วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เดือนความชัดเจน

On October 1, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองไทยตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมามีความเกี่ยวโยงกับเดือนตุลาคมที่มักเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ไม่ต่างจากเดือนตุลาคมปีนี้ที่จะเริ่มเห็นภาพอนาคตประเทศทั้งระยะใกล้และไกลได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะการแย่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค การดูดอดีต ส.ส. เข้าสังกัดจะได้ข้อยุติ จากนั้นจะไปโฟกัสที่กลยุทธ์ที่จะใช้ห้ำหั่นกันในสนามเลือกตั้ง หรือยุทธวิธีที่จะใช้เตะตัดขาคู่แข่งให้หัวทิ่มก่อนลงสนามแข่งขันจริง เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. ก็จะเริ่มเห็นหน้าตาว่าใครบ้างจะไปนั่งในสภารอทำภารกิจเป็นกองหนุนยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี

หลังการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐในวันที่ 29 กันยายน จะทำให้การเมืองมีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และอาจทำให้แกนนำกลุ่มสามมิตรคลายความกังวลใจ กลับมามีสมาธิเดินหน้าทางการเมืองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ต่อไป

หลังความชัดเจนของกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐแล้ว พรรคการเมืองอื่นๆก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน โดยทุกพรรคต้องแต่งตัวให้เสร็จก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม

ในส่วนของผู้นำพรรคนั้น พรรคการเมืองจะต้องเลือกหัวหน้าพรรคให้ได้ก่อนวันที่ 10 ธันวาคมที่จะถึงนี้ หากยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคสามารถขอขยายเวลาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อีก 90 วัน แต่หากยังตกลงกันไม่ได้อีกพรรคต้องสิ้นสภาพ

อย่างไรก็ตาม หากขอขยายเวลาอีก 90 วันหลังพ้นวันที่ 10 ธันวาคมไปแล้วเท่ากับว่าพรรคการเมืองนั้นจะลงเลือกตั้งโดยไม่มีผู้นำทัพอย่างเป็นทางการ ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า

ในเดือนตุลาคมการเมืองในส่วนของพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าจะไปอยู่สังกัดไหนอย่างไร ซึ่งรวมถึงอนาคตบนถนนการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงน่าจะมีความชัดเจนเกือบ 100%

เมื่อการจัดองค์กรชัดเจนแล้ว การจัดวางตัวบุคคลชัดเจนแล้ว ก็เหลือความชัดเจนเพียงอย่างเดียวคือกำหนดเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าจริงหรือไม่

ปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าจริงหรือไม่ ดูเหมือนว่าจะเหลือเพียงปัจจัยเดียวในตอนนี้คือ “ระดับความมั่นใจ” ที่จะกลับมาครองอำนาจอีกครั้งของกลุ่มก้อนที่แสดงความพยายามกันอยู่ในตอนนี้

ความชัดเจนอีกอย่างที่จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้คือการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ คสช. จะทำการคัดเลือกรอบสุดท้ายหลังการเปิดรับสมัครจากทั่วประเทศช่วงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

เมื่อภาพของการเมืองในฝั่งพรรคการเมือง นักการเมือง มีความชัดเจนก่อนแล้ว ภาพของ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. ก็จะมองเห็นความชัดเจนได้ไม่ยาก เพราะ ส.ว.แต่งตั้งมีภารกิจเป็นกองหนุนในการยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

เพราะฉะนั้นหลังประกาศรายชื่อเชื่อว่าจะเต็มไปด้วยเสียงยี้ เสียงวิจารณ์ และคำครหานินทา พร้อมกับได้ยินคำอธิบายจากผู้คัดเลือกว่าอย่าด่วนตัดสิน ให้รอดูการทำงานก่อน

ภาพของการคัดเลือกแต่งตั้ง ส.ว. จะมีแนวโน้มออกมาอย่างไร อยากให้ย้อนดูภาพการคัดเลือกแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) การคัดเลือกแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) การคัดเลือกแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เชื่อว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อยก็ตรงที่การคัดเลือก ส.ว. คสช. ไม่ได้ทำเองตั้งแต่แรกทั้งหมด แต่เป็นการเลือกจากการเปิดรับสมัครและผู้สมัครคัดเลือกกันเองมาแล้วรอบหนึ่ง

การเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งจึงไม่ยากเกินกว่าจะคาดเดาหลังเข้าสู่เดือนตุลาคม


You must be logged in to post a comment Login