วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ตัวแปรสนามปักษ์ใต้

On September 19, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในช่วงที่เสียงปี่กลองการเมืองเชิดรัว หลายคนโฟกัสไปที่พื้นที่ภาคเหนือ กลาง อีสาน ว่าจะมีการแข่งขันอย่างดุเดือด เพราะมีเก้าอี้ ส.ส. ให้ช่วงชิงจำนวนมาก แต่ไม่ควรละสายตาจากสนามการเมืองในภาคใต้ แม้จะไม่ใช่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะมีเดิมพันสูงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา โดยจะเป็นการแข่งขันในกลุ่มคนกันเองที่เคยร่วมทำงานการเมืองทั้งในและนอกสภามาด้วยกัน เพราะต่างต้องการสร้างพื้นที่ยืนทางการเมืองให้ฝ่ายตัวเอง สนามการเมืองปักษ์ใต้จะดุเดือดแค่ไหน ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้นำทัพประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง

การเตรียมความพร้อมเพื่อจัดเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เห็นชอบระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือ กกต. ต้องจัดประชุมและประกาศจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีภายใน 3 วันหลังจากนี้ จากนั้นผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งประจำจังหวัดจะรับไม้ต่อเพื่อทำการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ โดยขั้นตอนนี้มีระยะเวลาทั้งสิ้น 40-50 วัน

เท่ากับว่าระยะเวลาไม่เกิน 60 วันหลังจากนี้จะทราบเรื่องเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดอย่างเป็นทางการ ทำให้พรรคการเมืองสามารถวางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตได้

เมื่อทุกอย่างเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ บรรดาพรรคการเมืองก็ต้องเร่งมือเตรียมความพร้อมสำหรับลงแข่งขัน หลังจากที่สนามการเมืองถูกปิดมานานกว่า 4 ปี

ในการเลือกตั้งครั้งนี้หลายคนโฟกัสไปที่พื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเก้าอี้ ส.ส. ให้แย่งชิงกันมากที่สุด

ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่ผู้อยากได้อำนาจรัฐไว้ในครอบครองหลังการเลือกตั้งให้ความสำคัญมากที่สุด โดยมีเจ้าของพื้นที่เดิมเป็นพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งคือพรรคนอมินีของกลุ่มอำนาจในปัจจุบันที่ใช้กลยุทธ์ทำลายความแข็งแกร่งของคู่แข่งด้วยการเดินสายดูดคนของฝ่ายตรงข้ามให้มาเป็นพวกอยู่ในตอนนี้

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ถือว่าไม่ใช่พื้นที่หลักของการชิงอำนาจ เพราะเก้าอี้ ส.ส. มีให้แย่งชิงไม่มาก แถมยังเป็นฐานการเมืองที่แข็งแกร่งของพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ว่าจะส่งใครลงสมัครก็มีโอกาสชนะเลือกตั้งแบเบอร์

อย่างไรก็ตาม แม้สนามการเมืองในภาคใต้จะไม่ใช่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยจะเป็นการแข่งขันในกลุ่มคนกันเองที่เคยร่วมทำงานการเมืองทั้งในและนอกสภามาด้วยกัน

การแข่งขันช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. ในภาคใต้จะดุเดือดเลือดพล่านแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

หากเก้าอี้หัวหน้าพรรคหลุดมือจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเป็นบุคคลอื่นที่ผู้มีอิทธิพลนอกพรรคให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การต่อสู้ในพื้นที่อาจเบาลง เพราะถือว่ามีแต่มิตรสหายที่เคยร่วมรบ แม้จะอยู่ต่างพรรคการเมืองแต่สามารถจับมือเป็นพันธมิตรถึงขั้นอาจแบ่งพื้นที่หรือหลบเลี่ยงให้กันได้

แต่หากนายอภิสิทธิ์สามารถรักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรคเอาไว้ได้ การแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้ ส.ส. ในภาคใต้เดือดแน่นอน เพราะพรรคใหม่ของสหายเก่าต้องออกแรงเต็มที่เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนในสนามการเมือง

ความเข้มข้นของการแข่งขันมีแนวโน้มว่าจะมีทั้งในกรอบและนอกกรอบ จนแม้แต่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ยังอดแสดงความเป็นห่วงไม่ได้

“หัวคะแนนต่างๆขณะนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหว เรื่องการเมืองก็มีการประเมินว่าน่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ เพราะเหมือนกับเป็นโรคประจำตัวว่าเมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องเกิดเหตุยิงกัน ทางเจ้าหน้าที่จะพยายามดูแลให้ดีที่สุด โดยใช้ชุดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของทหารพรานและกองทัพภาคที่ 4 เข้าพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าหากใครจะเล่นการเมืองขอให้ระวังตัวด้วย หากอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐไปช่วยดูแลเราก็มีความพร้อม แต่ไม่ใช่เป็นการไปเดินตามหลังนักการเมือง ถ้าใครอยากเดินตามหลังนักการเมืองก็ให้ออกจากราชการไปเลย”

แม้จะมีเก้าอี้ ส.ส. ให้ช่วงชิงกันไม่มาก แต่ระดับความเข้มข้นของการแข่งขันไม่แพ้พื้นที่อื่นแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login