วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “ วิชาชีวิต…ทางรอดเด็ก และเยาวชน ”

On September 19, 2018

ที่ลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “วิชาชีวิต…ทางรอดเด็กและเยาวชน” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2561 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษาและเด็กเยาวชนที่เคยก้าวพลาด โชว์ศักยภาพอย่างสร้างสรรค์ ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยร่วมกับนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา วาดภาพสามมิติ บริเวณผนังอาคาร ลานกิจกรรมเกาะพญาไท ซึ่งได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากบริษัท ไทยแคนโทนา เอ็นเตอร์ไพรส จำกัด กิจกรรมในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงรอบตัว เหล้า บุหรี่ พนัน ท้องไม่พร้อม รวมถึงบูธกิจกรรมและการแสดงดนตรีของเยาวชน โดยมีเด็กเยาวชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของสสส.และภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักศึกษาคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิต เพื่อให้สังคมได้เข้าใจและให้โอกาส รวมทั้งนำเสนอแนวคิดเรื่อง “วิชาชีวิต หรือ ทักษะชีวิต” ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะด้านการศึกษา ได้ตระหนักถึงปัญหานำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งใช้โอกาสวันเยาวชนแห่งชาตินี้ ทำให้สังคมเห็นความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมมากขึ้น

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีข้อมูลที่น่ากังวลโดยพบว่า เด็กและเยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึงในแต่ละปี มีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510 ราย โดยจากสถิติคือช่วงอายุ 15-19 ปี ที่เสียชีวิตสูงสุด ขณะเดียวกัน เด็กไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 1,500,000 คน โดยมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ 30,000 คนต่อปี เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด ทั้งนี้ สสส. ได้ร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายฯ พัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งต่อยอดในเรื่องทักษะชีวิตหรือวิชาชีวิต ที่ป้ามล ทิชา ณ

นคร ได้ดำเนินการจนเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์มากมายในบ้านกาญจนาภิเษกฯ และนำมาประยุกต์ทดลองปฏิบัติจริง ผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในโรงเรียนนำร่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นองค์ความรู้แบบรูปธรรมในเร็วๆ นี้

นางทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผู้ใหญ่มักสร้างวาทกรรมว่าเยาวชนคืออนาคต ทำให้ศักยภาพบางด้านไม่ถูกพัฒนาเพราะถูกผู้ใหญ่จัดแจงป้อนให้ คิดให้ หรือรอรับคำสั่ง ดังนั้นเราควรมองว่าเยาวชนคือปัจจุบันและเยาวชนคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้พวกเขามีพื้นที่เรียนรู้ ฝึกฝนต่อยอดทักษะต่างๆอย่างเป็นระบบ มีนโยบาย มีงบประมาณ มีพื้นที่ที่ชัดเจน ก่อนที่เขาเหล่านี้จะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมต่อไป ที่บ้านกาญจนาภิเษกมีหลักสูตร ‘วิชาชีวิต’ ที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจให้ลูกหลานที่นี่คืนกลับเป็นคนดีของสังคม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจ ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้  ความบาดเจ็บของเขาเป็นเรื่องของการไม่มีตัวตน ไร้คุณค่า จึงต้องมีเครื่องมือทำงานให้เหมาะกับตัวตนของเขา  วิชาชีวิตแบ่งออกเป็นกลุ่มสาระ 8 วิชา เหมือนหลักสูตรโรงเรียนทั่วไป เพียงแต่เนื้อหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ วิชาผู้รอดบนความขาดพร่อง,  วิชาความรุนแรงและอาชญากรรม,  วิชากระตุ้นความเป็นมนุษย์ สำนึกดี ใฝ่ดี , วิชาการหลบหนีและผลลัพธ์ที่ตามมา หรือวิชาชมภาพยนตร์ เป็นต้น โดยทุกๆกลุ่มสาระจะมีความยืดหยุ่นสูง  ถูกประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม

​นายบี (นามสมมติ) อายุ 19 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงอดีตที่เคยก้าวพลาดจนทำให้ต้องมาอยู่ในสถานพินิจว่า ตั้งแต่โตมาใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการพนัน เพราะพ่อเปิดบ่อน ส่วนตนเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ รวมทั้งติดสารเสพติดด้วย

เมื่อเงินขาดมือจึงใช้วิธีจี้ชิงทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ กระทั่งถูกตำรวจจับดำเนินคดี ส่วนครอบครัวเกิดปัญหาหนี้สินจากการพนันกว่า 2 ล้าน ต้องขายทรัพย์สินใช้หนี้จนหมด เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราพ่อลูกกลับตัว  เห็นพิษภัยจากการพนันและอบายมุข  ทำให้เลิกเล่นพนันเด็ดขาด ซึ่งการได้เข้ามาใช้ชีวิตที่บ้านกาญฯ ยิ่งทำให้รู้จักคำว่าวิชาชีวิต ได้สติคิดบวกมากขึ้น มองสังคมมองปัญหาต่างๆอย่างเข้าใจ  หากพ้นโทษก็อยากขอโอกาสจากสังคมให้คนที่ก้าวพลาดที่พร้อมจะปรับตัวเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ให้ได้ให้มีพื้นที่ยืนอย่างภาคภูมิใจในสังคม

​ขณะที่ น้องซี (นามสมมติ) อายุ 17 ปี กล่าวถึงปัญหาท้องไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ปัจจุบันตนได้ใช้ชีวิตร่วมกับแฟนและช่วยกันทำงานเลี้ยงลูก ในช่วงที่ท้องอยู่ได้ปรึกษากับมูลนิธิแพธทูเฮลท์  ได้รับคำปรึกษาที่ดีว่าแม้จะตั้งท้องก็สามารถไปเรียนตามปกติได้ ขอเพียงเข้มแข็งรับมือกับสังคมในโรงเรียนให้ได้ ทั้งนี้ขอฝากเป็นแง่คิดกับวัยรุ่นว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็อย่าทิ้งการเรียน ยังไงต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือให้สำเร็จ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า  เมื่อเกิดปัญหาไม่ควรเก็บเรื่องไว้คนเดียว  โดยส่วนตัวต้องการให้ทุกโรงเรียนมีครูหรือส่วนงานที่เป็นมิตรสามารถให้คำปรึกษาที่ดี  ไม่ซ้ำเติมในวันที่ผิดพลาด และร่วมกันหาทางออก มากกว่าพยายามปกปิดหรือขจัดคนที่ก้าวพลาดออกไปจากโรงเรียนหรือพื้นที่นั้น

s3 s2

s4 s5

s6 s9

s7 s8


You must be logged in to post a comment Login