วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรียนรู้รถไฟฟ้า Light Rail สิงคโปร์

On September 26, 2018

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ “เรียนรู้รถไฟฟ้า Light Rail สิงคโปร์”
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้ัสุข 28 กันยายน-5 ตุลาคม 2561)

สิงคโปร์มีระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานมาช้านานแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พึงรู้ก็คือ เขามีระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรมีบ้างเพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญยิ่งๆขึ้น เรามาเอาเยี่ยงกา (บางอย่าง) แต่ใช่ต้องเอาอย่างกา (ไปซะทุกอย่าง) ลองมาดูกันครับ

อันที่จริงระบบรถไฟฟ้า (Mass Rapid Transit) ของสิงคโปร์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ก่อนไทยถึง 12 ปีเลยทีเดียว โดยของไทยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการถึง 3.031 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 119 สถานี รวมระยะทาง 199.6 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็กๆของสิงคโปร์เพียงประมาณ 722 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

Light Rail 3

ในปี 2555 หรือ 6 ปีก่อน ระบบรถไฟฟ้าของสิงคโปร์มีผู้ใช้บริการ 2.406 ล้านคน ประกอบด้วยสถานีถึง 102 สถานี รวมระยะทาง 148.9 กิโลเมตร บนพื้นที่เกาะเล็กๆของสิงคโปร์เพียงประมาณ 625 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้น โดยกล่าวได้ว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสิงคโปร์สามารถบริการประชาชนเพิ่มขึ้น 26% ของจำนวนผู้ใช้บริการ จำนวนสถานีเพิ่มขึ้น 17% (เพิ่ม 17 สถานี) และระยะทางของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 34% หรือเพิ่มขึ้น 51 กิโลเมตร แสดงว่ารถไฟฟ้าในสิงคโปร์ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาขึ้นโดยตลอด

นอกจากระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไปแล้ว สิ่งที่สิงคโปร์มีก็คือ Light Rail Transit (Light Rapid Transit) หรือรถไฟฟ้ามวลเบา ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2542 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มมีรถไฟฟ้า โดยถือเป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้ามาตรฐาน (MRT) เชื่อมในท้องที่ 3 แห่งที่มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ได้แก่ พื้นที่ Bukit Panjang ทางตะวันตก พื้นที่ Sengkang และ Punggol ทางตะวันตกของเกาะสิงคโปร์

ลักษณะของรถไฟฟ้ามวลเบาของเขาก็คล้ายกับระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างอาคารท่าอากาศยานของท่าอากาศยานใหญ่ๆทั่วโลก ซึ่งดอนเมืองเราก็เคยมีใช้เช่นกัน โดยมากเป็นรถไฟฟ้าตู้เดียวหรือไม่กี่ตู้ เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารมากมายเช่นรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไป สิงคโปร์พัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลเบาขึ้นมาเพื่อเชื่อมชุมชนใกล้เคียงกับระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานหลักที่มีอยู่ และขณะนี้มี 3 สาย จำนวน 42 สถานี รวมระยะทาง 28.8 กิโลเมตร มีผู้ใช้บริการวันละ 160,000 คนโดยรวม

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพื้นที่หนึ่งคือ Punggol ซึ่งถือเป็นเมืองใหม่ที่มีระบบรถไฟฟ้ามวลเบาวิ่ง พื้นที่นี้มีขนาดประมาณ 9.57 ตารางกิโลเมตร 5,981 ไร่เท่านั้น แต่บริเวณที่อยู่อาศัยมีขนาดเพียงประมาณ 2,000 ไร่ มีที่อยู่อาศัย 16,000 หน่วย คาดว่าจะสามารถมีประชากรราว 60,000 คน โดยคิดค่าโดยสารระหว่าง 20-25 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากสำหรับคนสิงคโปร์ที่มีรายได้มากกว่าคนไทยถึงประมาณ 6 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับค่าโดยสารประมาณ 4-6 บาทถ้าเป็นในกรณีประเทศไทย (ถูกกว่าค่ารถประจำทางหรือรถสองแถวเสียอีก)

Light Rail  1Light Rail 2

ในประเทศไทยของเราก็สามารถ “เอาเยี่ยงกา” คือเอาอย่างประเทศสิงคโปร์ได้เช่นกัน ลองนึกถึงพื้นที่ต่อไปนี้ซึ่งสามารถทำ LRT ได้ ประกอบด้วย

1.ถนนพญาไท บรรทัดทอง อังรีดูนังต์
2.ถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ตรอกจันทน์ เซ็นต์หลุยส์
3.ถนนทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 49 (ซอยกลาง) เอกมัย
4.ถนนอ่อนนุชและบริเวณใกล้เคียง
5.ถนนสรรพาวุธและบริเวณใกล้เคียง
6.ถนนเทียมร่วมมิตร
7.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชานเมือง ประชาสงเคราะห์
8.ถนนอินทามระ
9.ถนนรัชดาภิเษก พหลโยธิน
10.ถนนประชาชื่น ประชาราษฎร์สาย 1
11.ถนนประดิพัทธ์ อารีย์สัมพันธ์
12.ถนนพระราม 1 พระราม 6 เพชรบุรี
13.ถนนสี่พระยา เจริญกรุง สุรวงศ์
14.ถนนเจริญนคร สมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น
ถ้ามีการก่อสร้าง LRT เกิดขึ้นจริง อาจให้ภาคเอกชนในประเทศ หรืออาศัยนักลงทุนต่างชาติที่เราต้องร่างข้อกฎหมายให้รัดกุม จะได้ไม่ “เสียค่าโง่” อีก ก็จะทำให้ประเทศชาติและอสังหาริมทรัพย์ไทยโตเร็วขึ้นและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ขอให้สำเร็จก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตกด้วยเถอะ!

 

 


You must be logged in to post a comment Login