วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เกษตรกรชงกก.วัตถุอันตรายพิจารณา3สารเคมีใหม่

On October 26, 2018

กรมวิชาการเกษตร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต กลุ่มเกษตรกรตรวจสอบข้อมูลพบหลักฐานสำคัญ เตรียมยื่นข้อมูลเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถใช้สารเคมีดังกล่าวได้ต่อไป

นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครองของ 3 สารเคมี 2.การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. วัตถุอันตรายและที่แก้ไขเพิ่มเติม 3.กำหนดฉลากและภาชนะบรรจุ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นประมาณ 250 คน ทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยกลุ่มเกษตรกรกว่า 50 รายเตรียมนำผลสรุปร่างฯ พร้อมหลักฐานสำคัญ ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สรุปสาระสำคัญของการจัดประชุมฯ ว่า “ร่างประกาศฯ ของกรมวิชาการเกษตรนำเสนอในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติทั้งในแง่เวลาและงบประมาณ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเกษตรกร อาทิ กรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านรายในระยะเวลา 90 วันหลังจากประกาศฯ อนุมัติ เป็นสิ่งที่กรมฯ ดำเนินการจริงได้ยากด้วยระยะเวลาที่น้อยแต่ผู้ที่ต้องอบรมมีจำนวนมาก หากกรมฯ ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านสารเคมีเกษตรออกมาเรียกร้องให้ แบน อีก ทั้งนี้ การไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบที่ออกมา บทลงโทษจะตกอยู่ที่เกษตรกร การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่มีความเหมาะสม ขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรเป็นบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเอง

สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อไปของภาคเกษตรกร จะนำข้อมูล ผลวิเคราะห์ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร นำยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถ “ใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม” เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำส่งข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย

“ควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกันในสารเคมีทุกชนิด โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยของไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน” นายสุกรรณ์ กล่าว

ด้าน นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงผลกระทบสารเคมี โดยข้อมูลดังกล่าวขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และปราศจากผลวิจัยที่ชัดเจน เช่น ไม่มีหลักฐานการนำส่งตัวอย่างไปตรวจสอบสารตกค้างมาพิสูจน์ รับรองผลการศึกษา จึงได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เตรียมยื่นเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป

13

12


You must be logged in to post a comment Login