วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ฝืดคอกว่าที่คิด

On September 4, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลัง กกต. กำหนดไกด์ไลน์แบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศ กำหนดให้ภาคกลางมีจำนวน ส.ส. มากที่สุด 121 ที่นั่ง รองลงมาคือภาคอีสาน 118 ที่นั่ง ภาคเหนือ 62 ที่นั่ง และภาคใต้ 49 ที่นั่ง เมื่อมองย้อนไปถึงผลการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2554 ทำให้เห็นพื้นที่ที่จะมีการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะ 3 พื้นที่หลักคือ เหนือ กลาง อีสาน ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแชมป์เก่า และพรรคการเมืองเก่าอย่างประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ถือครองส่วนแบ่งเก้าอี้อยู่ ถือเป็นก้างขวางคอพรรคการเมืองน้องใหม่ที่เดินสายโชว์พลังดูดอยู่ในตอนนี้ หลังเลือกตั้งใครจะจับมือกับใครไม่รู้ แต่ช่วงเลือกตั้งเจ้าของพื้นที่เก่าสู้ยิบตาไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ง่ายๆแน่นอน เพราะทุกพรรคต้องการเก้าอี้ ส.ส. ให้มากที่สุดเพื่อรักษาอำนาจต่อรองหลังเลือกตั้งนั่นเอง

การเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พมีความคืบหน้าไปอีกขั้น

ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือส่งถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และ กกต.กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พร้อมวางหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติคือ ต้องแบ่งพื้นที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน ต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรแต่ละเขตใกล้เคียงกัน เสร็จแล้วให้รายงานกลับมาที่ กกต.กลาง

ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวมีไกด์ไลน์ที่น่าสนใจคือ การคำนวณจำนวน ส.ส. และเขตเลือกตั้งตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ให้มีเขตเลือกตั้ง 350 เขต โดยคิดจากจำนวนประชากรทั่วประเทศตามประกาศล่าสุดของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าทั่วประเทศมีประชากรรวม 65,931,550 คน

เมื่อบวกลบคูณหารจำนวนประชากรกับจำนวนเขตเลือกตั้งตามภูมิภาคแล้ว ภาคกลางเป็นภาคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด 121 ที่นั่ง รองลงมาคือภาคอีสาน 118 ที่นั่ง ภาคเหนือ 62 ที่นั่ง และภาคใต้ 49 ที่นั่ง

หากแยกเป็นรายจังหวัด กทม. มี ส.ส. มากที่สุด 30 ที่นั่ง ตามมาด้วยนครราชสีมา 14 ที่นั่ง ขอนแก่นและอุบลราชธานี จังหวัดละ 10 ที่นั่ง เชียงใหม่ 9 ที่นั่ง ขณะที่ชลบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา จังหวัดละ 8 ที่นั่ง

เมื่อเห็นไกด์ไลน์การแบ่งเขตเลือกตั้งจาก กกต. แล้วก็ทำให้มองเห็นพื้นที่ที่จะต้องมีการแข่งขันอย่างดุเดือดในสนามเลือกตั้ง

แน่นอนว่าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานจะมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก และต้องเป็นพื้นที่เป้าหมายของหลายพรรคการเมืองที่จะขอเข้าไปแชร์เก้าอี้ ส.ส. กับพรรคเพื่อไทยแชมป์เก่า

ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ภาคเหนือ 49 ที่นั่ง ภาคอีสาน 101 ที่นั่ง ภาคกลาง 41 ที่นั่ง กทม. 10 ที่นั่ง ภาคใต้ 0 ที่นั่ง

พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ภาคเหนือ 13 ที่นั่ง ภาคอีสาน 5 ที่นั่ง ภาคกลาง 25 ที่นั่ง กทม. 23 ที่นั่ง และภาคใต้ 50 ที่นั่ง

หากเจาะไปดูพื้นที่ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดคือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้พื้นที่ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดจะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการตีค่ายพรรคเพื่อไทยให้แตกด้วยการดูดอดีต ส.ส. ออกจากสังกัดให้ได้มากที่สุด

ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยแสดงตนออกจากพรรคไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่แล้วกี่คน แต่หากอดีต ส.ส.ระดับแม่เหล็กของพรรคยังอยู่ และระดับแกนนำไม่แตกคอกันเรื่องตัวผู้นำพรรคคนใหม่จนร่วมงานกันไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นป้อมค่ายทางการเมืองที่แข็งแกร่งที่ยากจะตีแตกได้

นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้ประเพณีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คือให้สิทธิพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล ก่อนถูกทำลายไปพร้อมกับการเขียนกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ หากมองถึงตัวเลขอดีต ส.ส.ในพื้นที่ที่แข่งขันกันดุเดือดอย่างภาคกลาง เหนือ อีสาน นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคเกิดใหม่ยังมีก้างขวางคออีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยที่มีอดีต ส.ส.ภาคเหนือ 2 ที่นั่ง ภาคอีสาน 13 ที่นั่ง ภาคกลาง 13 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาที่มีอดีต ส.ส.ภาคเหนือ 2 ที่นั่ง ภาคอีสาน 1 ที่นั่ง ภาคกลาง 11 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนาที่มีอดีต ส.ส.ภาคเหนือ 1 ที่นั่ง ภาคอีสาน 6 ที่นั่ง

แม้พรรคเกิดใหม่จะดูดอดีต ส.ส. ไปร่วมงานได้จำนวนมากอย่างที่คุยก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะได้จำนวน ส.ส. มากอย่างที่คาดหวัง เพราะนอกจากความเป็นอดีต ส.ส. ที่ใกล้ชิดประชาชนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผลงาน” ที่เคยทำมาในอดีต

เมื่อดูจากปัจจัยโดยรวมแล้ว พรรคเพื่อไทยอาจได้ ส.ส. ลดน้อยลง แต่ก็ยังเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ในสภามากที่สุดหลังการเลือกตั้งค่อนข้างแน่


You must be logged in to post a comment Login