วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความสง่างาม? / โดย นายหัวดี

On October 23, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

ผ่านมา 1 สัปดาห์ “ตู่ดิจิทัล” เปิดโซเชียลมีเดียส่วนตัวทุกช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์ เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชน มีผลสำรวจความคิดเห็น “ตู่ดิจิทัล” ผ่าน 2 สำนัก ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การเมืองว่าเข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่?

“The standard” สำรวจในเฟซบุ๊คปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมโหวตกว่า 8,300 ครั้ง ส่วนใหญ่มองว่าเข้าข่ายการหาเสียง 89% หรือประมาณ 7,400 โหวต ขณะที่อีก 11% หรือ 929 โหวต มองว่าไม่ใช่การหาเสียง เช่นเดียวกับในทวิตเตอร์ที่ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกันจากจำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งสิ้น 1,355 ครั้ง โดย 88% ระบุว่าเข้าข่ายหาเสียง ขณะที่อีก 12% มองว่าไม่เข้าข่าย

“สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,165 คน ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 42.75% มองว่าเป็นการหยั่งเสียงวัดความนิยมและหวังผลทางการเมือง 24.67% มองว่ามีทั้งกระแสตอบรับที่ดีและคัดค้าน

23.47% มองว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถมีได้ในโลกยุคออนไลน์ อีก 18.80% ได้เห็นความเคลื่อนไหวและการทำงานของ “ลุงตู่” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาพูดคุย และ 14.49% อยากให้ “ลุงตู่” ตอบคำถามด้วยตนเอง

ปัญหาที่เกิดตามมาคือความยุติธรรมและความชอบธรรม หาก “ปลดล็อกการเมือง” ทั้งหมดก็ไม่มีปัญหาว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดจะหาเสียงอย่างไร แม้แต่ “ลุงตู่” และ “4 รัฐมนตรี” จะยังมีข้อครหาเรื่องการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณไปหาเสียงหรือไม่ก็ตาม

เมื่อ “ลุงตู่” ประกาศต่อผู้นำโลก (อีกครั้ง) แล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน ก็ทำให้ตัวเองสง่างาม จะเล่นการเมืองหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องกระมิดกระเมี้ยนเป็น “อีแอบ” ให้มัวหมอง!


You must be logged in to post a comment Login