- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ไม่รับประกัน
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 26 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2561)
“สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร ประเทศไทยเคยมีปฏิวัติมา 10 กว่าครั้ง แต่ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะช่วงหลังเกิดจากการเมืองทั้งสิ้น ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองดีหรือไม่ดี แต่เชื่อว่านักการเมืองที่ดีก็มี และนักการเมืองที่ไม่ดีก็มี แต่ปัจจุบันคนไทยเป็นอย่างไร”
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษว่า กองทัพจะปฏิวัติอีกหรือไม่หากในอนาคตเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้นอีก เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งเป็น ผบ.ทบ. ก็ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็รัฐประหาร
พล.อ.อภิรัชต์ยังกล่าวว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สื่อได้มีการบันทึกภาพในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าให้เป็นเพียงแต่ภาพที่เกิดขึ้น ให้บันทึกอยู่ในสมองในความทรงจำ เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่เห็นภาพต่างๆที่เคยเกิดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ทำอะไรก็ลำบาก ค้าขายก็ลำบาก ถนนถูกบล็อก คนไทยออกมาตีกัน ยิงกัน ฆ่ากัน วันนั้นทหารยืนอยู่ตรงไหน ทหารถูกรัฐบาลสั่งการให้ออกมาควบคุมความสงบเรียบร้อย ก็ทำด้วยหัวใจที่ไม่ได้คิดแบบนักการเมืองว่าจะเข้ามาบริหารประเทศ
“บิ๊กป้อม” ชี้ไม่ได้ขู่แต่กังวล
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ที่ไม่ยืนยันว่าจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ว่า ที่พูดเพราะกังวลถึงวันข้างหน้า แต่ไม่มีอะไรหรอก ถ้าเหตุการณ์สงบก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่สงบก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เชื่อว่าคงไม่มีแล้ว
ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการขู่หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้ขู่ แต่ ผบ.ทบ. บอกว่าถ้าสถานการณ์ไม่เรียบร้อย เกิดจลาจลก็เท่านั้น แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่มีอะไร เรื่องนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบกับบรรยากาศทางการเมือง เหตุการณ์สงบมา 4 ปีแล้ว ผบ.ทบ. พูดเรื่องจริง แต่ในฐานะที่ตนดูแลความมั่นคงก็เห็นว่าไม่มีอะไร
เมื่อถามว่าหากหลังการเลือกตั้งมีผู้ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ให้เกิดก่อน ส่วนจะทำอย่างไรมันเรื่องของผม”
พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า ท่านก็พูดมีเหตุผล ตนเชื่อว่าทหารหรือทุกคนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาล ประชาชนทั่วไป หรือทหาร ไม่อยากปฏิวัติอยู่แล้ว เรามีหน้าที่รักษาความสงบและเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ถ้าทุกคนร่วมใจกันอยู่ในกติกาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต และเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำ เหล่าทัพมีหน้าที่รักษาความสงบ ซึ่งก็ต้องอยู่ตามกรอบ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง เมื่อเกิดความไม่สงบก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลอยู่แล้ว เป็นกติกาปรกติ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้ความไม่สงบเกิดขึ้น และอยากเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่ดี จะได้เดินหน้ากันไป
กระแสต่อต้านดังกระหึ่ม
ขณะที่กระแสสังคมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายหลังคำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองที่เป็นคู่กรณีโดยตรงเท่านั้น ซึ่งเพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม #opsinglegateway ทำโพลหลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ไม่ยืนยันเรื่องการรัฐประหารหลังการเลือกตั้งว่า ท่านคิดอย่างไร? โดยตั้งคำถามว่า “ก. มีรัฐประหารแน่ๆ และทำอะไรไม่ได้ และ ข. (อาจ) มีรัฐประหาร แต่ป้องกันได้”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า
“การจะหาประเด็นให้ก่อเรื่องปฏิวัตินั้นทำไม่ยากหรอกครับ แค่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาก่อม็อบเยอะๆก็เป็นเหตุให้หาเรื่องออกมารักษาความสงบได้แล้ว แล้วบ้านเมืองช่วงนี้มันจะมีเหตุอะไรให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นหรอ…ก็เป็นไปได้หลายอย่าง ตั้งแต่ลุงตู่แพ้เลือกตั้งแล้วคนที่เชียร์ลุงตู่ก็ออกมาก่อม็อบไม่พอใจอีกฝั่งที่ชนะ หรือลุงตู่ชนะเลือกตั้งแต่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก หรือลุงตู่ชนะเลือกตั้งจะผ่านร่างกฎหมายสำคัญไม่ได้เพราะเสียงไม่พอในสภา
ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญจริงๆคือ กองทัพควรจะรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหารมืออาชีพของตัวเอง เป็นคนที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน จึงไม่ควรจะออกมาแทรกแซงใดๆทางการเมือง
ป.ล. พวกสื่อมวลชนเองก็เลิกยกย่องทหารเกินกว่าเหตุอย่างนี้ได้แล้ว ชอบไปเรียกว่าบิ๊กนั้น บิ๊กโน้น เขาก็ยิ่งหลงในความเป็นนายพลมากขึ้นไปอีกสิ”
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) โพสต์เฟซบุ๊คถึง พล.อ.อภิรัชต์ว่า หาก ผบ.ทบ. ประกาศว่าทหารจะไม่อ้างความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเหตุทำปฏิวัติอีก กองทัพจะสนับสนุนรัฐบาลใช้กฎหมายจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ก่อความวุ่นวายหรือทำผิดกฎหมาย
หากประกาศเช่นนี้ประชาชนจะมีความสุขทั่วหน้า แนวโน้มทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นทันที ต่างชาติจะสนับสนุนประเทศไทยในทุกๆด้าน ประเทศจะเดินหน้าเข้าสู่โหมดการแข่งขันกับประชาคมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อความเชื่อมั่นกลับคืนมา นั่นคือการคืนความสุขให้กับคนไทยอย่างแท้จริง
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.อภิรัชต์จะสามารถดำเนินนโยบายอย่างที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. ได้วางแนวนโยบายไว้ และเป็นผู้ที่เชื่อมประสานรอยร้าวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกับกองทัพจนเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น สังคมไทยจะต้องระมัดระวังการใช้คำพูด หากวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์และพวกก็วิจารณ์ตรงๆ โดยไม่เหมารวมลากเอากองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะจะไม่เป็นธรรมกับกองทัพโดยรวม แม้ ผบ.ทบ. จะเป็นเลขาธิการ คสช. โดยตำแหน่งก็ตาม
พอกันทีรัฐประหารและรัฐทหาร
“ขบวนการสามัญชน” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนธรรมดาคนเล็กคนน้อยในสังคมไทยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับผลกระทบจากผลพวงการพัฒนาประเทศที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบการเมืองที่ไม่เห็นหัวคนจนและการรัฐประหาร ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ผบ.ทบ. แถลงยืนยันว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศ รวมถึงเรียกร้องต่อสามัญชนทั่วประเทศร่วมกันประกาศให้ทุกคนได้ยินว่า “พอกันทีการรัฐประหารและรัฐทหาร” เราจะร่วมกันสร้างประชาธิปไตย และร่วมกันปลดอาวุธ คสช. เพื่อยุติการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ
แถลงการณ์ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 113 และทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย ย้อนแย้งกับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้ประชาชนในสังคมไทยรวมทั้งนานาประเทศเกิดความไม่เชื่อมั่น สับสน และมองเห็นแนวโน้มการเกิดรัฐประหาร โดยอ้างถึงสถานการณ์ทางการเมือง อันแสดงถึงการไม่ยุติบทบาทในการแทรกแซงทางการเมือง ทั้งยังขัดแย้งกับความพยายามของสังคมที่จะนำพาประเทศกลับคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากการรัฐประหาร ความรุนแรง และกำลังอาวุธ โดยเชื่อว่าการสร้างประชาธิปไตยจากรากฐาน เคารพสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม เป็นธรรม จะเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกคนในประเทศนี้ เราจึงมิอาจยอมรับวงจรการรัฐประหารของการเมืองไทยได้อีก
สมคบกันทำรัฐประหาร?
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐประหารมีสาเหตุจากนักการเมืองว่า การพูดตีขลุมว่าปัญหาความวุ่นวายเกิดจากนักการเมืองเป็นการแสดงความเห็นได้ แต่ถ้าคนอื่นหรือนักการเมืองมีความเห็นบ้างว่าความไม่สงบหรือความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกิดจากการสมคบกันของหลายฝ่าย รวมทั้งผู้นำกองทัพก็มีส่วนร่วมด้วย ส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวาย และไม่ช่วยรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ผู้นำกองทัพเองทำการรัฐประหาร ถ้าตนมีความเห็นอย่างนี้บ้าง ผบ.ทบ. จะว่าอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์คงมองเหตุการณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมาที่มีการรัฐประหารคือ ภาวะบ้านเมืองไม่สงบ ไม่ปรกติ การที่จะให้มารับประกันว่าอย่าให้มีอีกนั้น ตนเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับคำพูด คนพูดต้องรักษาคำพูด อยากได้แบบสบายใจจะให้ท่านรับประกันว่าไม่มี บางคนก็ไม่สามารถรักษาคำพูดได้ ท่านพูดก็เพราะดูจากประวัติศาสตร์ก็เท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกเยอะ การรัฐประหารยังเป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับตัวคนที่มาทำรัฐประหาร แต่ตอนนี้เริ่มขมวดว่าคนทำรัฐประหารจะมาเล่นต่อ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในอำนาจมายาวนานแล้วเกือบ 5 ปี แทนที่จะไปคาดคั้น ผบ.ทบ. แต่เรามาช่วยกันดีกว่า
“ทุกคนต้องไปย้อนดูในส่วนของตัวเองก่อน ถ้าการเมืองช่วยกันว่าต่อไปใครจะแพ้ ชนะ ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงไม่มีการสร้างเงื่อนไข มันก็จะไปไม่ถึงขั้นที่ ผบ.ทบ. พูด”
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า การรัฐประหารสามารถหยุดเหตุการณ์ตรงนั้นได้ การตัดเชื้อต้องดูว่าจะปฏิรูปอะไรบ้าง ส่วนเรื่องข่าวดูด ความเหมาะสมเรื่องการอยู่ในอำนาจ ใครจะแพ้ชนะมีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ต้องสร้างทางใหม่ ยึดหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงและยั่งยืนด้วย
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นการตอบคำถามของ ผบ.ทบ. ที่ไม่มีการเตรียมตัว และยังใหม่อยู่กับงานทหารและฝ่ายการเมือง คนระดับ ผบ.ทบ. ไม่ควรพูดออกมาแบบนี้ พล.อ.อภิรัชต์ควรศึกษาดูงานจาก ผบ.ทบ. คนเก่าว่า การทำงาน การวางตัวของท่านเป็นอย่างไร เพราะ ผบ.ทบ. คนเก่าเป็นคนทำงานอย่างมีระบบ และเป็นคนที่จัดการระเบียบระหว่างทหารกับฝ่ายการเมืองได้ดีมาก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าอนาคตจะเกิดการรัฐประหารว่า หากทุกฝ่ายในบ้านเมืองเล่นตามกติกา เคารพกฎหมาย ไม่เล่นนอกกติกา แก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตย และไม่นำพาเหตุการณ์ไปสู่เงื่อนไขให้อำนาจนอกระบบเข้ามาก็ไม่ต้องกังวล ที่ผ่านมาระบอบรัฐสภาดีอยู่แล้ว กลับไม่ใช้กติกา เท่ากับเปิดโอกาสทำให้ระบอบอื่นเข้ามาจัดการบ้านเมือง แล้วคนที่อยู่ในระบบก็แพ้หมด ถูกกันออกไปนอกเวที แต่จะโทษคนที่เข้ามาก็ไม่ได้ เพราะคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่เคารพคำว่าประชาธิปไตย หากทุกฝ่ายเคารพรัฐธรรมนูญที่ตราไว้ชัดเจนจะไม่มีทางมีสิ่งแปลกปลอมนอกระบอบ พรรคภูมิใจไทยจะไม่ทำตัวมีปัญหาอย่างแน่นอน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทหารสามารถทำให้ไม่เกิดการจลาจลได้ ไม่ใช่ว่าตอนมีเหตุเกิดขึ้นแล้วไม่ไประงับ กองทัพสามารถแก้ปัญหา เช่น สั่งการไม่ให้คนออกมาจากบ้านเวลากลางคืน เป็นต้น ถ้าตอบคำถามที่ปลายเหตุ แต่ตอนมีเหตุไม่แก้ไข ชาตินี้ก็ต้องปฏิวัติกันไม่จบไม่สิ้น
ฟ้อง ผบ.ทบ. แต่ถูก คสช. ฟ้องกลับ
ประเด็นการรัฐประหารไม่น่าจะยืดเยื้อในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารมีอำนาจ แต่กลับไม่จบ โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา คสช. ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ที่ สน.ลาดพร้าว ในข้อหาแจ้งความเท็จ หลังจากนายเอกชัยและนายโชคชัยได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ พล.อ.อภิรัชต์ในข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
โดย คสช. ระบุว่า เนื่องจากวันที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นวันที่มีการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่า พล.อ.อภิรัชต์จะนำกองทัพทำการรัฐประหาร โดยหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะเชิญนายเอกชัยและนายโชคชัยมาให้ปากคำต่อไปตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ที่ระบุว่า ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ระบุว่า ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ระบุว่า ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
นายเอกชัยเขียนตอบโต้การฟ้องของ คสช. ว่า ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหาย และยังให้สัมภาษณ์ “ประชาไท” ว่า การแจ้งความกลับของ คสช. อาจเพราะไม่ต้องการให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้พูดถึงกองทัพหรือ คสช. เลย แต่ คสช. หรือกองทัพกลับมาแจ้งความกลับ ซึ่งไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย
ขณะที่นายเอกชัยและนายโชคชัยถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้วคนละ 5 คดี โดยเฉพาะนายเอกชัยเคยถูกทำร้ายจนข้อมือหักมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายเอกชัยพยายามติดตามการสอบสวนกรณี “นาฬิกาหรู” ของ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปหาที่บ้านเป็นประจำช่วงที่ทำกิจกรรมทางการเมือง
ย้อนวาทกรรมตระบัดสัตย์ ไม่รัฐประหารแต่รัฐประหาร
ย้อนกลับไปครั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. มีข่าวการรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็ยืนยันว่าไม่มี เช่น วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่ พล.อ.สนธิก็ทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังลงจากอำนาจ วันที่ 21 มีนาคม 2555 พล.อ.สนธิตอบคำถาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ตั้งคำถามว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติว่า “คำถามบางประการ ตายแล้วก็ตอบไม่ได้”
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. กล่าวย้ำหลายครั้งหลายหนว่าไม่มีรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ทำรัฐประหาร เหตุการณ์กรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (28 ตุลาคม 2556) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “สื่อบางสื่อใช้ไม่ได้ เพราะเขียนข่าวแบ่งคนเป็นพวกๆ และเมื่อถึงเวลาคนพวกนี้เขาออกมาตีกัน สื่อต้องรับผิดชอบด้วย วันนี้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นม็อบ ชายแดนภาคใต้ และปัญหาอื่นๆ ยังแก้ไม่ได้สักเรื่อง เราพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้รวดเร็ว แต่ดูเหมือนสื่อต้องการให้เหตุการณ์แรง ผมไม่เข้าใจเหตุการณ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่เคยนำมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาเสียชีวิต การที่ท่านจะมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไรต้องหาวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือไม่กระทบคนอื่น ยืนยันว่าทหารทำหน้าที่จริงใจทุกปี ทุกเหตุการณ์ ทหารต้องทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ จะเอาทหารออกมาเตาะแตะไม่ได้ อย่าเรียกร้องให้ทหารออกมา ทหารออกมาจะวุ่นวาย อยากขอให้ทุกคนเข้าใจทหาร”
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากสถานการณ์ยืดเยื้อทหารจะออกมาหรือไม่ (4 พฤศจิกายน 2556) ว่า ถ้าไม่สั่งก็คงไม่ออก แต่ถ้าสั่งให้ทหารออกก็ต้องดูว่าให้ออกไปทำอะไร ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเมื่อสั่งให้ทหารออกเราก็ออก รัฐบาลชุดที่แล้วสั่งเราก็ออก ถ้ารัฐบาลชุดนี้สั่งแล้วเราไม่ออกจะได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ อยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ทหารออกมาทุกครั้งออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก ถ้าออกมาโดยที่ไม่ฟังคำสั่ง ถามว่าเหตุการณ์จะจบหรือไม่ ซึ่งก็ไม่จบ แล้วจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำไม ส่วนจะทำอย่างไรก็ไปคิดกันเอาเอง
“ทำไมเรื่องปฏิวัติรัฐประหารเขียนอยู่ได้ ไม่รู้จะเขียนไปทำไม หะ ใครจะปฏิวัติ ใครจะรัฐประหาร ใครสัญญา ใครไม่สัญญา เขียนทำไมเล่า”
รัฐประหารแก้ปัญหาผิดทางแต่ก็ทำ
วันที่ 8 ธันวาคม 2556 พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่ว่าเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จะเป็นอย่างไร ทหารก็จะไม่ออกมาปฏิวัติ “ถ้าทหารปฏิวัติ (รัฐประหาร) อีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร ทุกคนรักชาติ แต่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ”
วันที่ 10 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากข้อความผ่านทางรายการ “ลับลวงพราง” โดยยืนยันว่ากองทัพต้องหนักแน่น จะทำตามใครเรียกร้องไม่ได้ ต้องใจเย็น ขอให้เชื่อมั่นในทหาร ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชนได้ในทุกโอกาส ให้เก็บทหารไว้เป็นที่พึ่งสุดท้าย เชื่อว่าการรัฐประหารทำไปก็ไม่จบ ขอให้เข้าใจทหาร เพราะทหารทำหรือไม่ทำก็โดนตำหนิ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงการประกาศกฎอัยการศึกว่า เพื่อความเรียบร้อยและลดความขัดแย้ง ส่วนแนวคิดตั้งนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ถ้าทำได้ก็ทำ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนการรัฐประหารนั้นเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ ขณะนี้รัฐบาลอยู่ไหนไม่ทราบ หลังจากนั้น 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ไม่รับประกัน
คำประกาศล่าสุดของ “บิ๊กกองทัพ” ที่ไม่สามารถรับประกันว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่สะท้อนถึงความคิดและบทบาทของกองทัพว่าการแทรกแซงการเมืองเป็นความชอบธรรม รวมถึงรัฐประหารจะยังอยู่กับการเมืองไทยไปอีกนาน ตราบใดที่ยังไม่สามารถปฏิรูปกองทัพให้เป็น “ทหารอาชีพ” ได้ การเมืองไทยก็ต้องจมปลักอยู่กับรัฐประหารไม่สิ้นสุด
วาทกรรม “รัฐประหาร” จึงแตะต้องไม่ได้ เพราะแม้แต่สถาบันตุลาการยังรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เป็นการปกครองสำเร็จ ซึ่งล่าสุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คสช. กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ คสช. ร่างขึ้นใหม่ มีบทบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว
ทั้งที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด ถ้าหากองค์กรตุลาการไม่รับรองการรัฐประหาร วงจรอุบาทว์ก็จะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายดังเช่นที่ผ่านมาด้วยหรือไม่?
อย่างเกาหลีใต้และตุรกี กระบวนการยุติธรรมก็สามารถเอาผิดหรือนำคณะรัฐประหารมาลงโทษได้ โดยที่เกาหลีใต้ใช้เวลา 20 ปีในการรื้อคดีเอาผิดผู้ก่อรัฐประหาร ส่วนที่ตุรกีผู้ก่อรัฐประหารก็ถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต
การประสานเสียงของบรรดาผู้ใหญ่ใน “กองทัพ” ที่ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และแตะต้องไม่ได้ จึงสะท้อนถึง “ระบอบอำนาจนิยม” ที่ยังฝังลึกในสังคมไทย พร้อมแสดงตนให้เห็นว่าอยู่เหนือกฎหมาย และใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ ที่ใครจะมาฉีกไม่ได้ ยกเว้นพวกตนเท่านั้นที่ฉีกเอง
นิรโทษเอง เขียนใหม่เอง แล้วฉีกเอง…วนเวียนไปไม่รู้จบ!!??
You must be logged in to post a comment Login