วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บุก ขสมก.จี้เอาผิด “ประยูร” ถ้าแก้สัญญา “อีทิคเก็ต”

On October 3, 2018

ภายหลังคณะกรรมการตรวจรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ มีมติไม่รับมอบไปตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.พร้อมลงนามเป็นมติไม่ตรวจรับเป็นเอกฉัณฑ์ส่งให้ผู้บริหาร ขสมก.พิจารณายกเลิกสัญญาและขึ้นบัญชีดำเอกชนตามขั้นตอน ปรากฏว่าฝ่ายบริหารเก็บเรื่องเงียบเพิกเฉยซ้ำยังหาช่องทางแก้ไขสัญญาหาเหตุแยกอุปกรณ์หยอดเหรียญหรือ Cash Box ออกจากสัญญาทั้งที่สัญญาเป็นเหมาเช่าเหมารวมกับอีทิคเก็ต(E-Ticket)ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดถือปฏิบัตรมาก่อน ล่าสุดหนุ่มใหญ่หอบเอกสารหลักฐานบุก ขสมก. แฉพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่อแววทุจริตช่วยเหลือเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า นายธนธัช วิจิตลิมาภรณ์ ได้หอบเอกสารหลักฐานขอเข้าพบนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) แต่ต้องผิดหวังทำได้แค่ยื่นหนังสือร้องเรียนและมอบหลักฐานให้ตัวแทนเท่านั้น โดยนายธนธัช กล่าวว่าในนามประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีมีไม่อาจไว้วางใจนายประยูร รักษาการ ผอ.ขสมก.อีกต่อไปได้ จากกรณีที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของ ขสมก.กรณีโครงการเช่าเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติไม่สามารถใช้งานได้ทำให้ ขสมก.ขาดรายได้มาเป็นปีแถมมีหนี้สินมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท นับจากวันลงนามในสัญญา ครบกำหนดการส่งมอบทั้งหมด 2,600 คัน ในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าทั้งการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมถึงเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ไม่ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับมอบงานได้ภายในกำหนดเวลา สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับ ขสมก.และภาครัฐรวมทั้งประชาชนผู้ใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะมาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน

นายธนธัช กล่าวต่อไปว่า กรณีของกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box)เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ าไม่สามารถส่งมอบระบบได้ตามข้อกำหนดใน TOR กำหนดแทนที่ ขสมก. ต้องดำเนินการพิจารณายกเลิกสัญญาตามที่ได้ระบุไว้ดังรายละเอียดใน TOR ข้อ 12 เรื่อง “การบอกเลิกสัญญา” ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “…ถ้าองค์การเห็นว่าผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็คทรอนิกส์ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ องค์การจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน…” แต่ ขสมก. กลับมีความพยายามที่จะแบกภาระสัญญานี้ต่อไป โดยมีความพยายามที่จะแยกค่าเช่าของกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ออกจากสัญญาทั้งฉบับและจัดทำข้อตกลงใหม่ร่วมกับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญา ทั้งๆที่ระบบทั้งสองเป็นสัญญาร่วมกันเพียงสัญญาเดียว หากมีการยกเลิกสัญญาจะต้องทำการยกเลิกสัญญาทั้งหมด แต่ ขสมก. กลับออกหน้าให้เหตุผลลอยๆว่ากล่องหยอดเหรียญ (Cash Box)เป็นระบบที่ไม่จำเป็นในยุคสังคมไร้เงิน ทั้งๆที่บนพื้นฐานความเป็นจริงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวันและสิงคโปรเองก็ยังคงใช้งานระบบกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ดังกล่าวอยู่ ดังนั้นเหตุผลของ ขสมก.จึงเป็นข้ออ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรอดพ้นจากการถูกยกเลิกสัญญาและถูกประกาศขึ้นแบล็คลีสต์

นอกจากนี้ ขสมก. เองได้ระบุไว้ใน TOR ข้อที่ 10.1 ว่า โครงการดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ในข้อ 10.1.1 และ กล่องเก็บค่าโดยสาร (Cash Box) ในข้อ 10.1.3 จำนวนทั้งหมด 2,600 คัน “ตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและราคากลาง(ราคาอ้างอิง)ในการจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง” ประกอบ TOR ระบุวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรรวมทั้งโครงการไว้โดยมิได้มีการแบ่งแยกชัดเจนว่าเป็นงบประมาณสำหรับ E-Ticket และ Cash box อย่างละเท่าไหร่ เมื่อมีความพยายามที่จะแยกงบประมาณเกิดขึ้นในภายหลัง จึงเป็นการยากที่จะกำหนดว่าอุปกรณ์ใดควรมีมูลค่าเท่าไร มูลค่าที่ได้กำหนดในภายหลังนั้นอาจเกิดข้อครหาว่าไม่เหมาะสมและเอื้ออำนวยให้กับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญา ด้วยการกำหนดมูลค่าของอุปกรณ์ที่ตัดออกจากสัญญาให้มีมูลค่าต่ำ และเพิ่มมูลค่าให้กับอุปกรณ์ที่จะคงไว้ในสัญญาสูงเกินจริง ปราศจากเหตุผลและแหล่งข้อมูลอ้างอิง

นายธนธัช กล่าวอีกว่า หากบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามที่ระบุใน TOR แล้ว ขสมก. กลับไม่ดำเนินการตามบทลงโทษและยกเลิกสัญญา แต่พยายามจะหาทางแก้ไขสัญญารวมถึงแก้ไขข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน TOR จะก่อให้เกิดปัญหาและกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลในโครงการอื่นๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจรายอื่นจะนำใช้ไปอ้างอิงและสร้างบรรทัดฐานใหม่อย่างผิดๆต่อเนื่องกันไปอีกในภายภาคหน้า ในกรณีที่ผู้รับสัญญาไม่สามารถปฏิบัติได้ตาม TOR เช่นเดียวกับโครงการนี้ อีกทั้งการกระทำนี้ยังก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนรายอื่นที่เคยแสดงความต้องการเข้าร่วมประมูลในโครงการดังกล่าว อันจะก่อให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความ ในขณะที่ปัจจุบันก็ยังคงมีคดีความกับคู่กรณีเดิมที่รอคำพิพากษาในศาลปกครองอีกด้วย นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและกฎหมายใดรองรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน

นายธนธัชกล่าวว่า ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจรับมอบมีมติไม่รับมอบ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือน มิถุนายน 2561 แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีคำสั่งในการบอกเลิกสัญญาใดๆทั้งสิ้น จนกระทั่งระยะเวลาได้ล่วงเลยไปมากกว่า 3 เดือน นับจากวันที่หมดอายุสัญญาตามที่ระบุไว้ใน TOR ตนมีหลักฐานและทราบว่ามีการนำเสนอรายงานการตรวจรับมอบระบบจากคณะกรรมการตรวจรับมอบ โดยระบุไว้ชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่สามารถรับมอบได้ว่าเป็นผลมาจากการที่ระบบไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ตามข้อกำหนดใน TOR คณะกรรมการจึงมีมติไม่รับมอบ และขอให้ผู้บริหาร ขสมก. พิจารณายกเลิกสัญญาดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีคำสั่งบอกเลิกสัญญาตามที่ฝ่ายบริหารองค์การพึงปฏิบัติ จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า ผู้บริหาร ขสมก.มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาอย่างแน่นอน

ในฐานะที่ นายประยูร ช่วยแก้ว ปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์ ผอ.ขสมก. มีหน้าที่บริหาร ขสมก.ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องโปร่งใส หากมีการใช้อำนาจอย่างมิชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการโดยปราศจากมติความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ จนกระทั่งเกิดความเสียหายกับงบประมาณภาครัฐและประเทศชาติ ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีให้กับภาครัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ร้องเรียนต่อท่านอย่างเป็นทางการแล้ว แต่หากยังมีพฤติกรรมส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนโดยพยายามแก้ไขสัญญา ซึ่งทั้งที่เอกชนไม่สามารถส่งมอบงานตามที่ TOR กำหนด และผิดต่อ พรบ. จัดซื้อจัดจ้างอย่างเห็นได้ชัด การกระทำดังกล่าวทำให้ภาครัฐเสียหาย อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืน พรบ.จัดซื้อจัดจ้างรวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ข้าพเจ้าจะขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญาทุกช่องทางเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติ นายธนธัช กล่าวในที่สุด


You must be logged in to post a comment Login