วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นั่งร้านพรรคเก่า

On September 11, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

กระแสข่าวชิงพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ที่ต้องกลับมาพูดถึงอีกครั้งหลังเงียบไปพักใหญ่เป็นเพราะเสียงในพรรคเริ่มแตกเป็น 2 ส่วนชัดเจนมากขึ้น กลุ่มที่อยากเปลี่ยนแปลงมองความจริงที่ว่าพรรคไม่อาจชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ จะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ จึงไม่ควรปิดโอกาสในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับอีกขั้วการเมืองหนึ่ง ถึงจะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยแต่เมื่อรวมเสียงกันแล้วก็มากพอสำหรับการต่อรองจัดตั้งรัฐบาล มองมุมบวกหากหัวหน้าพรรคยังชื่อ “อภิสิทธิ์” จะเป็นอุปสรรคสำหรับแนวทางการเมืองแบบยืดหยุ่น แต่หากมองในมุมลบก็เหมือนที่บางคนพูดออกมาอย่างชัดเจนว่าต้องการเอาพรรคไปเป็นนั่งร้านส่งใครบางคนเถลิงอำนาจนั่งเก้าอี้นายกฯหลังเลือกตั้ง

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับสถานการณ์การเมืองที่กำลังดำเนินไปของบ้านเรา

สิ่งแรกที่ประชาชนมองเห็นกันอย่างชัดเจนคือ การปล่อยให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม พรรคการเมืองบางพรรค หาเสียงล่วงหน้าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นที่ติดล็อกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

กลุ่มการเมืองบางกลุ่มไปขึ้นรถแห่พบประชาชน ผู้มีอำนาจ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่แตะ อ้างว่าไม่ผิดเพราะเป็นการเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการเมืองไม่ใช่พรรคการเมือง คำพูดที่ผู้มีอำนาจบางคนย้อนถามว่าเขาอยู่พรรคไหนสวนทางกับคำพูดที่ว่าเป็นกลางและดูแลเท่าเทียมอย่างชัดเจน

คำพูดที่ว่าออกไปพบประชาชนเพื่อสอบถามปัญหาเอามาหาแนวทางแก้ไข ก็ยังมีข้อสงสัยว่าไม่ใช่การลงพื้นที่หาเสียงล่วงหน้าได้อย่างไร

พรรคการเมืองบางพรรคจัดกิจกรรมด้วยการเล่นคำว่าเปิดโรงเรียนการเมือง ผู้มีอำนาจ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ย้อนถามคนที่ตั้งคำถามว่าทำไมทำได้ด้วยประโยคที่ว่าถ้าไม่เป็นการหาเสียงก็ทำได้

น่าสนใจว่าถ้าพรรคการเมืองอื่นๆจะทำกิจกรรมแบบเดียวกันนี้สามารถทำได้หรือไม่

การกระทำอีกอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่งในตอนนี้คือ ความพยายามเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำพรรคบางส่วนยืนยันในหลักการว่าจะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก

ก่อนหน้านี้มีข่าวหนาหูว่ามีอดีตแกนนำพรรคบางคนที่ลาออกจากพรรคไปเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการกลับมายึดพรรคให้อยู่ในปกครอง แต่มีแนวโน้มไม่สำเร็จจึงต้องออกไปสร้างบ้านหลังใหม่เป็นของตัวเอง จนทำให้ข่าวความพยายามเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เงียบหายไปพักใหญ่

เมื่อประเมินสถานการณ์ในสนามเลือกตั้งแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้จำนวน ส.ส. ตามเป้าหมาย แผนเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงถูกงัดขึ้นมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

นี่ไม่ใช่เรื่องมโนคิดไปเอง เพราะก่อนที่จะมีคนในพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก็มีคนนอกพรรคที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเตือนล่วงหน้าก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแยกย่อยลงไปภายในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ดูเหมือนว่าแนวคิดจะแตกออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะกู้ภาพลักษณ์ความเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนและยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลังจากเสียศูนย์ไปพักใหญ่จากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ด้วยการประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนนายกฯคนนอกแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้

อีกกลุ่มเห็นว่าเป็นแนวทางการเมืองที่ตึงเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ทั้งนี้เพราะชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจชนะเลือกตั้งมีเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ จะไปร่วมมือกับพรรคตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ จึงไม่ควรปิดโอกาสตัวเองในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับอีกขั้วการเมืองหนึ่งที่ถึงจะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยแต่เมื่อรวมเสียงกันแล้วก็มีมากพอสำหรับการต่อรองจัดตั้งรัฐบาล

มองมุมบวกคือการมีนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคเป็นอุปสรรคสำหรับแนวทางการเมืองแบบยืดหยุ่น

แต่หากมองในมุมลบก็เหมือนที่บางคนพูดออกมาอย่างชัดเจนว่าต้องการเอาพรรคไปเป็นนั่งร้านส่งใครบางคนเถลิงอำนาจนั่งเก้าอี้นายกฯหลังเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login