วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ดิจิทัล เนทีฟ” การปรากฏพลังในโลกจริงและ“อนาคตใหม่”

On November 1, 2018

คอลัมน์ : บทความพิเศษ

ผู้เขียน :  ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

(โลกวันนี้ฉบับพิเศษ ขึ้นปีที่20)

เสาหลักประชาธิปไตย อันเป็นหลักประกันว่าอำนาจจะยังคงเป็นของประชาชน คือกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล และเครื่องการันตีว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลนั้นจะไม่ถูกฉกฉวยช่วงชิงไปให้อยู่ในมือเผด็จการหรือคณะบุคคลผู้ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ก็คือสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ

แต่ใครจะบอกได้ว่า สื่อมวลชนนั่นเองจะไม่ถูกฉกฉวยช่วงชิงไปฉวยใช้เพื่อรับใช้คณะบุคคล

กว่า 2 ทศวรรษที่โลกค่อยๆเขย่าและพัดพาให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจาก สื่อมวลชนอาชีพถูกตั้งคำถาม สื่อโซเชียลก็ได้เข้ามามีบทบาทสร้างเป็นชีวิตสังคมใหม่ สื่อ(ที่ถึง) มวลชนกลับงอกงาม เบ่งบาน เพราะชีวิตในโลกใหม่ ใครๆก็เป็นสื่อได้

จะเป็น “สื่อแท้-สื่อเทียม” ก็ให้พวกสูงศักดิ์ว่ากันไปในโลกที่อาชีพต่างๆกำลังล่มสลาย

และ “ใครๆ” ที่ว่านี้ก็มีอิสระที่จะสื่อ แต่ปริมาณและความหลากหลายของสื่อโซเชียลที่คิด เขียน และโพสต์ ตลอดจนไลค์และแชร์ โดยไม่จำเป็นต้องมอง ไม่ต้องสัมผัส ไม่ต้องสัมพันธ์กับชีวิตและเลือดเนื้อที่อยู่ข้างๆตัวมากนัก

ดูเผินๆย่อมยากเกินกว่าที่รัฐ กลไกหรือระบบคุณค่าใดๆจะควบคุมมันได้

แต่กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยก็ได้เห็นแล้วว่าแม้จะหยุดหรือควบคุมมันไม่ได้ทั้งหมด ทว่าการแตกย่อยราวเซลล์อิสระที่ปราศจากการจัดตั้งก็แสนจะเปราะบาง มีผู้คนถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สื่อโซเชียลทุกๆวัน ในทุกๆเรื่อง และทำให้หยุดพูด โพสต์ ไลค์ แชร์ และเมนต์ในบางเรื่องได้

ถ้าบางเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องหลักคิดว่า คนเราเท่ากัน และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นคุณค่าที่ควรเคารพและละเมิดไม่ได้ก็คงจะดี แต่วันนั้นคงไม่มาถึงง่ายๆในสังคมไทย

กลายเป็นว่าอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลที่ธรรมชาติของมันเองคือ “เครือข่าย” และผู้ใช้เป็นผู้ใช้อำนาจในการแสดงความเห็นเอง แต่ผลของมันกลับไม่ได้ส่งเสริมอำนาจของผู้ใช้โดยรวมเพื่อการบรรลุสังคมที่ทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจเท่าๆกันแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำหลายครั้งและอาจเป็นกรณีโดยส่วนใหญ่ด้วย พลังของมันกลับไปดึงด้านมืดอันเป็นคุณลักษณะของ “ชุมชนแบบเดิม” ออกมา เช่น การเสียบประจาน การไล่ล่าความเห็นต่าง ทั้งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องการเมือง จนไปถึงเรื่องหมาๆแมวๆที่พร้อมจะเปลี่ยนผู้เห็นต่างให้เป็นปิศาจ

finger

เราอาจเห็นความพยายามสร้างกลไกในโลกเสมือนเพื่อส่งเสริมเสรีภาพและอำนาจปวงชน เช่น การนัดหมายรวมตัวเข้าใช้พื้นที่เว็บไซต์หนึ่งพร้อมกันเพื่อให้เว็บรัฐล่ม โดยการกด F5 รัวๆ เพื่อแสดงออกร่วมกันต่อต้านกฎหมายละเมิดสิทธิของรัฐ หรือมีกลไกการเข้าชื่อเสนอร้องเรียนและจัดทำข้อเสนอดังกรณี Change.org

ในแง่นี้ “โลกจริง” กับ “โลกเสมือน” จึงแทบไม่ต่างกัน เพิ่มเติมคือ มันกลายเป็นเครื่องมือนัดหมายแสดงพลังที่เอื้อต่อการคุกคามทางกายภาพได้ง่ายกว่าการแสดงพลังเพื่อพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายเพื่อบรรลุมนุษยภาพร่วมกัน

ฝ่ายหนึ่งไม่เลือกวิธีใช้ แต่อีกฝ่ายมีเป้าหมายที่กลายเป็นข้อจำกัดการเลือกวิธีใช้ในตัวมันเอง

โลกเสมือนในสื่อโซเชียลจึงเป็นโลกแห่งโอกาสของคนกำปั้นใหญ่เพื่อการจัดระเบียบ ขณะเดียวกับที่คนอีกจำนวนมากได้แต่เงยหน้ามองฟ้ากว้างไกล บอกตัวเองว่าฉันมีอิสรเสรีในโลกเสมือนนี้ เพื่อปลอบประโลมหัวใจในร่างกายที่อยู่ในกรงภายใต้กะลาอันซับซ้อน

ในโลกพลิกผัน ถ้าเราคาดการณ์ได้ง่ายๆมันคงไม่เรียกว่าโลกพลิกผัน

กว่า 2 ทศวรรษของการใช้อินเทอร์เน็ต คนเจเนอเรชั่นหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับมัน เป็นดิจิทัลแต่อ้อนแต่ออก (native) และเติบโตมากับมัน เห็นความหลากหลาย การวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งเป็นเรื่องปรกติ

เป็น 2 ทศวรรษของคนรุ่นที่เกิดและโตมาในโลกเสมือนซึ่งคู่ขนานกับโลกจริงอันพลิกผันและการเมืองที่ปั่นป่วน ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการเลือกตั้งที่ออกดอกออกผลมาตั้งแต่ปี 2554

นั่นคือจำนวนของพลเมืองดิจิทัลถึง 5.6 ล้านเสียง หรือเกินกว่าร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก และเป็นโอกาสที่พลังสร้างสรรค์จากโลกเสมือนจะปรากฏกายในโลกจริง

การเลือกตั้งที่จะมาถึงในต้นปี 2562 คะแนนเสียงของ “พรรคอนาคตใหม่” ผู้ประกาศตัวว่าจะเป็นอัศวินผู้เรียกคืนสิทธิเสรีภาพที่มีฐานเสียงหลักจากโลกเสมือน (และอันที่จริงต้องรวมถึง “พรรคกลาง”) ทั้งยังจัดวางตำแหน่งแห่งที่เป็นสะพานเชื่อมโลกเสมือนและโลกจริง จึงน่าจับตาและติดตามอ่านนัยอย่างยิ่ง


You must be logged in to post a comment Login