- ปีดับคนดังPosted 13 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
การให้วัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก / โดย ผศ.พญ.จิตติมา เวศกิจกุล
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : ผศ.พญ.จิตติมา เวศกิจกุล
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 19-26 ตุลาคม 2561)
โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็ก ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ โรคหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคกลุ่มนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างมาก ดังนั้น การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจได้ การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นอกจากการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และการรักษาด้วยยาแล้ว ในปัจจุบันมีการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งคือ การให้วัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งพบว่าสามารถลดอาการภูมิแพ้ ลดการใช้ยา และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
การให้วัคซีนภูมิแพ้
คือการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย และปรับเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยให้ซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ลดลง และร่างกายทนต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ดีขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ลดลงเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น การให้วัคซีนภูมิแพ้ในปัจจุบันนิยมให้ 2 วิธีคือ
1.การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง
2.การอมวัคซีนภูมิแพ้ใต้ลิ้น
การให้วัคซีนภูมิแพ้ในเด็ก สามารถเริ่มให้วัคซีนได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีข้อบ่งชี้ ไม่แนะนำให้วัคซีนภูมิแพ้ในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากสังเกตอาการแพ้วัคซีนได้ยาก รวมทั้งการฉีดวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในเด็กเล็กได้ จากการศึกษาประสิทธิภาพของการให้วัคซีนภูมิแพ้พบว่า สามารถลดอาการและการใช้ยาของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ป้องกันการกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่ และลดการเกิดโรคหืดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิภาพของการให้วัคซีนภูมิแพ้ในการรักษาผู้ป่วยที่แพ้อาหาร ดังนั้น จึงพิจารณาให้วัคซีนภูมิแพ้แก่ผู้ป่วยดังต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด และโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ ร่วมกับมีลักษณะดังนี้
-ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
-เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
-ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ยาเป็นระยะเวลานาน และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา
-มีอาการของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมกับโรคหืด
-ต้องการป้องกันการเกิดโรคหืดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
2.ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ
3.ผู้ป่วยแพ้แมลงในกลุ่มผึ้ง ต่อ แตน ที่มีปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกาย ร่วมกับตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้
วิธีการให้วัคซีนภูมิแพ้ แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
1.ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่เริ่มต้นให้วัคซีนภูมิแพ้ โดยเริ่มจากให้วัคซีนภูมิแพ้ขนาดความเข้มข้นต่ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา ระยะเวลาและอัตราเร็วในการปรับเพิ่มความเข้มข้นขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่ ความไวของผู้ป่วยต่อวัคซีนภูมิแพ้ ประวัติการเกิดอาการแพ้หลังได้รับวัคซีนครั้งก่อน และความเข้มข้นของวัคซีนที่ผู้ป่วยได้รับ เป็นต้น
2.ระยะคงที่ เป็นระยะที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนภูมิแพ้ในขนาดที่เหมาะสมและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรค โดยผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนภูมิแพ้ทุก 2-4 สัปดาห์ เป็นระยะเวลานาน 3-5 ปี และติดตามประเมินอาการเป็นระยะ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-12 เดือน หลังได้รับวัคซีนในระยะคงที่
ผลข้างเคียงจากการให้วัคซีนภูมิแพ้ สามารถเกิดได้ 2 แบบคือ
1.ปฏิกิริยาแพ้เฉพาะที่ ได้แก่ อาการบวม แดง คัน รอบๆบริเวณที่ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรืออาการคันปาก ปากบวม ในผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนชนิดอมใต้ลิ้น
2.ปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกาย ได้แก่ ผื่นลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจเสียงหวีด หรือความดันเลือดต่ำลง โดยอัตราการเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายขึ้นอยู่กับวิธีการให้วัคซีนและอัตราเร็วในการปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นของวัคซีน โดยการให้วัคซีนชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายมากกว่าการให้วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้น และการปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นของวัคซีนอย่างรวดเร็วจะมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายมากกว่าการปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นอย่างช้าๆ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายได้ง่ายและควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนให้วัคซีน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรงและยังควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้มาก เป็นต้น
สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีประสบการณ์ในการรักษาด้วยการให้วัคซีนภูมิแพ้มานานกว่า 30 ปี โดยมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์เครื่องมือที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีแนวทางป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการให้วัคซีนภูมิแพ้ ได้แก่ ประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนให้วัคซีนทุกครั้ง สังเกตอาการของผู้ป่วยหลังให้วัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกายมักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังให้วัคซีน และพิจารณาให้ยาต้านฮีสตามีนก่อนให้วัคซีนภูมิแพ้ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าการให้ยาต้านฮีสตามีนสามารถลดอัตราการเกิดผลข้างเคียงจากการให้วัคซีนภูมิแพ้ได้ทั้งปฏิกิริยาแพ้เฉพาะที่และปฏิกิริยาแพ้ทั่วร่างกาย
ในปัจจุบันทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” ได้คิดค้นและพัฒนาวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้อื่นๆที่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนภูมิแพ้จากต่างประเทศ
การให้วัคซีนภูมิแพ้เป็นการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อยและปรับเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยให้ซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ลดลง ช่วยลดอาการภูมิแพ้และลดการใช้ยาของผู้ป่วยได้ จึงเป็นการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
You must be logged in to post a comment Login