- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ยิ่งกว่า “น่าละอาย”
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 21-28 กันยายน 2561)
นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยรายงานประจำปีด้านสิทธิมนุษยชนที่มี 52 หน้า ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560-31 พฤษภาคม 2561 ถึงปัญหาการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนที่ร่วมมือหรือเคยร่วมมือกับยูเอ็นในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมไปถึงผู้ติดต่อสื่อสารกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายให้ติดต่อสื่อสารผ่านกลไกดังกล่าว และญาติของเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและผู้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อในด้านกฎหมาย ปรากฏว่ามี 38 ประเทศที่กระทำต่อนักสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร ทรมาน จับกุมโดยพลการ ปฏิบัติอย่างโหดร้าย คุมขัง ติดตามควบคุมและประณามในที่สาธารณะ ว่าเป็นการกระทำที่ “น่าละอาย” ซึ่งโลกเป็นหนี้บุญคุณผู้กล้าหาญที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ให้ความร่วมมือในการมอบข้อมูลและมีส่วนร่วมกับยูเอ็น
โดยระบุว่า หลายประเทศมีแนวโน้มใช้เหตุผลด้านความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นไม่ให้ชุมชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงยูเอ็น ส่วนผู้หญิงที่ให้ความร่วมมือกับยูเอ็นก็ถูกคุกคามด้วยการข่มขืนและใส่ร้ายในโลกออนไลน์
38 ประเทศที่ถูกประณาม มี 29 ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีจากกรณีใหม่ๆ ที่พบ ได้แก่ บาห์เรน แคเมอรูน จีน โคลอมเบีย คิวบา คองโก จิบูตี อียิปต์ กัวเตมาลา กายอานา ฮอนดูรัส ฮังการี อินเดีย อิสราเอล คีร์กีซสถาน มัลดีฟส์ มาลี โมร็อกโก เมียนมา ฟิลิปปินส์ รัสเซีย รวันดา ซาอุดีอาระเบีย ซูดานใต้ ตรินิแดดและโตเบโก ตุรกี เติร์กเมนิสถาน ไทย และเวเนซุเอลา
ประเทศไทยปรากฏอยู่ในหมวดที่ 5 เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การถูกคุกคามหรือกลั่นแกล้งจากการร่วมมือกับยูเอ็นต่อตัวแทนของยูเอ็น และกลไกในพื้นที่สิทธิมนุษยชนในการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายแอนดรูว์ กิลมัวร์ รองเลขาธิการยูเอ็นด้านสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นรายงานฉบับนี้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council-UNHCR) เมื่อวันที่ 19 กันยายน โดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นในรายงานเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะพบว่ามีแนวโน้มที่รัฐใช้อำนาจทางการเมืองและข้อกฎหมายในการข่มขู่และปิดปากประชาสังคมมากขึ้น
ขู่ฆ่าพี่ชายบุญธรรม “ชัยภูมิ”
กรณีของไทยที่ถูกนำมาเปิดเผยคือกรณี นายไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของ “ชัยภูมิ ป่าแส” นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 โดยทหารกล่าวหาว่ามียาเสพติดในครอบครอง พยายามหลบหนีและต่อสู้ (ล่าสุดมีรายงานว่าคลิปบันทึกช่วงเกิดเหตุได้หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ)
นายไมตรีเข้าพบนายไมเคิล ฟรอสต์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 หลังการเข้าพบนายไมเคิลได้ 2 วัน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหมายค้นบ้านในหมู่บ้านกองผักปิ้งจำนวน 9 หลัง หนึ่งในนั้นเป็นบ้านของนายไมตรีเพื่อค้นหายาเสพติด โดยน้าสาวของชัยภูมิและน้องสะใภ้ของนายไมตรีถูกจับกุมและตั้งข้อหามียาเสพติดในครอบครอง ซึ่งทั้งสองไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงทนายความในขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวน ส่วนนายไมตรีมีชายนิรนามขี่จักรยานยนต์มาดูบ้านและเคยมีกระสุนปืนมาวางไว้หน้าบ้าน
ฟ้อง “ทนายจูน”
อีกกรณีคือ “ทนายจูน” น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญาจากความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามสั่งฟ้องฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา จากการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในการคัดค้านการฝากขัง 14 นักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ต่อศาลทหาร หลังชุมนุมต่อต้านรัฐบาล คสช. อย่างสันติช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2558
นอกจากนี้ทนายจูนยังปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถยนต์เพื่อยึดเอาโทรศัพท์มือถือของลูกความ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นและปราศจากเหตุอันสมควรที่จะค้นรถคืนวันที่ 26 ถึงเช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2558
กอ.รมน. ฟ้องนักสิทธิมนุษยชน
ในรายงานกล่าวถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้อง น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีจัดทำและเผยแพร่รายงาน “สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯในจังหวัดชายแดนใต้ปี 2557-2558” ที่ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากกองทุนอาสาสหประชาชาติเพื่อเหยื่อของการถูกซ้อมทรมาน โดยทั้งสามถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและให้ข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ต
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าเป็นทหารไปพบ น.ส.อัญชนาและเตือนไม่ให้โพสต์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนโซเชียลมีเดีย สำหรับคดีความนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ได้ถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆอัยการศาลจังหวัดปัตตานีไม่สั่งฟ้องกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปล่อยข้อมูลบนโลกออนไลน์เพื่อใส่ร้ายป้ายสีผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคน รวมถึงนางอังคณา นีละไพจิตร กสม. โดยกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการก่อความไม่สงบ ทั้งนี้ บล็อกออนไลน์ชื่อ “Conditions in South Thailand” เริ่มทำลายความน่าเชื่อถือการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.พรเพ็ญและ น.ส.อัญชนามาตั้งแต่ปี 2559 โดย น.ส.พรเพ็ญถูกขู่ฆ่าในโลกออนไลน์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับนายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี โดย กอ.รมน.ภาค 4 และ สภ.ปัตตานี ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทนายอิสมาแอหลังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์การถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี แต่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้นายอิสมาแอชนะคดี โดยระบุว่าถูกละเมิดภายใต้การควบคุมตัวของทหารจากข้อมูลทางการแพทย์ และสั่งให้กองทัพไทยเยียวยานายอิสมาแอ
เช่นเดียวกับการจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายกรณี เช่น กรณีนักศึกษากลุ่ม “ส่องโกงโครงการอุทยานราชภักดิ์” กรณีการดำเนินคดีในศาลทหารต่อสตรีผู้หนึ่งที่โพสต์ภาพตนเองถือขันน้ำพลาสติกสีแดง มีข้อความอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์จากอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และกรณีนางพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดานายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน เนื่องจากผู้ต้องหาโพสต์คำว่า “จ้า” ตอบข้อความสนทนาทางเฟซบุ๊คของนักกิจกรรมคนหนึ่งซึ่งโดนคดี 112
โลกจี้ยุติละเมิดสิทธิมนุษยชน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการถูกนานาชาติจับตามอง ก่อนหน้านี้ (30 กันยายน 2558) นายชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (APHR) เรียกร้องให้นานาชาติร่วมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก โดยให้เร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว เพราะการปกครองในระบอบทหารที่ยืดเยื้อเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวบนเวทีการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก (1 ตุลาคม 2558) ยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกำลังดำเนินการวางรากฐานให้ประเทศไทยเข้มแข็ง และยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 แต่นายชาร์ลส์ชี้ว่า รัฐบาลตั้งใจยืดเวลาการปกครองในระบอบทหารออกไปอย่างชัดเจน (ซึ่งล่าสุดรัฐบาลทหารก็เลื่อนการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562)
ในปี 2559 ไทยถูกวิจารณ์ในประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งสหประชาชาติ สหรัฐ และสหภาพยุโรป ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยึดมั่นพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน เลิกใช้ทหารในภารกิจบังคับใช้กฎหมาย ขอให้เปิดพื้นที่ทางการเมืองในการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลครั้งแล้วครั้งเล่ากรณีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างทางการเมือง
แม้กระทั่งนายบัน คี-มูน ครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ยังได้โทรศัพท์ถึง พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีกังวลต่อการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ต้าน“ประยุทธ์”นั่งประธานอาเซียน
ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงไม่แปลกที่ไทยจะถูกยูเอ็นระบุว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ข่มขู่คุกคามนักสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวที่สำคัญคือกรณี “จาการ์ตา โพสต์” (The Jakarta Post) สื่อของอินโดนีเซีย เผยแพร่รายงานข่าวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติสมาชิกอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดเตรียมเคลื่อนไหวกดดันชาติสมาชิกให้คัดค้านการเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยให้เหตุผลว่าประเทศยังไม่กลับคืนสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้อาเซียนถูกเพ่งเล็งและเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติ
รายงานของจาการ์ตา โพสต์ ยังระบุว่า นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน มีกำหนดต้องส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งประชาคมโลกก็จับตาการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 51 ที่สิงคโปร์ว่าจะมีท่าทีอย่างไร และจะเสนอให้ไทยชะลอการรับตำแหน่งประธานอาเซียนออกไปก่อนจนกว่าไทยจะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยเหมือนที่เคยทำกับเมียนมามาแล้ว แม้ที่ผ่านมากลุ่มอาเซียนจะถือหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันก็ตาม รวมถึงรัฐบาลทหารที่ออกมาตอบโต้ว่าบทความที่ตีพิมพ์ดังกล่าวเกิดมาจากคนบางกลุ่ม หรือมีการรับจ้างเขียนเพื่อโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม
รัฐบาลโต้ไม่เคยข่มขู่คุกคาม
ต่อกรณีล่าสุดที่ไทยถูกขึ้นบัญชีว่าข่มขู่คุกคามนักสิทธิมนุษยชนนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และยังให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนให้มีความปลอดภัย และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติงานและดำรงชีวิตได้ ทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแนวทางคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน การจัดทำคู่มือสำหรับนักสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ติดตามการคุ้มครองกรณีนักสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทุกสัปดาห์
นอกจากนี้ยังปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และบรรจุเรื่องของนักสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562-2566 รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งการประชุมยูเอ็น ทูตไทยประจำยูเอ็นจะไปร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานฉบับนี้และชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน ทั้งกล่าวถึงสื่อหลายสำนักที่พาดหัวข่าวทำนองว่า “ยูเอ็นขึ้นบัญชีดำ” ไทยนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นโดยตรง แต่เป็นเรื่องของ UNHCR ที่กล่าวถึงประเทศที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การขึ้นบัญชีดำแต่อย่างใด
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า รัฐบาลตระหนักถึงการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงถูกละเมิด จัดทำคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ไปจนถึงการติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางช่วยเหลือ และการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกฯอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนกรณีของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ที่ปรากฏในรายงานนั้น น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวว่า กรณีทั้งสองอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ามีการขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การปรึกษาทางกฎหมาย การช่วยเหลือทางคดี การประกันตัว หรือหากถูกข่มขู่ คุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัย ก็สามารถขอรับความคุ้มครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา
น่าละอาย.. แล้วไงต่อ?
รายงานจาก “ประชาไท” สัมภาษณ์ น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia – Asian Forum for Human Rights and Development) กล่าวถึงเบื้องหลังความสำคัญของรายงาน รวมถึงสิ่งที่ไทยอาจต้องเจอเมื่อมีรายงาน 52 หน้าของยูเอ็น แม้รัฐบาลไทยจะออกมาปฏิเสธเป็นพัลวัน ซึ่งสะท้อนอิทธิพลขององค์กรโลกบาลที่ไม่มีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจติดตัวจนบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นเสือกระดาษ แล้วอะไรคืออำนาจว่า การเอาคืน คุกคามนักปกป้องสิทธิฯ หรือคนทำงานด้านสิทธิฯ ที่ทำงานกับกลไกยูเอ็นเรื่องสิทธิมนุษยชน กลายเป็นที่กังวลของเลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบันตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากแนวโน้มด้านสถิติการถูกคุกคามที่สูงขึ้น ทำให้หวาดกลัวที่จะทำงานกับกลไกของยูเอ็น และเป็นการทำลายชื่อเสียงยูเอ็นไปในตัว ซึ่งนายอันโตนิโอเองมองว่าเป็นการโจมตียูเอ็น
ความกังวลนำไปสู่การปรึกษากับหลายๆองค์กร ทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลไกผู้ตรวจการพิเศษและกลไกสนธิสัญญา ซึ่งสุดท้ายนายอันโตนิโอประกาศตั้งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ นำโดยนายแอนดรูว์ กิลมัวร์ ตั้งใจจะสร้างระบบการป้องกันหรือพูดถึงการเอาคืน ข่มขู่คุกคาม ที่แต่เดิมกระจัดกระจายอยู่ตามกลไกต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น โดยทุกหน่วยงานของยูเอ็นต้องให้ความสนใจโดยมีนายแอนดรูว์เป็นศูนย์กลาง
รายงานที่ออกมาเป็นการออกชื่อประเทศเพื่อทำให้อับอายเท่านั้น (Naming and Shaming) ซึ่งไม่มีผลในทางกฎหมาย และไทยไม่มีข้อบังคับที่ต้องทำตามหรือชี้แจงอะไร แต่การไม่สนใจรายงานอาจนำมาซึ่งการสูญเสียภาพลักษณ์ในเวทีโลก ซึ่งผลกระทบอาจลามทุ่งไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะจะมีการนำเรื่องนี้ไปประชุมในระดับสูง ที่รวมถึงรัฐ ประชาสังคม สถานทูต หน่วยงานยูเอ็นต่างๆ แปลว่ารัฐไทยจะต้องตอบคำถามเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ถ้าไม่ตอบก็จะมีผลในทางหน้าตา ที่เป็นรูปธรรมคือสามารถถูกนำมาใช้ในการรณรงค์กับภาคประชาสังคมได้ โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจมีอิทธิพลกับไทยในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เช่น สหภาพยุโรปที่มีอาณัติเฉพาะที่จะต้องทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิฯไม่ว่าในประเทศไหน
“รายงานตัวนี้สามารถถูกนำไปอ้างอิงว่าคุณไม่ได้ทำตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับองค์กรระหว่างประเทศ และส่วนกลไกสนธิสัญญา โดยเฉพาะกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ไทยเพิ่งถูกทบทวนไปเมื่อปี 2560 ก็มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นเรื่องนี้”
“อ๋อย” ถาม ใครทำลายภาพลักษณ์ประเทศ?
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang (17 กันยายน) ว่า “ใครกันแน่ทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทย” โดยระบุว่า ตามที่ คสช. ออกมาโต้ว่ารายงานประจำปีของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งจะใช้ประกอบการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติต่อไปข้อมูลไม่รอบด้าน เพราะที่ผ่านมา คสช. มีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างดีมาตลอด ไม่ทราบว่าเอาอะไรมาพูด
สาเหตุที่เขาจัดประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประเทศน่าละอายนั้น เพราะเขาได้ข้อมูลว่ามีการลงโทษบุคคลที่ร่วมมือกับสหประชาชาติ และพบว่ารัฐบาลในประเทศเหล่านั้นมักตั้งข้อหานักสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหาก่อการร้าย หรือตำหนิว่าไปร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศหรือทำลายชื่อเสียงของประเทศ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติคนนี้ยังบอกด้วยว่ากรณีที่อยู่ในรายงานเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง หมายความว่ายังมีเรื่องอีกมากที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นอยู่ และยังบอกด้วยว่าพบการใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองการปกครองข่มขู่หรือปิดปากภาคประชาสังคมหรือพลเรือนมากขึ้นด้วย
เรื่องที่เขาค้นพบ ฟังแล้วใครๆก็ต้องบอกว่าคุ้นๆ และเชื่อได้ว่าข้อมูลที่เขาได้เกี่ยวกับประเทศไทยคงไม่คลาดเคลื่อน ถ้าจะมีปัญหาก็อาจจะเป็นว่าเขายังค้นพบหรือได้รับรายงานปัญหาไม่มากเท่ากับที่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้ประสบกับการข่มขู่คุกคามอาจจะไม่กล้ารายงานก็ได้
ไม่ต้องดูอะไรมาก การแถลงข่าวเกี่ยวกับรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดขึ้นในเมืองไทยถูกห้ามไปกี่ครั้งแล้ว และการที่ คสช. ออกมาตำหนิผู้ที่พูดถึงรายงานฉบับนี้ว่ามีบางฝ่ายไปขยายผลทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ ก็เท่ากับตอกย้ำว่าข้อมูลที่เขาพบเป็นเรื่องจริงและพร้อมที่จะเกิดมากขึ้นอยู่เสมอ
การพูดว่า คสช. และรัฐบาลนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศน่าละอายไม่ใช่เรื่องใส่ร้ายขยายผล แต่เป็นการช่วยให้ คสช. และรัฐบาลรู้สึกสำนึกผิดเสียบ้างเพื่อรีบปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะถึงการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้าเขาได้ข้อมูลว่า คสช. เที่ยวออกมาตำหนิหรือปรามผู้ที่วิจารณ์ก็จะยิ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นผลเสียต่อประเทศไทยมากขึ้น
“ทักษิณ”โพสต์ 12 ปีรัฐประหาร
อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพพร้อมข้อความ (18 กันยายน) เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า
“อยากให้ทุกท่านลองวางใจให้เป็นกลาง แล้วหลับตานึกว่าจากวันนั้นถึงวันนี้คิดว่าประเทศไทยเจริญขึ้นแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบราชการ บริการประชาชน ยาเสพติด การสาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจของท่านเอง รวมถึงความสุขของท่านและคนรอบตัวท่าน สุดท้ายคือศักดิ์ศรีประเทศและความภูมิใจของท่าน
เรามีการปฏิวัติ 2 ครั้งใน 12 ปี ปฏิวัตินายกฯที่เป็นพี่น้องกันและได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แน่นอนมีคนได้ดีและร่ำรวยจากการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้ง แต่คนที่แย่ลงในหลายมิติมีมากกว่า และไม่สำคัญเท่ากับประเทศไทยที่เรารักถูกมองแย่ลงในสายตาคนทั้งโลก เราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันหน้ามาปรึกษาหารือกันเพื่อบ้านเมือง หรือว่าเราจะตะแบงฟาดฟันกันฝ่ายเดียว ทั้งๆที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นที่ต่างกัน ชอบไม่เหมือนกัน บางคนต้องถึงกับชีวิต บางคนเจ็บป่วย บางคนติดคุก บางคนถูกกลั่นแกล้งทางธุรกิจ ทางอาชีพ และตำแหน่งหน้าที่ราชการ จนอยากจะตะโกนแรงๆว่าเราคนไทยด้วยกันไม่ใช่หรือ
วันนี้เราช้ำกันพอแล้วหรือยัง ประเทศช้ำพอแล้วหรือยัง รอยยิ้มของไทยที่เรียกว่ายิ้มสยามหายไปไหนหมด แล้วเราจะอยู่กันแบบนี้ ในขณะที่โลกเขากำลังเอาสมองไปคิดค้นสิ่งใหม่ นำความเจริญให้ประเทศเขา แต่เรากำลังล้าหลังในทุกๆด้าน ถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่เป็นกบน้อยในกะลา เราจะรู้ว่าเราต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ เทคโนโลยีที่ทั้งโลกกำลังใช้ประโยชน์มันกำลังจะไล่ล่าประเทศที่ปรับตัวไม่ทันและไม่คิดปรับตัว
“ในโอกาสครบรอบ 12 ปีนี้ ผมขอเปิดอกว่าผมเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นผมต้องสูญเสียความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวผม ที่พ่อแม่ลูกเราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมาตลอด ต้องมาพรากจากกัน ผมเสียใจที่คนที่รักผม สนับสนุนผมถูกรังแก แต่คงไม่เสียใจเท่าประเทศที่ผมรัก แผ่นดินที่ผมเกิดและเติบโตมา ซึ่งครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ต้องมาตกอยู่ในสภาวะแบบนี้
ถึงแม้ว่าผมมีอายุที่กำลังก้าวเข้าปีที่ 70 แล้ว แต่ผมเสียดายประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 12 ปีที่ออกมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ 12 ปีแล้วยังไม่ลืมผม ยังส่งผ่านความรักความปรารถนาดีมาถึงกันเสมอมา สุดท้ายนี้ผมขออโหสิกรรมให้กับทุกคนที่ให้ร้ายกลั่นแกล้งผมมา ณ ที่นี้ด้วย”
สิทธิมนุษยชนแบบตู่ๆ
ประเด็นการข่มขู่คุกคามสิทธิมนุษยชนไม่ใช่การตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติให้ประชาคมโลกเห็นและยอมรับ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน (26 มกราคม 2559) ว่า
“ไอ้เรื่องสิทธิมนุษยชนนี่มันพูดกันหลายครั้งแล้วนะ ว่าคุณเคยพูดให้เราไหมล่ะ วันนี้ที่เขารู้มา หนึ่ง จากคนที่มันบิดเบือน สอง คือจากสื่อที่เขาเขียนไปด้วยความไม่เจตนา รู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง อะไรบ้าง ก็รู้อยู่ว่าการดำเนินการทางกฎหมายวันนี้กับใคร กับผู้กระทำความผิดกฎหมายใช่ไหม อย่าไปยึดโยงสิ ถ้าเขากระทำความผิดอยู่แล้วก็คือความผิด กฎหมายก็คือกฎหมายไง ไม่เช่นนั้นก็บังคับใช้กฎหมายกับใครไม่ได้ แล้วทำไง”
การมองประเด็นสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างจากประชาคมโลกก็เหมือนประเด็นประชาธิปไตยที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะสร้าง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ในสังคมไทย (16 มกราคม 2561) โดยยืนยันหลายกรรมหลายวาระว่าประชาธิปไตยที่มีคำว่า “ไทยนิยม” ไม่ได้ละทิ้งหลักการสำคัญ “ประชาธิปไตยสากล” ที่การเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล “ต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์อันเดียวกันที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นี่คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของผม”
หากย้อนตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นายเกษียร เตชะพีระ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยระบุถึง “รัฐประหารกับประชาธิปไตย” ไว้ว่า มีรัฐประหารอย่างน้อย 6 ครั้ง จาก 13 ครั้ง ที่คณะรัฐประหารอ้างว่าเพื่อกอบกู้-ส่งเสริมระบอบ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
ประชาธิปไตยของคนดี
“ประชาธิปไตยไทยนิยม” เป็นประชาธิปไตยของ “คนดี” ที่ถูกนิยมว่าต้องได้คนดีมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์พบประชาชนในวาระต่างๆก็จะย้ำว่าเลือกตั้งต้องเลือก “คนดี” แบบที่รัฐบาลทหารออกแบบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เลยไว้ว่า
“วันนี้เรากำลังก่อสร้างปราสาท สร้างบ้าน สร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ไม่ให้ใครมาทำลาย…ช่วยเติมอิฐ ปูน ทรายเข้าไป แล้วเชื่อมด้วยน้ำใจของพวกเรา ผสมไปด้วยความทุ่มเทของทุกคน จะทำให้ปราสาทหลังนั้น บ้านเมืองของเราเข้มแข็ง ไม่ให้พังลง ไม่ให้ใครมาเคาะฐานรากที่เป็นแกนหลักของประเทศไทย”
ดังนั้น การที่หลายพรรคการเมืองประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังการเลือกตั้งจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ทหารยังเชื่อว่ากองทัพแยกจากการเมืองไม่ได้และประเทศคงต้องเดินไปในทิศทาง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่รัฐบาล คสช. วางไว้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าเข้ามาอยู่เพื่อทำงาน ไม่ได้จะสืบทอดอำนาจ
“ประเทศนี้ถ้าไม่มีพลเรือน ตำรวจ ทหารก็อยู่ไม่ได้…เราไม่ได้มีทหารไว้ให้ผมปฏิวัติ ผมเข้ามาเพราะเหตุผลความจำเป็น เป็นสถานการณ์ที่ต้องเข้ามา”
ยิ่งกว่า “น่าละอาย” คือหน้าอะไร?
วันนี้สังคมไทยนอกจากมี “ทั่นผู้นำ” ที่ไม่เคยรู้สึกท้อแท้ ไม่เคยสนใจว่าใครจะจัดอันดับให้ไทยติดอันดับประเทศที่ “น่าละอาย” แล้ว สังคมไทยยังมี “ทั่นผู้นำ” ที่ภูมิใจกับการทำรัฐประหาร ไม่แยแสประชาคมโลกที่ประณามว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จการ” ที่กำลังสถาปนา “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ภายใต้นิยามใหม่ว่าเป็นประชาธิปไตยของ “คนดี” ที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกอีกด้วย
“ทั่นผู้นำ” ย้ำกับประชาชนว่า “อำนาจอยู่ที่พวกเราทุกคน อย่าเอาอำนาจไปให้กับคนไม่ดี ให้ใครผมไม่รู้เหมือนกัน ไปดูกันเอง”
เมื่อมองไปที่ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในวันนี้กลับพบแต่ผู้คนที่ล้วนแต่อ้างตัวว่าเป็น “คนดี” เหนือใคร แต่ไม่ยอมให้แตะต้อง ไม่ยอมให้ตรวจสอบ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองและพวกพ้องตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร และออกกฎหมายต่างๆให้ไม่ต้องรับผิดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการกำหนดกติกาของบ้านเมืองเอง โดยการตั้งพวกพ้องเป็นกรรมการเสียเอง ยังไม่นับรวมการแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรงเพื่อปูฐานอำนาจต่อไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แม้จะมีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากหรือได้เป็นรัฐบาลก็แทบจะกระดิกตัวไม่ได้ หรือแม้แต่จะทำนโยบายใหม่ๆตามที่หาเสียงก็ยังทำไม่ได้
ถึงวันนี้จึงแทบไม่รู้ว่าอนาคตประเทศไทยจะต้องติดกับดักของ “ระบอบคนดี” ที่เราไม่ได้เลือกไปอีกนานแค่ไหน?
คำพูดที่ว่า “อำนาจอยู่ที่พวกเราทุกคน” ก็ไม่แน่ใจว่า “พวกเรา” นั้นคือ “พวกไหน” กันแน่?
การที่ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ “น่าละอาย” จึงเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ระคายผิว “คนดี” คนใดทั้งสิ้น
ยิ่งกว่า “น่าละอาย” นั้นคือหน้าอะไร? ใครรู้ช่วยตอบที!!??
You must be logged in to post a comment Login