- อย่าไปอินPosted 9 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ภารกิจดับร้อน / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 กันยายน – 5 ตุลาคม 2561)
เมื่อครั้งที่อังกฤษเข้ายึดครองประเทศอินเดียเป็นอาณานิคมใหม่ๆ ชาวยุโรปไม่คุ้นกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวติดต่อกันยาวนานถึงครึ่งปี พวกเขาจึงสรรหาสารพัดวิธีที่จะคลายความร้อน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเข้าน้ำแข็งจากอเมริกา
ในสมัยศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษในอินเดียต่อสู้กับอากาศร้อนอันยาวนานด้วยการหนีไปอยู่บนที่ราบสูงในช่วงฤดูร้อน แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะอินเดียมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานมากถึง 5-6 เดือน ดังนั้น พวกเขาจึงคิดค้นหาวิธีที่จะต่อสู้กับอากาศร้อน เช่น นำพรมชุ่มน้ำไปแขวนที่ประตูและหน้าต่าง สวมเสื้อผ้าชุ่มน้ำ และแช่เย็นเครื่องดื่มด้วยดินประสิว
ชาวอังกฤษทำเครื่องดื่มเย็นๆด้วยการนำขวดเครื่องดื่มไปแช่ในถังใส่น้ำ เททับด้านบนด้วยดินประสิวแล้วปิดฝาถังปล่อยทิ้งไว้ 30 นาที อุณหภูมิของเครื่องดื่มจะลดลงไปกว่าครึ่งจากเดิม ถังแช่ดินประสิวสามารถเก็บรักษาความเย็นได้ประมาณ 2 ชั่วโมงตราบเท่าที่ยังไม่เปิดฝาถัง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น 2-3 องศาต่อชั่วโมงนอกเสียจากจะเติมดินประสิวลงไปใหม่
การแช่เครื่องดื่มที่อยู่ในภาชนะปิดสนิทลงในน้ำละลายดินประสิวมีความปลอดภัยตราบเท่าที่ยังไม่เปิดฝาขวด แต่ถ้าเปิดฝาขวดแล้วไม่สามารถนำลงไปแช่ได้ เพราะน้ำละลายดินประสิวอาจซึมเข้าสู่ภายในขวดได้ และเมื่อนำเครื่องดื่มออกจากถังจะต้องนำไปล้างให้สะอาดก่อนเปิดขวด
มีเรื่องเล่ากันว่าทหารอังกฤษบางคนใช้ดินปืนละลายน้ำเพื่อแช่ขวดไวน์ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม เนื่องจากดินปืนมีดินประสิวเป็นส่วนประกอบ ส่วนจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้นไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆคนอังกฤษสมัยนั้นใช้ดินประสิวละลายน้ำเพื่อทำให้เครื่องดื่มเย็น โดยเฉพาะในอินเดียดินประสิวมีราคาถูกมาก
ส่งออกน้ำแข็ง
ปี 1806 เฟรเดอริก ทิวดอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน แซะก้อนน้ำแข็งน้ำหนักรวม 80 ตัน จากบึงน้ำในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ห่อหุ้มด้วยฟางข้าวนำขึ้นเรือส่งไปขายที่เกาะมาร์ตินิกในทะเลแคริบเบียนที่อยู่ห่างออกไป 2,400 กิโลเมตร แต่น้ำแข็งส่วนใหญ่ละลายไปในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ของการเดินทาง ทำให้เขาขาดทุนไปราว 4,500 ดอลลาร์
เฟรเดอริกยังคงเดินหน้าทำธุรกิจส่งออกน้ำแข็ง ค้นหาวิธีเก็บรักษาน้ำแข็งไม่ให้ละลายเร็วเกินไป จนกระทั่งค้นพบว่าการใช้ขี้เลื่อยเททับจะทำให้น้ำแข็งละลายช้าลง ประสิทธิภาพดีกว่าใช้ฟางข้าว เขาสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในปี 1810
ปี 1833 เฟรเดอริกส่งออกน้ำแข็งไปยังเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย คราวนี้ระยะทางเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เฟรเดอริกใช้เวลา 4 เดือนขนส่งน้ำแข็ง 180 ตัน พร้อมกับแอปเปิ้ลบอลด์วิน ผลไม้ชื่อดังของรัฐแมสซาชูเซตส์ จำนวนหลายลังไปยังกัลกัตตาที่อยู่ไกลออกไป 26,000 กิโลเมตร
ชาวอินเดียรู้ว่าแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ แต่ไม่เคยเห็นน้ำแข็งมาก่อน สงสัยว่าพืชชนิดไหนที่ให้ดอกออกผลเป็นน้ำแข็ง บางคนเอามือไปจับอยู่นานจนถูกน้ำแข็งกัดมือแทบไหม้ ทำให้รู้สึกหวาดกลัวก้อนน้ำแข็ง
คลั่งน้ำแข็ง
การนำเข้าน้ำแข็งจากอเมริกาสร้างความประทับใจให้กับผู้ปกครองอินเดียเป็นอย่างมาก จนถึงกับให้สิทธิผูกขาดสัมปทานน้ำแข็งแต่เพียงผู้เดียวและไม่เก็บภาษีนำเข้าน้ำแข็ง ทำให้ธุรกิจน้ำแข็งเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว โรงเก็บน้ำแข็งผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด กระจายออกไปยังเมืองใหญ่ๆทั่วกัลกัตตา บอมเบย์ และมัทราส
สถานบันเทิงของชนชั้นสูงสร้างโรงเก็บน้ำแข็งเป็นของตัวเองเพื่อใช้เก็บรักษาเนื้อสัตว์ให้สดอยู่เสมอ และเก็บเครื่องดื่มให้เย็นพร้อมเสิร์ฟตลอดเวลา คลับชั้นนำเช่นบายคัลลาคลับเพียงแห่งเดียวสั่งจองน้ำแข็ง 40 ตัน ไว้บริการลูกค้าในช่วงหน้าร้อน
น้ำแข็งยังถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ เช่น ใช้ลดไข้ ตลอดจนถึงรักษาโรคไตทำงานบกพร่อง น้ำแข็งจึงเป็นสินค้าที่มีปริมาณความต้องการสูง ในช่วงที่สินค้าขาดแคลน เช่น การขนส่งเกิดความล่าช้า น้ำแข็งจะถูกจำหน่ายแบบปันส่วน ทุกคนได้สิทธิซื้อน้ำแข็งในจำนวนจำกัด หากใครต้องการน้ำแข็งมากเกินกว่าที่กำหนดต้องมีใบรับรองแพทย์
การขาดแคลนน้ำแข็งในปี 1850 เกือบทำให้เกิดการจลาจลในกรุงบอมเบย์ แต่สำหรับชาวอินเดียแล้วน้ำแข็งทำให้ชีวิตของพวกเขายากลำบากกว่าเดิม คนอินเดียส่วนใหญ่ยากจน พวกเขาไม่มีปัญญาซื้อน้ำแข็งมาใช้เพราะมันมีราคาสูงลิ่ว ขณะที่ธุรกิจน้ำแข็งทำให้ความต้องการใช้แรงงานลูกจ้างทำเครื่องดื่มเย็นจากวิธีใช้ดินประสิวลดจำนวนลง
กว่าจะคุ้นเคย
เจมเซตจิ จีจีบฮ์อย พ่อค้าชาวพาซีและเป็นคนอินเดียคนแรกที่ได้รับบรรดาศักดิ์จากอังกฤษ นำเข้าไอศกรีมมาเผยแพร่ในบอมเบย์ ความอร่อยของมันทำให้ลูกค้าตะบี้ตะบันกินจนล้มป่วยด้วยไข้หวัด
เฟรเดอริกสร้างโรงเก็บน้ำแข็งขนาดตึก 3 ชั้น 3 แห่งในเมืองใหญ่ บอมเบย์ กัลกัตตา และมัทราส สามารถเก็บรักษาน้ำแข็งจำนวนกว่าร้อยตันได้นานหลายเดือน ล่วงเข้าปี 1860 ชาวอินเดียจึงคุ้นเคยกับน้ำแข็ง มันมีราคาต่ำลงจนไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอีกต่อไป เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เฟรเดอริกเริ่มอ่อนล้าด้วยวัยชรา ประกอบกับแหล่งน้ำธรรมชาติถูกปนเปื้อนจากการสร้างทางรถไฟ ธุรกิจส่งออกน้ำแข็งเริ่มโรยรา
แต่คนอินเดียไม่ขาดแคลนน้ำแข็ง เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการสร้างโรงงานทำน้ำแข็ง แม้การสร้างทางรถไฟจะทำให้แหล่งน้ำต้นกำเนิดน้ำแข็งในอเมริกามีการปนเปื้อน แต่ทางรถไฟอีกเหมือนกันที่ทำให้การคมนาคมในอินเดียสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น น้ำแข็งจากโรงงานผลิตในรัฐเบงกอลถูกกระจายส่งไปยังลูกค้าในเมืองใหญ่ๆทั่วอินเดีย
โรงเก็บน้ำแข็งหมดความจำเป็น โรงเก็บน้ำแข็งในเมืองมัทราสของเฟรเดอริกถูกขายไปในปี 1880 มันถูกแปรสภาพเป็นคฤหาสน์อยู่อาศัยจนกระทั่งเจ้าของคนใหม่เสียชีวิตในปี 1902 คฤหาสน์ถูกนำออกขายทอดตลาด และต่อมาถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สวามีวิเวกานันทะจวบจนถึงปัจจุบัน
1.เฟรเดอริก ทิวดอร์
2.คนงานใช้ม้าลากใบมีดกรีดลงบนผิวน้ำแข็ง
3.โรงงานน้ำแข็งของเฟรเดอริก
4.ลูกจ้างชาวอินเดียใช้ดินประสิวทำเครื่องดื่มเย็น
5.บายคัลลาคลับ
6.บรรยากาศในบายคัลลาคลับ
7.เจมเซตจิ จีจีบฮ์อย
8.โรงเก็บน้ำแข็งในบอมเบย์
9.โรงเก็บน้ำแข็งในกัลกัตตา
10.โรงเก็บน้ำแข็งในมัทราส
You must be logged in to post a comment Login