วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

แก้พื้นที่ทับซ้อน

On October 8, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในขณะที่เริ่มมีกระแสข่าวการแย่งชิงเป็นตัวแทนพรรคลงสมัคร ส.ส.เขต ซึ่งเกิดจากจำนวน ส.ส.เขตลดน้อยลง และโอกาสการได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา จนดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาของพรรคการเมืองใหญ่ แต่เรื่องนี้มีทางออกด้วยการแยกตัวไปลงสมัคร ส.ส. ในพรรคสาขา โดยคนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอาจไม่ต้องลงสมัคร ส.ส.เขตเอง เอาชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วส่งนอมินีลงสมัครแทน แม้ต้องเหนื่อยออกแรงหาเสียงมากกว่าอยู่พรรคเดิม แต่หากมองมุมกลับเป็นเรื่องดีที่ทำให้มีเหตุถอยออกมาจากพรรคใหญ่ที่มีคาแร็คเตอร์ชัดเจนว่าอยู่ข้างไหน ไม่เข้าร่วมกับใคร มาอยู่พรรคใหม่ที่ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า จับพลัดจับผลูได้เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาล ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมารองก้นอีกด้วย

สถานการณ์การเมืองที่แม้จะเริ่มนิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งคือ กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้ใช้ระบบแบ่งสันปันส่วนผสม

ให้ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง และ 1 บัตรเลือกตั้ง ที่สามารถเลือกคนที่ใช่ แต่ไม่มีสิทธิเลือกพรรคที่ชอบเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา

แม้ระบบนี้จะยังมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองได้แย่งชิงโควตากัน 150 ที่นั่ง แต่เป็น 150 ที่นั่งที่มีไว้สำหรับผู้แพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ส่วนพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตมาก จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็จะสวนทางกัน คือได้น้อยลง

มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ระบุการคำนวณหา ส.ส. ทั้ง 500 คน อย่างสรุปไว้ 3 วิธีดังนี้คือ

1.นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.เขต (ทั้งเขตที่ชนะเลือกตั้งและแพ้เลือกตั้ง) มาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่มีคือ 500 คน ได้เท่าไรนั่นคือคะแนนเสียงที่จะทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

2.นำผลลัพธ์ที่ได้จากข้อแรกไปหารกับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้ง เพื่อหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี

3.นำจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตที่ได้รับเลือก เพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายทั้งในเขตที่ชนะและแพ้เลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ได้ยินแกนนำพรรคการเมืองต่างๆทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าประกาศว่าพร้อมจะส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ เพื่อเอาคะแนนมาแบ่งโควตา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ดังนั้น การจะได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามกติกาใหม่จึงไม่ง่ายเหมือนก่อน โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก หากใครมีชื่ออยู่ในบัญชีชิงเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 25 ขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่มีเก้าอี้ ส.ส. ให้นั่งในสภา

จึงไม่แปลกที่เริ่มมีกระแสข่าวออกมาในทำนองว่าหลายคนที่เคยเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบสบายๆในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาโดยไม่ต้องเหนื่อยลงพื้นที่หาเสียง แค่ส่งเสบียงสนับสนุนการทำศึกเลือกตั้งให้พรรค เริ่มขยับขยายมองหาพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการลงสมัคร ส.ส.เขต

แม้การลงสมัครชิง ส.ส.เขตจะเหนื่อยกว่า แต่ออกแรงสู้ด้วยตัวเองดีกว่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ ทำให้หลายพรรคเริ่มมีข่าวแย่งชิงพื้นที่ลงสมัคร ส.ส.เขตปรากฏออกมาตามสื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้การแย่งชิงลงสมัคร ส.ส.เขตจะถูกมองว่าอาจกลายเป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง

แต่เรื่องนี้มีทางออก

อย่างที่ทราบกันว่าหลายพรรคการเมืองแก้ปัญหานี้ด้วยการขยายสาขาพรรค ส่งคนในพรรคไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อรองรับคนที่อยากลง ส.ส.เขตแต่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนให้ขยับขยายไปลงสมัครในนามพรรคสาขา

แม้จะแย่งชิงเก้าอี้จากมือวางอันดับหนึ่งในพรรคหลักไม่ได้ แต่จะได้คะแนนไปคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอาจไม่ต้องลงสมัคร ส.ส.เขตเอง เอาชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วส่งนอมินีลงสมัครแทน แต่วิธีนี้ก็ยังต้องเหนื่อยช่วยหาเสียงเพื่อส่งสารให้ถึงประชาชนว่าย้ายมาอยู่สังกัดใหม่แล้ว

กระแสความขัดแย้งแย่งลงสมัคร ส.ส.เขตในพรรคการเมืองใหญ่ที่มีจึงไม่น่าจะส่งผลอะไรมาก

หากมองมุมกลับเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่ทำให้มีเหตุถอยออกมาจากพรรคใหญ่ที่มีคาแร็คเตอร์ชัดเจนว่าอยู่ข้างไหน ไม่เข้าร่วมกับใคร มาอยู่พรรคใหม่ที่ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า จับพลัดจับผลูได้เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาล ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมารองก้นอีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login