วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.เปิดเวทีแลกเปลี่ยน-เรียนรู้ นำร่อง10 มรภ.ทำวิจัยแก้ปัญหาท้องถิ่น

On September 7, 2018

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน จัดเวทีนำเสนอวิจัยเชิงพื้นที่ โดยสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเปลี่ยนกระบวนการคิด วิธีการทำงาน ควบคู่กับการเสนอผลงานทางวิชาการ อาทิ การพัฒนาอาหารปลอดภัยในท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ การพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า จากการทำงานของสสส. ร่วมกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พบว่า การแก้ไขปัญหา และหาทางออกของชุมชนท้องถิ่น ต้องอาศัยองค์ความรู้และมุมมองจากคนภายนอกชุมชนเข้าไปกระตุ้นหรือ สะกิดเพื่อการเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้นำชุมชนท้องถิ่นในฐานะผู้รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบหรือในฐานะสมาชิกของหมู่บ้าน ตำบล ดังนั้น การนำความรู้จากการปฏิบัติกับความรู้จากหลักวิชาการมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงในการกำหนดยุทธศาสตร์ หรือกลวิธี ร่วมกันสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จะเป็น “หลักการใหม่ในการสังเคราะห์ความรู้” ให้เป็น “ความรู้ใหม่” ที่มีหลักวิชารองรับ ปฏิบัติได้จริง และสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่เป็นสายใยให้ชุมชนท้องถิ่นอยู่ร่วมกันเป็น สถาบันวิชาการเองก็ต้องพิสูจน์ (วิจัยเชิงปฏิบัติการ) ว่าองค์ความรู้จากหลักวิชาการหรืองานวิจัย จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร อันจะส่งผลต่อความสุขหรือความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกในกลุ่ม ชุมชน หมู่บ้านและตำบล

“ปัญหาใกล้ตัว ใกล้ชุมชน อย่างทำนาแล้วขาดทุน น้ำท่วมซ้ำซาก ภาควิชาการจากสถาบันการศึกษามาเก็บข้อมูลทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านแล้วแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะนี้มีโมเดลของราชภัฏอุตรดิตถ์ที่มีความแนบแน่นกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ชาวบ้านมีปัญหาเดินไปที่ราชภัฎฯ ซึ่งสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือท้องถิ่นมาจากชุดความคิด3 ชุด ชุดที่ 1 ปัญหาในท้องถิ่นยังต้องการความรู้และมุมมองจากคนในชุมชน คนภายนอกไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ ชุดองค์ความรู้ที่ 2 สถาบันวิชาการมีความจำเป็นต้องพิสูจน์องค์ความรู้ทำให้คนในชุมชนเข้มแข็ง นำหลักวิชาไปช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุดความคิดที่3 เวลาใช้องค์ความรู้ปฏิบัติต้องผสานกับภูมิปัญญาและหลักวิชาเหล่านี้จะเป็นเส้นทางการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน”น.ส.ดวงพรกล่าว

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือชุมชนท้องถิ่น สสส. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานของ 2 ส่วน คือสถาบันการศึกษาและชุมชนท้องถิ่นที่เดิมต่างคนต่างทำต่างเป้าหมาย มาร่วมคิดร่วมทำโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเกิดคู่ความร่วมมือ 210 พื้นที่ เกิดจำนวนนักวิจัยจากสถาบันวิชาการ และนักวิจัยชุมชน(ในพื้นที่) 988 คน และมีผลงานวิจัย 439 เรื่อง แบ่งเป็นวิจัยแบบมีส่วนร่วม และวิจัยเชิงทดลอง ใน 5 ประเด็น คือ 1.เศรษฐกิจชุมชน 2.การจัดการขยะ 4.เด็กและเยาวชน 4.อาหารปลอดภัย 5.การดูแลสุขภาพ ซึ่งผลวิจัยเหล่านี้จะถูกนำไปสู่การต่อยอดขยายผลทำงานร่วมกันต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และอธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า สถานศึกษาในท้องถิ่นต้องปฏิรูปการทำงานวิจัย เพราะเดิมทีงานวิจัยเป็นความต้องการของนักวิชาการหรือได้ทุนมาจากส่วนกลาง แต่การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ สสส.เข้ามาสนับสนุนกระบวนการโดยเน้นตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยยึดหลักเข้าไประเบิดปัญหาจากภายใน แล้วใช้การแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม เหมือนกับคำภาษาอังกฤษที่ว่า “Engate” คือการหมั้นหมายกันต้องอยู่ด้วยกัน โดยไปสร้างนักวิจัยในท้องถิ่น ให้ชาวบ้านช่วยกันคิดกันทำ สถานศึกษาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโดยอาศัยองค์ความรู้ เพราะชุมชนท้องถิ่นต้องการองค์ความรู้ แต่ลึกๆคือการช่วยกัน ท้ายที่สุดเมื่อชาวบ้านคิดเองทำเองจะกลายเป็นนโยบายของท้องถิ่นโดยตรง

“สสส.ได้ให้แนวทางจากการปฏิรูปงานในเชิงวิชาการมาบริการประชาชน เป็นโมเดลที่จะขยายไปใช้กับราชภัฎทั้ง 38 แห่ง ซึ่งปัจจุบันเกิดการนำร่องไปแล้ว 10 แห่ง ทำให้ได้กระบวนการใหม่ที่ทำงานตรงกับปัญหาและความต้องการของชุมชน”ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว

นายสมคิด ทุ่นใจ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้นำความรู้ทางด้านสารสนเทศ มาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน จากการทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับชาวบ้านทำให้ทราบว่าพื้นที่มีแหล่งน้ำอยู่ในจุดไหน และบอกระยะทางเดินทางไปถึงแหล่งน้ำ นำข้อมูลไปให้อบต.เพื่อวางแผนจัดสรรงบประมาณการวางท่อ และวางแผนการเพาะปลูก ซึ่งเดิมทีกลุ่มชาวบ้านที่ทำนาจะได้สิทธิ์ในการใช้น้ำในสัดส่วนที่สูงกว่า แต่กลุ่มที่ปลูกไม้ผล ปศุสัตว์ ได้รับการใช้น้ำรองลงมา เมื่อมีฐานข้อมูลสามารถจัดสรรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปดูแหล่งน้ำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งในระยะต่อไปต้องให้อบต.ขึ้นทะเบียนเกษตกรระบุประเภทของการเพาะปลูกเพื่อบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งปีซึ่งโมเดลนี้สามารถต่อยอดไปยังอำเภอใกล้เคียงจนถึงระดับจังหวัดได้  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 10 แห่ง ประกอบด้วย ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.ราชภัฏพิบูลสงครามม.ราชภัฏนครปฐม ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ราชภัฏเพชรบุรี ม.ราชภัฏมหาสารคาม ม.ราชภัฏเลย ม.ราชภัฏลำปาง

2 3

6 4


You must be logged in to post a comment Login