- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
โอสถศาลาประชาธิปไตย กับโรครัฐประหารเรื้อรัง
คอลัมน์ : บทความพิเศษ
ผู้เขียน : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
(โลกวันนี้ฉบับพิเศษ ขึ้นปีที่20)
ไม่ว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไรในอนาคต ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ตกค้างและเป็นปัญหาที่เป็นดัง “โรคเรื้อรัง” ที่ไม่จบสิ้นในการเมืองไทยก็คือ ทหารกับการแทรกแซงทางการเมืองด้วยการใช้กำลังทำรัฐประหาร จนการยึดอำนาจได้กลายเป็นดัง “โรคร้าย” ของการเมืองไทยไปแล้ว เพราะไม่ว่าสังคมไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่โรคนี้ยังคงอยู่ในระบบการเมืองของประเทศไม่เปลี่ยนแปลง จนเกิดภาพลักษณ์ว่าประเทศไทยได้กลายเป็น “คนป่วย” ที่เกิดอาการติด “โรครัฐประหารเรื้อรัง” จนต้องแสวงหายารักษาให้ได้ก่อนที่อาการของโรคนี้จะพาสังคมไทยสู่ความอับจนมากกว่าที่เป็นอยู่
แม้ผมจะไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่บทความนี้จะขอทดลองสำรวจสมมุติฐานโรคเรื้อรังของทหารไทยที่มีอาการติดเชื้อรัฐประหารมาอย่างยาวนาน และจะขอลองนำเสนอยาแก้โรคนี้ 4 ขนาน
ทหารอาชีพ vs ทหารการเมือง
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองจวบจนปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของทหารไทยที่มีบทบาท “เด่น” ในการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวา สามารถใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไร้ขีดจำกัด จนบทบาทเช่นนี้กลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของกองทัพไทยที่มีบทบาททางการเมืองมากกว่าการป้องกันประเทศ และขณะเดียวกันนายทหารระดับสูงในกองทัพไทยแสดงบทบาทใน 2 ลักษณะคือ เป็น “นักกดดันทางการเมือง” ในยามปรกติ และเป็น “นักการเมืองในเครื่องแบบ” ในยุครัฐประหาร สิ่งนี้ทั้งหมดคือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่ได้ทำหน้าที่หลักในทางทหาร แต่กลับมีบทบาทหลักทางการเมืองต่างหาก
ปัญหาเช่นนี้ทำให้ข้อถกเถียงทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องความเป็น “ทหารอาชีพ” ของกองทัพไทยกลายเป็นเพียงหัวข้อการถกแถลงที่ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ เพราะความเป็นจริงก็คือ การเมืองไทยมีอาการติดเชื้อ “โรครัฐประหาร” ที่รักษาไม่หาย และรัฐประหารทำให้กองทัพไทยกลายเป็น “ทหารการเมือง”
ผลจากการนี้รัฐประหารในการเมืองไทยจึงเป็น “กฎ” มากกว่าเป็น “ข้อยกเว้น” เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่มีจุดจบ
เกิดมากจนอาจจะต้องบันทึกไว้ใน “กินเนสบุ๊ค” เพราะในโลกร่วมสมัยนั้นรัฐประหารได้หายไปจากหัวข้อข่าวของหลายๆประเทศแล้ว แม้การเมืองประเทศเพื่อนบ้านที่เคยอยู่กับรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซียหรือเมียนมา ก็กลายเป็นการเมืองแบบการเลือกตั้ง และหากไม่นับระบอบสังคมนิยมในเวียดนามและลาวแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลทหาร ทั้งที่หลังปี 2516 และโดยเฉพาะหลังปี 2535 ไทยคือตัวแบบให้แก่เพื่อนบ้านในภูมิภาคถึงความก้าวหน้าของการสร้างประชาธิปไตย แต่วันนี้เรากลับถอยประเทศกลับมาอยู่ใต้การรัฐประหาร
นอกจากสังคมไทยจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับระบอบทหารในปัจจุบันแล้ว ยังเห็นได้ชัดเจนถึงอำนาจของทหารในการเมืองไทย ดังจะเห็นได้จากการออกมาประกาศของผู้บัญชาการทหารบก และสำทับตามมาด้วยการแถลงของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจ ที่ยืนยันถึง “ความจำเป็น” ในการทำรัฐประหาร ทั้งที่มีความคาดหวังว่าการเมืองไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถ้อยแถลงดังกล่าวได้สร้าง “ความตกใจทางการเมือง” ให้แก่สังคมไทยและสังคมระหว่างประเทศไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นการแถลงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาโดยไม่ปิดบังถึงการยึดอำนาจ และผู้แถลงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นทหารอาชีพของกองทัพไทยแต่อย่างใดเลย
ถ้อยแถลงใน 2 วาระนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนภาพของ “ความด้อยพัฒนาทางการเมือง” ของไทย ที่บ่งบอกถึงระดับการพัฒนาทางการเมืองในเรื่องของ “ทหารกับการเมือง” จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบันว่ามีลักษณะหยุดนิ่ง จนน่าเสียดายว่าทหารในการเมืองไทยย่ำอยู่กับความเป็นการเมืองแบบ “โลกที่สาม” ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคุณลักษณะของการเมืองโลกที่สามมีการแทรกแซงของทหารเป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลัก และด้วยการแทรกแซงเช่นนี้ทำให้สังคมไม่สามารถปฏิรูปกองทัพได้ และในอีกด้านหนึ่งผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจด้วยการรัฐประหารย่อมไม่ปรารถนาที่จะให้มีการปฏิรูปกองทัพด้วย ดังจะเห็นได้จากบทเรียนทางทหารว่า กองทัพที่เป็นทหารอาชีพจะเป็น “หอกข้างแคร่” ของผู้นำรัฐบาลทหาร
เกียรติภูมิของวิชาชีพทหาร
เรื่องเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนในเชิงสถาบันว่า กองทัพไทยอยู่ในวังวน “ทหารการเมือง” และไม่สามารถยกระดับให้เกิดกระบวนการสร้าง “ทหารอาชีพ” เช่นที่เกิดในประเทศพัฒนาแล้ว อันทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่สถาบันทหารไทยเป็น “กองทัพการเมือง” ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยบทบาทและภารกิจหลักทางทหาร… ผู้นำทหารบางส่วนใช้ชีวิตในเวทีการเมืองมากกว่าในกรมทหาร และขณะเดียวกันก็มี “ความสุข” จากชีวิตในทำเนียบรัฐบาลที่มีอำนาจในการทำหน้าที่ควบคุมทั้งนโยบายและทรัพยากรของประเทศ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำทหารเหล่านี้มีทักษะและความสามารถในการบริหารรัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันเพียงใด
ทหารการเมืองเหล่านี้ไม่มีภาพของความเป็น “ผู้นำทหารในอุดมคติ” เช่นที่ปรากฏในวิชาประวัติศาสตร์สงครามซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สอนเป็นพื้นฐานของวิชาชีพทหารแต่อย่างใด ถ้าเช่นนั้นแล้วผู้นำทหารไทยที่มีเหรียญตราเต็มหน้าอกในวันที่แต่งเครื่องแบบเต็มยศจะเป็น “แม่แบบ” ให้กับน้องๆในโรงเรียนทหารได้อย่างไร ในเมื่อการต่อสู้ของพวกเขาอยู่ใน “สนามรบทางการเมือง” ที่กรุงเทพฯมากกว่าจะใช้ชีวิตใน “สนามรบทางทหาร” เช่นที่ผู้นำทหารควรเป็น… แผงเหรียญตราบนหน้าอกจะมีความหมายเพียงใดเล่าหากพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่ให้ “สมเกียรติ” แห่งความเป็นทหารหาญ
ประวัติศาสตร์สงครามจากยุคกรีกและยุคโรมันหล่อหลอมและสอนทหารทุกชาติในความเป็นทหารอาชีพไม่แตกต่างกันว่า ความมีเกียรติของทหารคือการทำหน้าที่ในสนามรบ แต่สำหรับกองทัพไทยในยุคแห่งการรัฐประหารเช่นปัจจุบัน ความมีเกียรติอยู่กับการทำหน้าที่ในสนามการเมือง
วัฒนธรรมการเมืองของทหารไทยถูกหล่อหลอมด้วยอำนาจที่ได้มาด้วยการรัฐประหารจนลืมความเป็น “กองทัพอาชีพ” ที่เป็น “แกนกลาง” ของการสร้างกองทัพสมัยใหม่ และเป็นการลืมวิชาชีพทหารอย่างน่าเสียดาย ที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญให้อนาคตของการพัฒนากองทัพไทยกลายเป็นเพียงเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์ที่ไร้ประโยชน์ทั้งในทางยุทธศาสตร์และทางยุทธการ หรือขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนากองทัพที่มีเพียงอาวุธเป็นแกนกลาง
โจทย์การพัฒนากองทัพในหลายปีที่ผ่านมาจึงถูกตอบด้วยคำว่า “ซื้อ… ซื้อ… ซื้อ” ซึ่งเป็นชุดความคิดทางยุทธศาสตร์ที่หยาบที่สุด และน่าเสียใจที่อาวุธหลายประเภทที่ถูกจัดหามากลายเป็น “เศษเหล็ก” ในกองทัพ อันเป็นผลจากการที่อาวุธเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้จริง และในยุครัฐประหารเรื่องเหล่านี้ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบ จนกลายเป็นความ “น่าฉงน” ทั้งทางการเมืองและกฎหมาย นอกจากนี้หลังจากความสำเร็จของการรัฐประหาร 2557 แล้ว เราแทบไม่มีผู้นำทหารที่สนใจเรื่อง “ยุทธศาสตร์ทหาร” อย่างจริงจัง ความสนใจหมกมุ่นอยู่กับเรื่อง “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่รัฐบาลทหารต้องการใช้บังคับสังคมไทย
ยาสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง
ในโลกแห่งความผันผวนของการเมืองไทย คำประกาศล่าสุดของผู้นำทหารระดับสูงที่ยืนยันถึงบทบาทในการแทรกแซงของกองทัพ จึงสะท้อนถึงสถานะของกองทัพเท่าๆกับสะท้อนถึงสถานะของการเมืองไทยอย่างดียิ่งว่า รัฐประหารยังอยู่กับการเมืองไทยเสมอ และขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงการเป็น “คนป่วย” ที่ยังคงมีอาการ “ติดเชื้อรัฐประหาร” ของสังคมการเมืองไทยอย่างน่ากังวล
ในสภาวะเช่นนี้ขบวนประชาธิปไตยไทยจึงอยากมี “โอสถศาลา” ที่สามารถจัดยารักษาผู้ป่วยที่มีอาการติด “โรครัฐประหาร” อย่างรุนแรง แต่คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในทางการเมืองไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ยาวิเศษ” หรือ “ยาหมอเทวดา” แต่หากทดลองสำรวจจากประวัติศาสตร์แล้ว เราอาจจะเห็นถึงยาหลัก 4 ชนิด ได้แก่
ยาฆ่าเชื้อ “แพ้สงคราม” : ยาแรงที่จะฆ่าอาการติดเชื้อรัฐประหารที่แรงที่สุดคือการ “แพ้สงคราม” เช่นเมื่อครั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และสัมพันธมิตรใช้วิธีการบังคับให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยและการปฏิรูปกองทัพ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในยุคหลังสงครามในประเทศทั้งสอง ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยไม่ได้ถูกปฏิบัติเป็น “ประเทศแพ้สงคราม” จึงไม่ต้องรื้อระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งก็คือการที่โครงสร้างเก่าในการเมืองไทยไม่ถูกจัดใหม่ อันส่งผลให้อำนาจของทหารไม่ถูกลดทอน และไม่มีการปฏิรูปกองทัพ กองทัพจึงอยู่ในการเมืองไทยเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ยาฆ่าเชื้อ “แพ้ประชาชน” : ยาแรงอีกประการที่เกิดในหลายประเทศคือ กองทัพทนแรงกดดันจากการประท้วงใหญ่ไม่ได้ และ “แพ้ประชาชน” จนทหารต้องยอมถอนตัวออกจากอำนาจ และนำไปสู่การจัดโครงสร้างการเมืองใหม่ พร้อมกับการปฏิรูปกองทัพ การเมืองไทยผ่านเหตุการณ์ใหญ่ในปี 2516 และ 2535 แต่ในท้ายที่สุดไม่เกิดเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรง และไม่เคยมีการปฏิรูปกองทัพ อันทำให้อำนาจของทหารไม่ได้ถูกปรับให้สอดรับกับการมาของการเมืองชุดใหม่ กล่าวคือ กองทัพอยู่แบบเดิมเสมือนไม่มีเกิดอะไรขึ้นในทางการเมือง
ยาสร้างภูมิ “ฉันทามติทหาร” : ยานี้อาจไม่แรง แต่เกิดจากการสร้างภูมิภายในกองทัพด้วยการมี “ฉันทามติทหาร” ว่าการแทรกแซงการเมืองเป็นผลเสียต่อสถาบันกองทัพ ผู้นำทหารจึง “ตัดสินใจด้วยความสมัครใจ” พากองทัพออกจากการเมือง และนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพเพื่อรักษาสถาบันทหารในระยะยาว ยาชนิดนี้ใช้ได้ดีต่อเมื่อผู้นำรัฐบาลและกองทัพมีวุฒิภาวะและวิสัยทัศน์เพียงพอ จนเกิดฉันทามติว่ารัฐประหารคือเครื่องมือที่ดีในการทำลายกองทัพ และมติเช่นนี้เป็นทิศทางหลักของกองทัพ
ยาสร้างภูมิ “ฉันทามติสังคม” : ยาอีกชุดเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภายในจาก “ฉันทามติสังคม” ที่ผู้คนในสังคมไม่ยอมรับรัฐประหาร และเห็นร่วมกันว่าการแทรกแซงการเมืองของทหารเป็นภาพสะท้อนของความด้อยพัฒนาทางการเมือง และการสร้างประชาธิปไตยจะเป็นการยกสถานะของประเทศ ช่วงเปลี่ยนผ่านในเกาหลีใต้มีลักษณะเช่นนี้ เหมือนกับตอนตุรกีจะเข้าสหภาพยุโรปก็มีทรรศนะแบบนี้เช่นกัน หรือทรรศนะของสังคมที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารในบูร์กินาฟาโซในปี 2557 จนผู้นำการยึดอำนาจต้องออกมาขอโทษต่อสังคม เป็นต้น
ถ้าไม่ปฏิรูปทหารวันนี้ ก็รอรัฐประหารวันพรุ่งนี้!
ว่าที่จริงไม่ใช่ไม่มียาแก้ “โรครัฐประหาร” ในการเมืองไทย เป็นแต่เพียงเราไม่เคยใช้ยาต่อเนื่องบ้าง ไม่ยอมใช้ยาจริงบ้าง หรือไม่กล้าใช้ยาแรงบ้าง เช่น สัมพันธมิตรไม่ได้บังคับให้ไทยเป็นผู้แพ้สงครามในปี 2488 อันทำให้ไม่เกิดการปฏิรูปกองทัพ หลังชัยชนะใหญ่ของประชาชนในปี 2516 และ 2535 ก็ไม่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้นำทหาร หลังการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ไทยในปี 2525-2526 และการจบลงของสงครามเย็นของโลกในปี 2532-2533 ก็ไม่มีการปฏิรูปกองทัพ
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กองทัพไทยไม่เคยต้องเปลี่ยนแปลง ไม่เคยต้องปฏิรูป ต่างกับในหลายๆประเทศที่เกิดการปฏิรูปกองทัพมาเป็นระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังสงครามเย็นที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงไปหมด
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องสร้าง “ปฏิญญา 2562” ในสังคมไทยร่วมกันว่า หมดเวลาของกองทัพที่มีภารกิจหลักทางการเมืองแล้ว แน่นอนว่าเราต้องปฏิรูปการเมือง และจะต้องปฏิรูปกองทัพคู่ขนานกันไป
ปฏิรูปกองทัพคือยาพื้นฐานแก้โรครัฐประหารเรื้อรังของทหารไทย และการปฏิรูปคือจุดเริ่มต้นของการสร้างทหารอาชีพ และถ้าการเมืองไทยสร้างทหารอาชีพไม่ได้แล้ว ก็เลิกคิดถึงความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้เลย
ฉะนั้นรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคตจะต้องกล้าผลักดัน “วาระปฏิรูปทหาร” ให้เป็นนโยบายแห่งชาติ และการปฏิรูปนี้จะต้องยึดกุมหลักการสำคัญว่า ไม่ใช่การทำลายศักยภาพทางทหาร แต่จะต้องเป็นการลดทอนศักยภาพทางการเมืองของกองทัพ ด้วยความมุ่งหวังให้กองทัพไทยเป็นทหารอาชีพ และยุติบทบาททหารการเมืองลงให้ได้มากที่สุด
ขบวนประชาธิปไตยจะต้องสำเหนียกเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไร้การปฏิรูปกองทัพในวันนี้ คือการนั่งรอการยึดอำนาจในวันหน้า!
You must be logged in to post a comment Login