- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ใครๆก็.. สนใจการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 กันยายน – 5 ตุลาคม 2561)
“ผมสนใจการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม รักเหมือนกับที่คนไทยทุกคนรัก”
การเมืองคึกคักขึ้นมาทันทีหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอ่ยปาก (24 กันยายน) ว่า “สนใจการเมือง” แม้จะยังแทงกั๊กไม่ได้พูดเต็มปากว่าจะเล่นการเมืองหรือจะสนับสนุนใคร ทั้งยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. “ออกเมื่อไรผมตัดสินใจเอง ออกทำไม ออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้”
ที่น่าสนใจคือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนไปทันทีหลังประกาศว่าสนใจการเมือง โดยให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุม คสช. และประชุม ครม. (25 กันยายน) ว่า ที่ประชุม คสช. หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศและการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติได้รับการสืบต่อในการทำงานวันข้างหน้าต่อไปได้ เพราะในวันข้างหน้าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องพยายามทำในสิ่งที่ทำวันนี้ให้สามารถทำต่อเนื่องได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปสืบทอดอำนาจอะไร
“ผมก็จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นเดี๋ยวผมตายก่อน ผมเครียดมากๆผมก็ตายเอง เพราะก็ไม่มีใครตายสักคน เพราะทุกคนมารุมผมอยู่คนเดียว แต่ผมก็รับได้”
โพลเชลียร์ “ตู่” ยังเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดใจว่าสนใจการเมือง “ช่อง One 31” ได้ทำโพลจากผู้ชมโหวตว่าจะเลือกหรือไม่ “สมมุติว่า ‘บิ๊กตู่’ ลงเล่นการเมือง” ซึ่งปิดโหวตไปช่วงเวลา 13.20 น. วันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้โหวตทั้งสิ้นประมาณ 350,000 ราย โดยเลือก “บิ๊กตู่” 12% และไม่เลือกสูงถึง 88%
ไม่ต่างกับโพลของเว็บไซต์ข่าวสดและเนชั่นทีวี ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เล่นการเมืองประมาณ 12% แต่ไม่สนับสนุนกว่า 80%
ผลโหวตของสื่อ 3 ค่ายตรงข้ามกับผลสำรวจนิด้าโพล (23 กันยายน) หัวข้อ “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 29.66 อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 17.51 อันดับ 3 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ร้อยละ 13.83 อันดับ 4 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 10.71 และอันดับ 5 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) ร้อยละ 5.28
ที่น่าสังเกตคือความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์แม้จะเป็นอันดับ 1 มาตลอด แต่คะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการสำรวจก่อนหน้านี้ (22 กรกฎาคม) พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 31.26 โพลเดือนพฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 32.24
ขณะที่ความนิยมของนายธนาธรพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเดือนพฤษภาคมได้ร้อยละ 7.48 เดือนกรกฎาคมเพิ่มเป็นร้อยละ 13.83 ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยยังมาเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ และอันดับ 4 พรรคอนาคตใหม่
ปลุกผีคอมมิวนิสต์ให้อนาคตใหม่
ล่าสุดมีการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” กับพรรคอนาคตใหม่ โดยนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว (23 กันยายน) ระบุว่า มีคนมาเล่าเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ว่า 1.กำลังพิจารณาประกาศนโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ 2.มีข่าวว่าสหายธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้าเป็นกุนซือพรรคแล้ว จึงเป็นพรรคที่มีหลักทฤษฎี “ว่าด้วยการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน” ที่ชัดเจนที่สุด
3.พรรคอนาคตใหม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการมวลชนขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นจังหวัดเล็กๆเพียง 3 จังหวัดซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ 4.มีการลงพื้นที่ในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือความพยายามเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี จำนวนเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งมีพลังถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งโพลของสถาบันการศึกษา 19 สถาบัน ออกผลที่น่าตื่นตะลึงไม่น้อย และ 5.เตรียมแนวรบโซเชียลมีเดียและแนวรบสื่อครั้งใหญ่เพื่อการรณรงค์เลือกตั้ง
วนอยู่ในกะลา “ผีคอมมิวนิสต์”
หลังการโพสต์ของนายไพศาลได้เกิดปฏิกิริยาในโซเชียลมีเดียมากมาย เพราะเหมือนการ “วนอยู่ในกะลา” ย้อนกลับไปยุคเผด็จการอภิสิทธิ์ชนในอดีต ทั้งที่นายไพศาลเองก็มีข่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยใกล้ชิดกับ พคท. รวมถึงข้อต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับรัฐบาลไทยหลายรัฐบาล
นายชำนาญ จันทร์เรือง ว่าที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการโพสต์ของนายไพศาลกรณีสหายธงเป็นกุนซือพรรคอนาคตใหม่ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีว่าที่กรรมการบริหารพรรคหรือทีมงานคนใดในพรรคอนาคตใหม่ที่เคยเข้าร่วม พคท.
“คุณไพศาลไม่น่าใช้ประเด็นนี้มาโจมตีคนอื่น ทั้งที่ตัวเองเคยมีแนวคิดแบบสังคมนิยมและเคยทำงานด้านนี้ ผมมองว่าเป็นการเมืองน้ำเน่า เป็นการขุดผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา นี่มันสมัยไหนแล้ว”
นายชำนาญกล่าวถึงกรณีหากมีคนที่เคยเข้าร่วม พคท. หรือเคยฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยมต้องการร่วมพรรคอนาคตใหม่จะยินดีต้อนรับหรือไม่ว่า พรรคมีกรอบนโยบายใหญ่ๆที่เรียกว่า 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับโครงสร้าง และเปิดโอกาส รวมถึงให้ความสำคัญกับหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ มองเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก ดังนั้น ใครก็ตามที่ยอมรับในแนวทางนี้ก็ยินดีต้อนรับ ซึ่งพรรคจะทำไพรมารีสมาชิกแล้วยังจะทำไพรมารีนโยบายด้วย
ขณะที่นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนอาวุโส ได้เขียนกลอนการปลุกผีคอมมิวนิสต์ (25 กันยายน) หัวข้อ “โห่คอมมิวนิสต์” ว่า
“คอมมิวนิสต์ปลุกผีคอมมิวนิสต์ มุ่งปังปลิดฝ่ายตรงข้ามดูงามหน้า สงครามสมัยไร้กฎกติกา ถ่มน้ำลายรดฟ้าใส่หน้าตัว”
สาวไส้รัฐประหารบนเวทีโลก
การสมคบคิดเพื่อล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” รวมถึงพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ด้วยการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีบางคนที่สำนึกผิดและออกมาขอโทษสังคม อย่างเช่นนายนคร มาฉิม อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด นายเอกชัย อิสระทะ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ อดีตแกนนำพันธมิตรภาคใต้และผู้ชุมนุม กปปส. ออกแถลงการณ์ขอโทษการเข้าร่วมชุมนุม กปปส. ที่มีส่วนเป็นต้นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร หลังจากถูกตั้งคำถามการเข้าร่วมกับพรรคสามัญชนและได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค “ผมขอโทษต่อพี่น้องที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนั้นนำพาไปสู่การรัฐประหาร”
ขณะที่นายธนาธรกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “หัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตยไทย” บนเวที Concordia Summit การประชุมคู่ขนานของการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีดังกล่าวมีนักการเมืองและบุคคลสำคัญระดับโลกจำนวนมากได้รับเชิญให้ขึ้นพูด เช่น อิวังกา ทรัมป์ บุตรสาวและที่ปรึกษาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายจอห์น ฮิคเกนลูเปอร์ ผู้ว่าการมลรัฐโคโลราโด ซึ่งกำลังจะลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 รวมถึงเจ้าหญิงแมรี มกุฏราชกุมารีเดนมาร์ก
นายธนาธรอธิบายถึงเหตุผลที่ไทยเป็นประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในโลกว่า เกิดจากความพยายามที่จะแบ่งแยกและปกครอง สร้างความแตกแยกและเกลียดชังระหว่างประชาชนโดยใช้วาทะแห่งความเกลียดชัง การเมืองแห่งความกลัวและข่าวปลอม เพื่อให้คนไทยเข้าใจว่าความขัดแย้งเกิดจากความแตกแยกทางการเมือง เชื่อว่าประชาธิปไตยคือปัญหา และทหารคือวีรบุรุษที่เข้ามากอบกู้ประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงการรัฐประหารซ้ำซากเกิดจากกลุ่มคนจำนวนน้อยนิดที่ผูกขาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบอบเผด็จการทหาร
นายธนาธรกล่าวว่า ท่ามกลางการเมืองที่ไม่มีทางออกนี้ พรรคอนาคตใหม่ถือกำเนิดขึ้น เป็นที่รวมของคนหลากหลาย ตั้งแต่ผู้นำแรงงาน องค์กรเยาวชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ ข้าราชการ เพื่อสร้างการเมืองใหม่ที่สร้างสรรค์ สดใส และมีความหวังอีกครั้งในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากระบอบเผด็จการใช้อำนาจทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างอนาคตใหม่ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะผ่านสื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าตนเองก็เพิ่งถูกตั้งข้อหาจากการวิพากษ์รัฐบาล คสช. ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ แต่การทำเช่นนั้นก็ไม่มีผล เพราะไม่มีใครในพรรคย่อท้อหรือเกรงกลัว
20 ปีอำนาจนิยม
ขณะที่การเสวนาทิศทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “การเลือกตั้งนิยม ประชานิยม และอำนาจนิยม” กับกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองไทย น.ส.จันทรานุช มหากาญจนะ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐยังมีความพยายามรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ไม่ให้ความสำคัญและไม่ยอมกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม มองว่ารัฐบาลอำนาจนิยมแม้จะมีข้อดีบ้างแต่ก็มีความอันตรายอย่างมากต่อประเทศ เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียว ไร้ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลจากคนในสังคม และแม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอาจไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ก็เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยยังดีกว่าระบอบอำนาจนิยม
นายดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ระบุว่า จากการศึกษาพบว่าคนในเมืองมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมือง เห็นได้จากการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของคนในกรุงเทพฯที่รั้งท้ายของประเทศ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับชื่นชอบที่จะคุยเรื่องการเมืองมากกว่า พร้อมระบุว่าการเลือกตั้งในไทยที่จะมาถึงนี้อาจเป็นได้ทั้งความหวังและความน่ากลัว ความหวังคือมีการเลือกตั้งไปสู่อนาคต แต่ความน่ากลัวคือ หากเลือกตั้งแล้วประเทศไม่พัฒนาและกลับไปสู่จุดเดิมก็จะทำให้ 5 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า
ทั้งยังมองว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นด้วย
โปรดวางปืนก่อนเลือกตั้ง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสนใจงานทางการเมืองว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนสงสัยมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และน่าคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มสนใจงานทางการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไร สนใจตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. หรือเพิ่งมาสนใจหลังการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะถ้าสนใจมาก่อนการยึดอำนาจ คำถามที่ว่าทำไมการก่อจลาจลชัตดาวน์ประเทศ ขัดขวางการเลือกตั้ง ฝ่ายความมั่นคงจึงเกียร์ว่าง รวมถึงหลังการยึดอำนาจก็ยังตั้งแกนนำม็อบที่มีคดีอุกฉกรรจ์มารับตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เอง
“ในสถานการณ์ปรกติรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้งจะถูกควบคุมไม่ให้อนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่โยกย้ายข้าราชการเพื่อเอาเปรียบหรือเป็นมือเป็นไม้ในการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งหน้ากำลังจะมีขึ้นท่ามกลางดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 ในมือ พร้อมการจัดวางเครือข่ายขุมกำลังองคาพยพ กองทัพ รวมทั้งข้าราชการพลเรือนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสนใจการเมืองอาจไม่แปลกมาก แต่การที่รัฐมนตรีเกือบครึ่ง ครม. และแกนนำรัฐบาลนัดกันมาประกาศสนใจการเมืองพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกันดูจะพิลึกอยู่ไม่น้อย”
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์โชคดีและมีแต้มต่อมากกว่าคนไทยกว่า 60 ล้านคน ที่สนใจการเมืองแล้วสามารถเข้าสู่อำนาจได้ทันที แม้ช่วงต้นจะอ้างว่ามาเป็นกรรมการ แต่ตอนนี้คณะกรรมการเกือบทั้งคณะกำลังจะผันตัวเองไปเป็นผู้เล่นเสียเอง ประชาชนอาจจะอยากบอกผู้ถืออำนาจรัฐว่า ถ้าจะเข้าสู่การเมืองและการเลือกตั้งอย่างสง่างาม ขอให้วางปืนลง ปลดล็อกให้พรรคการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วเข้าสู่การเลือกตั้ง ช่วยกันทำให้เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจะดีกว่า
ยัน “ตู่” ไม่ต้องออกจาก คสช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์สนใจงานการเมืองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่ใครจะสนใจเรื่องการเมือง และยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ตามกฎหมายแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะลงเล่นการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆหากจะไปร่วมงานทางการเมืองก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ลงเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำให้กระแสสังคมมองไม่ดีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกคนมีตำแหน่ง ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ทั้งหมดเป็นเรื่องของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของตน ส่วนตัวไม่สนใจการเมืองในลักษณะเช่นนั้น แต่สนใจที่จะทำงานแบบเดียวกับที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นงานการเมืองเช่นกัน เมื่อถามว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาลและเชิญกลับมาทำงานอีกครั้งจะมาหรือไม่ นายวิษณุปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว
12 ปีรัฐประหารเสียหาย 10.970 ล้านล้าน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในโอกาสครบรอบ 12 ปี และประเมินอนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสในการก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้า และโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจะอยู่ที่ประมาณ 10.970 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2562 เม็ดเงินดังกล่าวหากไม่เสียหายไปจากผลกระทบของการรัฐประหารและวิกฤตการณ์ทางการเมืองย่อมสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้โดยไม่ต้องเก็บภาษี ไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะเป็นเวลา 3.65 ปี อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาลดต่ำลง และต่ำกว่า 4% โดยส่วนใหญ่
หากตั้งสมมุติฐานว่าไม่มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการรัฐประหาร 2 ครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา ทำลายภาพพจน์ของประเทศในฐานะประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน เป็นการเปิดประตูให้กับการใช้กำลังในการทำลายระบบนิติรัฐและกติกาสูงสุดอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ประเทศได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชนหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 และการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540
12 ปีหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 6 คน มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจได้มากนัก รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 2 รัฐบาลในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จะสนองตอบกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารมากกว่าประชาชนโดยรวม จึงพบว่างบประมาณทหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุครัฐบาลรัฐประหาร โดยรัฐบาลประยุทธ์มีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมสูงกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์อย่างมาก แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหมือนกัน รัฐบาล คสช. ก่อหนี้ผูกพันในงบประมาณแผ่นดินไปจนถึงปี 2565 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุข สูงกว่าระบอบเผด็จการ และสามารถรับมือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าด้วย
แม้การรัฐประหารหลายครั้งในประเทศไทยจะไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อในช่วงการก่อรัฐประหาร แต่มักจะนำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดในภายหลัง เช่น การรัฐประหารปี 2549 เป็นผลต่อเนื่องทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองและนำมาสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมในปี 2552 และ 2553 การรัฐประหารปี 2534 ทำให้ต่อมาเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 2535 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแกนนำของคณะรัฐประหาร รสช. เป็นต้น แม้การรัฐประหารปี 2557 จะไม่มีความรุนแรงนองเลือด แต่หลังการรัฐประหารได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มีประชาชนถูกดำเนินคดีและคุมขังจำนวนมากอย่างไม่เป็นธรรม
หากมีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งในปี 2562 จะเกิดความเสี่ยงในการเกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ได้ และเราจะอยู่ในระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้การสืบทอดอำนาจของ คสช. หากกองทัพถอยออกจากการเมืองและมีความเป็นทหารอาชีพ ไม่เข้าแทรกแซงด้วยการก่อรัฐประหารอีก ปล่อยให้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตถูกแก้ไขโดยกลไกรัฐสภาและกระบวนการทางกฎหมาย ระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความมั่นคงและเป็นรากฐานสำคัญต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
คนกำลังเบื่อขี้หน้า
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เขียนเตือนรัฐบาล คสช. อย่างต่อเนื่องในคอลัมน์ “ประสงค์พูด” (25 กันยายน) หัวข้อ “รู้บ้างไหมว่าผู้คนกำลังเบื่อขี้หน้า” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า
“ภาวการณ์ของบ้านเมืองเราขณะนี้เป็นภาวการณ์ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผู้คนส่ายหน้าด้วยความเบื่อหน่ายกับการทำงานของคนมีอำนาจที่ทำงานกันอย่างไม่เอาไหน โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งยังคงยากลำบากในการทำมาหากิน ชาวบ้านเคยดีใจและคิดว่าชีวิตของพวกเขาคงจะดีขึ้น แต่เวลาผ่านไปสี่ปีเต็ม ย่างเข้าปีที่ห้าในขณะนี้ของการบริหารจัดการของคนมีอำนาจ ปรากฏการณ์ที่เห็นไม่ผิดอะไรกับ “ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นยอดกัญชา” ไปฉิบ เมากันไปทั้งบ้านเมือง”
ในตอนท้ายของบทความระบุว่า “บ้านเมืองมีความต้องการความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จากความบอบช้ำเสียหายหลายอย่าง ถึงขั้นวิกฤตในหลายเรื่อง สิ่งดีงามทั้งหลายที่เคยมีอยู่ในวงสังคมและสั่งสมกันมาจากบรรพบุรุษ ที่ใช้อำนาจอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง แต่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากคนที่มีความทะยานอยากในอำนาจเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง ความสามัคคีของผู้คนในบ้านเมือง แม้กระทั่งความถูกต้อง ชอบธรรม ความตรงไปตรงมาที่ต้องการ กลับดูจะห่างหายไปในขณะนี้
ใหญ่มากอยู่แล้วก็อยากจะใหญ่ต่อไปอีก ทะยานอยากในการสืบทอดอำนาจให้ยาวนาน ขอบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงที่พูดมาทั้งหมดในวันนี้ รู้บ้างไหมว่าผู้คนกำลังเบื่อขี้หน้า”
ผมสนใจการเมือง
นายชำนาญ จันทร์เรือง ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ “ผมสนใจการเมือง” ว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดคาด ทราบอยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ ขอตั้งข้อสังเกต 3 ข้อว่า 1.เป็นการเสพติดอำนาจ มีอำนาจอยู่แล้วจึงอยากมีอีก 2.อาจกลัวถูกเช็กบิล และ 3.อาจสองจิตสองใจเรื่องทำการเมืองต่อ แต่มีคนรอบข้างคอยยุยงให้ตัดสินใจเช่นนี้ ขอเตือน พล.อ.ประยุทธ์ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำรัฐประหารทั่วโลก รวมถึงผู้นำรัฐประหารในไทยเกือบทุกคน มีจุดจบที่ไม่สวยงาม”
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระบบการเมืองหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Military Guarded Authoritarianism ซึ่งทหารจะปกป้องระบอบนี้ พูดง่ายๆ อำนาจในการรัฐประหารก็อยู่กับเขาอยู่ แต่เขาก็พอใจระดับหนึ่งที่อำนาจในการต่อรองเขายังมี เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ จะมากจะน้อย แต่มันอาจจะแบบไม่ได้ง่ายอย่างที่เป็นอยู่ในยุค คสช. นี้ …ซึ่งไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยเลยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560”
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “หัวหน้ารัฐประหารที่ชนะการเลือกตั้งหรือถูกเชิญมาเป็นรัฐบาลนี่ไม่น่ามีจุดจบที่ดีสักคน ยินดีมากครับที่จะมีคนมาลองอีกสักคน”
ใครๆก็.. “สนใจการเมือง”
การประกาศเริ่มต้นชีวิตการเมืองของ “ทั่นผู้นำ” ว่าสนใจการเมืองหลังจากเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมืองจากการรัฐประหารและเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนานกว่า 4 ปี ไม่ว่าจะเป็นเพราะรักประเทศชาติ รักเหมือนกับที่คนไทยทุกคนรัก หรือเป็นเพราะชักจะติดใจในอำนาจที่เริ่มคุ้นชินก็ตาม ทั้งหมดไม่ใช่การเดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมือง แต่เป็นการวนกลับสู่ “กะลาการเมือง” อย่างแท้จริง
การที่มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยของประเทศ แต่เสียงดังได้เพราะยึดกุมทั้งอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจ รวมถึงคนที่พอใจอยู่ในกะลา เพราะมีความมั่งคั่ง มั่นคง รวยกระจุกในพวกพ้องภายใต้ “ระบอบพิสดาร” อย่างต่อเนื่องยั่งยืนจากการสานต่ออำนาจเผด็จการสวมหน้ากากประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะปล่อยผ่านหรืออยู่กันไปวันๆได้อีกต่อไป
ถึงเวลาแล้วที่คนส่วนใหญ่ที่ฝันว่าจะได้อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องเลือกทางของตนเองให้ชัดว่าจะเลือกอะไรระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”
ระหว่าง “อำนาจปืน” กับ “อำนาจประชาชน” ถึงที่สุดแล้ว.. อะไรจะมีพลานุภาพมากกว่ากัน “อารยประเทศ” ได้พิสูจน์แล้ว เหลือแต่ “กะลาแลนด์” ที่กำลังลุ้นอนาคต!!??
You must be logged in to post a comment Login