญการทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบมีรายละเอียดเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคมาเกี่ยวข้อง กลุ่มการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไปใช้ชื่อพรรคการเมืองใดไม่มีความพร้อมเรื่องจำนวนสมาชิกพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการส่งผู้สมัคร ส.ส. ทุกเขตทั่วประเทศ

ไล่เรียงเหตุการณ์จากที่พรรคการเมืองเอาเงื่อนไขไพรมารีโหวตมาเป็นประเด็นเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกให้เคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สื่อสารกับประชาชนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ คสช. ยื้อไว้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้กลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวดูดได้อย่างอิสระ เพราะยังไม่มีสภาพความเป็นพรรคการเมือง

เมื่อมาถึงจุดที่ คสช. ตัดสินใจจะปรับวิธีการทำไพรมารีโหวต พรรคการเมืองก็จะพลิกเกมอีกครั้งเพื่อชิงเหลี่ยมให้ คสช. เสียจุดยืนทางการเมือง และเพิ่มอุปสรรคไม่ให้ไปถึงเป้าหมายใหญ่ได้ง่ายๆ

ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวว่าพรรคการเมืองพร้อมที่จะให้ขยับการเลือกตั้งออกไป ไม่ต้องเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า แต่พร้อมให้ยืดออกไปจนถึงนาทีสุดท้ายของโรดแม็พ คือจัดเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม

การยอมให้ยืดเลือกตั้งครั้งนี้ก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายกำหนด ไม่ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขให้ใช้แค่ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.

การเดินหมากตานี้ของพรรคการเมืองถือว่าล้ำลึก

หาก คสช. ไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะเสียเครดิตที่ประกาศไว้ว่าจะเข้ามาปฏิรูปทุกด้าน โดยเฉพาะปฏิรูปการเมืองให้ดีกว่าเดิม

เมื่อทุกคนเห็นตรงกันว่าการทำไพรมารีโหวตเป็นแนวทางที่จะให้สมาชิกพรรคในพื้นที่มีส่วนร่วมตัดสินใจคัดเลือกตัวแทนลงสมัคร ส.ส. เพื่อตัดอำนาจนายทุนเจ้าของพรรคเลือกแต่คนของตัวเองลงสมัคร ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

ถ้า คสช. ยังยืนยันจะล้มไพรมารีโหวต ให้แค่ตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร คงจะตอบสังคมได้ยาก

ขณะที่ฝ่ายการเมืองไม่มีอะไรเสียจากการเดินหมากตานี้ ถ้า คสช. ยอมเลื่อนเลือกตั้งเพื่อให้เวลาทำไพรมารีโหวตก็เหมือนเอาปลาเล็กล่อปลาใหญ่

แค่เลื่อนเวลาออกไปอีก 2 เดือน แต่จะทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุน คสช. ติดหล่มไพรมารีโหวต ไม่อาจส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 350 เขต ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนคะแนนเสียงที่จะมาแบ่งโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อลดน้อยลงไปด้วย

เมื่อจำนวน ส.ส. ในมือลดน้อยลง การจะไปให้ถึงเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งใจไว้ก็จะเป็นไปได้ยากมากขึ้น


You must be logged in to post a comment Login