วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทำไมดันมวยรอง

On September 17, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความน่าสนใจในหลายมุม โดยเฉพาะแง่มุมของเหตุผลที่แท้จริง เมื่อดูรายชื่อผู้ท้าชิงอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ทำให้เกิดคำถามว่าคนนี้มีอะไรดี ทั้งรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ ความนิยมทางการเมือง เป็นรองนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทุกด้าน การทำศึกเลือกตั้งโดยมี นพ.วรงค์เป็นแม่ทัพ กับการมีนายอภิสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของใครจะได้คะแนนจากประชาชนมากกว่ากัน เป็นคำตอบที่คาดเดาได้ไม่ยาก แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเห็นรายชื่อผู้สนับสนุนหลักของ นพ.วรงค์ก็คงไม่ทำให้ข่าวลือต่างๆลดน้อยลง

หลังภาพการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น ทำให้พรรคการเมืองต่างๆมีการเคลื่อนไหวเตรียมความพร้อมเพื่อลงสนามเลือกตั้ง

ในการทำงานของพรรคการเมืองมีความสำคัญอยู่ 3 อย่างคือ ผู้นำพรรค ที่จะเป็นตัวบ่งบอกแนวทางการเมืองของพรรค พรรคจะมีทิศทางเป็นอย่างไรจะสะท้อนออกมาจากบุคลิกของคนเป็นผู้นำ รองลงมาคือนโยบาย และกรรมการบริหารกับสมาชิกพรรค

หลังการเมืองถูกเว้นวรรคมานานกว่า 4 ปี เมื่อต้องหวนกลับสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้หลายพรรคมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งในทิศทางการเมืองของพรรคและผู้นำที่จะมาเป็นผู้กำหนดเส้นทางเดินของพรรคในอนาคต

การเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นบุคคลอื่นถือว่ามีความน่าสนใจในหลายมุม

โดยเฉพาะแง่มุมที่ว่าเหตุผลที่แท้จริงของความพยายามเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คืออะไรกันแน่

เมื่อดูรายชื่อผู้ท้าชิงอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ก็ทำให้เกิดคำถามว่าคนนี้มีอะไรดีกว่านายอภิสิทธิ์

ทั้งรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ ความนิยมทางการเมือง แม้ นพ.วรงค์จะมีความโดดเด่นจากการเคลื่อนไหวตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว แต่ก็ถือว่ายังเป็นรองนายอภิสิทธิ์ในทุกมิติค่อนข้างชัดเจน

การทำศึกใหญ่อย่างการเลือกตั้งโดยมี นพ.วรงค์เป็นแม่ทัพ กับการมีนายอภิสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใดจะได้คะแนนจากประชาชนมากกว่ากัน เชื่อว่าเป็นคำตอบที่คาดเดาได้ไม่ยาก

ทำให้น่าสนใจว่าเมื่อ นพ.วรงค์เป็นรองนายอภิสิทธิ์ทุกด้าน ทำไมจึงมีสมาชิกพรรคบางส่วนเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ นพ.วรงค์ขึ้นเป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคนใหม่

แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย และอดีตแกนนำม็อบ กปปส. จะปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มนายอภิสิทธิ์ในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าคงไม่ทำให้กระแสข่าวที่ว่าจางลง เมื่อมองไปเห็นนายถาวร เสนเนียม ซึ่งเป็นคนในกลุ่มก้อนเดียวกับนายสุเทพเป็นแบ็กอัพสำคัญให้ นพ.วรงค์

ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวของอีกกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามเสนอนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค มาเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อม 2 กลุ่มที่เปิดศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคเข้าด้วยกัน เพื่อรักษาสปิริตในพรรคไว้ไม่ให้เกิดความแตกแยกก่อนลงทำศึกเลือกตั้งใหญ่ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวน ส.ส. ของพรรค

ที่สำคัญทั้งแนวคิด ภาพลักษณ์ของนายอลงกรณ์ แม้จะด้อยกว่านายอภิสิทธิ์ แต่ก็ด้อยกว่ากันไม่มากเมื่อเทียบระหว่างนายอภิสิทธิ์กับ นพ.วรงค์

แม้จะพยายามอธิบายว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นไปตามแนวทางของพรรคที่เปิดกว้างให้สมาชิกมีส่วนเลือกผู้นำ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ว่าศึกชิงหัวหน้าพรรคจะจบอย่างไรล้วนมีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ และมีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว


You must be logged in to post a comment Login