วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ทำตามสัญญา?

On September 25, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินบนถนนการเมืองที่ชัดเจนของ “บิ๊กตู่” ส่งผลกระทบถึงอนาคตของกลุ่มสามมิตรที่ออกตัวแรงจนเริ่มออกอาการแผ่วในช่วงหลัง จนมีคนมองว่าเป็นเพราะยังมีแต่คำสัญญาที่ว่างเปล่า ให้เดินล่วงหน้าไปก่อนรอการตัดสินใจขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม อาจได้เห็นคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจนในการประชุมพรรคพลังประชารัฐวันที่ 29 กันยายนนี้ว่าอนาคตของกลุ่มสามมิตรจะสดใสอย่างที่คาดหวังไว้ หรือจะล้มเหลวเป็นเพียงพรรคต่ำสิบซ้ำรอยพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่มีเส้นทางเดินแบบเดียวกันครั้งหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจไปที่การแย่งชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่หลายฝ่ายให้ความสนใจไปที่ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อนำพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะบุคลิกลักษณะของผู้นำพรรคจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าพรรคจะเดินหมากการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งอย่างไร

แต่ความน่าสนใจที่ไม่น้อยไปกว่ากันน่าจะเป็นอนาคตของกลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า “สามมิตร” ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีอนาคตอย่างไร จะสดใสอย่างที่ตั้งความหวังกันไว้หรือไม่

จากกระแสข่าวหรือแผนงานเดิมก่อนหน้านี้ที่ว่าเดินสายดูดอดีต ส.ส. เข้าร่วมทีมในนามกลุ่มเพื่อไม่ให้ติดเงื่อนไขห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวตามประกาศคำสั่งของ คสช. ก่อนที่จะนำไพร่พลที่กวาดต้อนมาได้ทั้งหมดไปร่วมเปิดตัวในนามพรรคพลังประชารัฐที่มีการจัดตั้งรองรับก่อนหน้านี้แล้ว

นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆจากกลุ่มสามมิตรหรือกลุ่มรัฐมนตรีที่มีข่าวว่าจะนำพรรคพลังประชารัฐลงสนามเลือกตั้ง

การประชุมพรรคพลังประชารัฐเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ที่เดิมกำหนดไว้เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา จึงต้องเลื่อนออกไป โดยกำหนดประชุมใหม่ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ (29 ก.ย.) โดยนายชวนยืนยันชัดเจนว่าหากกลุ่มสามมิตรและกลุ่มรัฐมนตรียังไม่มีความชัดเจนก็จะไม่เลื่อนประชุมพรรคเพื่อรออีกต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจคือ อะไรที่ทำให้ยังไม่เกิดความชัดเจน

บทวิเคราะห์ของนายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เขียนลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวถือว่ามีเหตุผลที่น่าสนใจ

นายไทกรให้หัวเรื่องว่า หรือสามมิตรจะซ้ำรอยมัชฌิมา..? พร้อมย้อนความในอดีตว่า หลังการรัฐประหารปี 2549 ของ คมช. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รวบรวมอดีต ส.ส. ได้มากกว่า 70 คน (มากกว่ายุคสามมิตร) และได้พูดคุยกับผู้นำเผด็จการในยุคนั้นจนมั่นใจว่าแนวทางพรรคมัชฌิมาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ จนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาร่วมในช่วงแรกแล้วการเบี้ยวก็เกิดขึ้น ทำให้พรรคมัชฌิมาฯล้มเหลว ได้ ส.ส. ต่ำสิบ

หลังการรัฐประหารปี 2557 ของ คสช. นายสมศักดิ์ถูกหว่านล้อมจากหลายฝ่ายและจากคนที่เคยเบี้ยวกันมาก่อนหน้านี้ขอให้รวบรวมอดีต ส.ส. อีกครั้ง และครั้งนี้อาจให้สัญญาด้วยคำหนักแน่น แต่ท่านเชื่อเถอะ…บทสรุปสุดท้ายก็เหมือนเดิม

ถึงแม้ฝ่าย ดร. (คนชอบเบี้ยว) จะยืนยันว่าจะส่งมือซ้ายมือขวาและเด็กเดินตามมาเป็นผู้นำพรรคเพื่อให้มั่นใจ แต่ประสบการณ์ของนายสมศักดิ์กว่า 35 ปีในวงการการเมือง จะดูไม่ออกเลยหรือว่า..อะไรจริง อะไรปลอม ชื่อคนที่บอกว่าจะส่งมานำพรรคในทางการเมือง “หาเบอร์กระดูก” ไม่เจอ

เวลานายสมศักดิ์คุยกับคนเหล่านี้ไม่รู้สึกสะกิดใจบ้างหรือ..? ทำไมพวกเขาไม่ค่อยสบตา ทำไมพวกเขาตอบคำถามด้วยประโยคซ้ำๆ “รออีกหน่อยนะ..รอผู้ใหญ่ตัดสินใจ…” ให้เดินไปก่อน ผู้ใหญ่กำลังเตรียมอยู่ ขณะนี้พี่น้องและเพื่อน ส.ส. ที่ตัดสินใจไปอยู่กับท่าน ตอนนี้พวกเขาเริ่มบ่นกันเสียงดังขึ้น “มีแต่คำสัญญาที่ว่างเปล่า..”

นายไทกรมองว่ากลุ่มคนที่ดีลกับนายสมศักดิ์เป็นแค่นักฉกฉวยโอกาสทางการเมือง เป็นประเภทได้เอา เสียไม่เอา

คนพวกนี้เคยเบี้ยวกันมาก่อน เมื่อถึงเวลาเอาจริงคนพวกนี้ก็จะสะบัดก้นหนี ปิดบ้าน! ปิดค่าย! ไม่ยอมให้ใครเข้าพบ ไม่รู้ว่านายสมศักดิ์วางหมากไว้กี่ชั้น และจะเกิดจุดหักเหเมื่อไร แต่ขอให้โชคดีกับคำสัญญาของเผด็จการ

บทวิเคราะห์ของนายไทกรถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อยกอดีตของพรรคมัชฌิมาฯมาฉายภาพเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน

จากคำให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทางการเมืองล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ว่า

“ผมจะติดตามรับฟังจากกลุ่มการเมือง นักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆในเวลานี้ ผมสนใจงานการเมืองเพราะรักประเทศชาติเช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะว่าอย่างไร”

กลุ่มสามมิตรก็น่าจะยังพอมีความหวังว่าจะไม่น้ำตาเช็ดหัวเข่าซ้ำรอยพรรคมัชฌิมาธิปไตย


You must be logged in to post a comment Login