วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใคร? “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

On November 1, 2018

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ผู้เขียน :  กองบรรณาธิการ

(โลกวันนี้ฉบับพิเศษ ขึ้นปีที่20)

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้จะมีการทำประชามติ แต่ก็ปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างอิสระ ทั้งยังหมกเม็ดอำนาจรัฐประหารไว้คือ ประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) ที่ประกาศใช้ยังมีผลต่อไปตราบที่รัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ออกพระราชบัญญัติยกเลิก

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีหลายชื่อ ตั้งแต่ “รัฐธรรมนูญฉบับลิ้นหัวใจรั่ว เอาชีวิตไม่รอด” “รัฐธรรมนูญฉบับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ไปจนถึง “รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง” แต่รัฐบาลทหารยืนยันว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี 2560 เชื่อว่าจะเป็นวิกฤตการเมืองในอนาคตแน่นอน เป็นวิกฤตประเทศที่ยังคงมีอำนาจรัฐประหารและพยายามเพิ่มอำนาจ “รัฐราชการ” เพื่อให้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเว็บไซต์ iLaw ได้สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ต้องรู้ดังนี้

2-02

หนึ่ง : มาตรา 44 ยังไม่ตาย จนกว่าจะยกเลิก

ในบทเฉพาะกาลมาตรา 265 กล่าวไว้ว่า ให้ คสช. อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง คือ คสช. ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 อำนาจเบ็ดเสร็จของมาตรา 44 จะยังคงอยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เป็นที่เรียบร้อย เท่ากับว่าการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินไปโดยยังมีอำนาจพิเศษนี้ครอบงำอยู่ นอกจากนี้บรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. ที่รวมแล้วไม่น้อยกว่า 323 ฉบับ รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) อีกอย่างน้อย 148 ฉบับ ที่เคยประกาศใช้ก็จะยังมีผลต่อไปตราบที่รัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ออกพระราชบัญญัติมายกเลิก

สอง : ส.ว.วาระแรก 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระเริ่มแรก (ส.ว.ชุดแรก) ทั้งหมด 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คสช. เกือบทั้งหมด และมี ส.ว.โดยตำแหน่งที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส.ว. ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่งนานกว่า ส.ว. ชุดอื่น คือมีวาระ 5 ปี นอกจากนี้ยังมีอำนาจร่วมโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจกำกับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. จัดทำขึ้น

สาม : ปรากฏการณ์ “นายกฯคนนอก”

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล่วงหน้า และเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาจะเลือก “คนนอกรายชื่อ” ที่เสนอมาไม่ได้ เว้นแต่ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ โดย ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คน เสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน ซึ่งทั้งหมดคือที่มาหรือขั้นตอนของการเปิดทางไปสู่ “นายกฯคนนอก” นั่นเอง

สี่ : ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” มีลักษณะเด่นอยู่ที่ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพยายามชี้ว่าทำให้ “ทุกเสียงมีความหมาย” คะแนนจากการเลือกตั้ง ส.ส.เขตจะไม่สูญเปล่า แต่จะถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่งของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แทน คือลงคะแนนครั้งเดียวเท่ากับเลือกทั้งคนทั้งพรรค ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะคะแนนเสียงอาจถูกบิดเบือนไปเลือกคนหรือพรรคที่ไม่ชอบโดยปริยาย

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้มีแนวโน้มที่จะซื้อเสียงมากขึ้น เพราะพรรคการเมืองจะแข่งขันที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบาย รวมถึงทำให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นและมีโอกาสเกิดรัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งตัดโอกาสการเกิดของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากไม่สามารถส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตได้ทุกเขต

ห้า : องค์กรอิสระมีอำนาจกำกับดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีการกำหนดให้องค์กรอิสระสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่ารัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติ อาทิ ไม่มี “ความซื่อสัตย์สุจริต” เป็นที่ประจักษ์ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลไกควบคุมอื่นๆอีก เช่น ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เป็นไปตาม “กฎหมายว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลัง”

หก : แก้ไขรัฐธรรมนูญ “ยาก” กว่าทุกฉบับ

ปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากอีกประเด็นคือ “แก้ยากจนเหมือนแก้ไม่ได้” เพราะเงื่อนไขใหม่ต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระที่สาม นอกจากนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคอีกด้วย และบางหมวดถ้าจะแก้ไขก็ต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อนด้วย

เจ็ด : เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย

เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยคือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ส่วนประเด็นอื่นก็มีเงื่อนไขความยากง่ายที่แตกต่างกัน เช่น ต้องลงประชามติก่อน เป็นต้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีเงื่อนไขสำคัญได้แก่ เสียงของ ส.ว. และพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

2-03

ใครสามารถขอให้แก้ไขได้บ้าง?

รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ที่มีสิทธิขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน โดยการพิจารณาต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่

วาระแรก-ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.

วาระที่สอง-พิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วันจึงนำเข้าวาระสาม

วาระที่สาม-เสียงเห็นชอบ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย

แก้ไขบททั่วไป การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจศาลและองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติก่อน

ส่วนกรณีที่จะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบจึงจะสามารถประกาศใช้ได้

ด่านสุดท้าย-ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า “แก้ได้หรือไม่ได้?”

ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้ง 2 สภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือของ 2 สภารวมกันแล้วแต่กรณี เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้นนายกฯจะนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯถวายไม่ได้

ข้อสังเกต มาตรา 49 กำหนดว่า ถ้าผู้ใดทราบว่ามีบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง ผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งอาจมีการนำมาใช้ในกรณีที่มีผู้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

2-04

นักการเมือง-นักวิชาการ ชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐประหาร ซึ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศจุดยืนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลังการเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ประเทศไปต่อยาก เมื่อบ้านเมืองแย่ รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ก็เป็นวิกฤต สุดท้ายก็อาจนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญอีก สังคมไทยจะปล่อยไปเรื่อยๆรอคนมาฉีกหรือจะมาแก้เสียเอง ปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาแก้รัฐธรรมนูญ ทางแพร่ง 2 ทางที่สังคมไทยต้องเลือก ไม่ใช่แค่พรรคใดจะมีเสียงเป็นที่หนึ่งหรือสอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 คือกับดักของประเทศไทย เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ จะเป็นอุปสรรคของรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่ในอนาคต และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หากประชาชนให้การสนับสนุนก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรทำในทันที เพราะจะถูกมองจากกลุ่มที่ลงคะเเนนเสียงตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเอง จึงต้องทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างไร

โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศชัดเจนว่าต้อง “หยุดระบอบรัฐประหาร หยุดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ” ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คณะรัฐประหารสร้างเงื่อนไขให้แก้ได้ยากมาก คือเขียนให้แก้โดยไม่ให้แก้ เพราะการแก้ไขแต่ละครั้งต้องใช้เสียงของ ส.ว. ใช้เสียงของพรรคฝ่ายค้าน และอาจเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก แต่ถ้างอมืองอเท้า รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะอยู่ชั่วกัลปาวสาน

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการเสวนา “รัฐธรรมนูญไทยบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน” (14 ธันวาคม 2560) ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือ “รัฐธรรมนูญฉบับอภิชนเป็นใหญ่” ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทุกคน แต่เป็นของคนบางกลุ่ม มันสถาปนาเครือข่ายเสียงข้างน้อย ต่อให้มีการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมสู่ “ประชาธิปไตยจำแลง” เปลี่ยนเหมือนไม่เปลี่ยน

สิ่งที่รัฐธรรมนูญจะทำให้สังคมเดินหน้า ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Self-Collecting System หมายความว่ารัฐธรรมนูญมีกลไกแก้ไขในตัวมันเองคือ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นไม่มีฉบับใดสมบูรณ์เพียบพร้อมและใช้ไปตราบฟ้าดินสลาย แต่รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้น ณ สถานการณ์ใดนั้นมันทำให้มีข้อบกพร่อง เปลี่ยนแปลงได้ และในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนแก้ไขเยียวยาได้ในตัวเอง

2-05

จัดการมรดกรัฐประหาร

นายปิยบุตรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คเปิดสถานะสาธารณะเรื่อง “จัดการมรดกของคณะรัฐประหาร” 6 ข้อ (21 มีนาคม 2560) โดยระบุว่า

หนึ่ง – ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คือ

1.1 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช … เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย

1.2 เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว

1.3 เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สอง – ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ซึ่งได้รับรองให้ประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถโต้แย้งว่าคำสั่งและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมส่งผลให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีการยกเลิกมาตรา 279

สาม – ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศ คำสั่งของ คสช. ทั้งหมด โดยเริ่มจากการจำแนกประเภทประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งในกรณีประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือในกรณีมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากประกาศ/คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

หรือในกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้วย

สี่ – เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการรัฐประหาร หรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

ห้า – เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนกลับมาได้แล้วก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

หก – ให้ทบทวนพระราชบัญญัติทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2-06

กับดัก “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตั้งแต่ปี 2560-2579 ถือเป็นภาพฝันใหญ่ของรัฐบาลทหารในการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตามเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือตามคติพจน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งโดยสรุปมียุทธศาสตร์ 6 ด้านคือ

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ที่มาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ยุทธศาสตร์ชาติ” ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 ว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย ทั้งมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ “พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560” เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการจัดทำตัวยุทธศาสตร์ชาติของจริง เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานราชการต่างๆ

ทำไมต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ”?

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าใน 20 ปีข้างหน้าเราต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างไรแล้วเดินไปตามนั้น มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และทุกรัฐบาลต้องเดินไปตามนั้น จัดสรรทำแผนงาน แผนคน แผนเงิน ไปสู่จุดหมายที่วางไว้ทุกปี ทุกๆ 5 ปี โดยมียุทธศาสตร์พาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และใน 20 ปีต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ที่เพียงพอ

ใจความสำคัญเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือ

เป้าหมาย 5 ปีแรก ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆครั้งใหญ่ โดยเน้นแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ และใช้จุดแข็งของประเทศให้เกิดประโยชน์ ใช้นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายใน 10 ปี ประเทศจะต้องมีระบบเศรษฐกิจที่ดี โดยเริ่มจากการสนับสนุนการวิจัยและการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสินค้ากลุ่มเกษตรและสาธารณสุข นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องทันเทคโนโลยีและสร้างบุคลากรทางการวิจัยเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

เป้าหมายใน 15 ปี ประชากรในประเทศจะต้องเป็นประชากรที่มีคุณภาพ โดยจะพัฒนาให้บุคลากรทุกช่วงวัยมีศักยภาพสูง มีความรู้และทักษะ นอกจากนี้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดสรรทรัพยากร และกระจายบริการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง

เป้าหมายใน 20 ปี เศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้องมีเสถียรภาพ ระบบราชการของไทยจะเป็นแบบดิจิทัล มีคุณภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังได้วางแผนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในประเทศอีกด้วย

ปัญหายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ว่าเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” คสช. เพราะเป็นผู้ตั้งเอง ชงเอง และกินเอง เพื่อ “มัดตราสังฝ่ายการเมือง”

1.คนที่มีอำนาจเขียนยุทธศาสตร์ชาติคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ สรุปว่าคนที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติก็คือ คสช. และคนของ คสช.

2.รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น กรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้จะสำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา

3.iLaw ระบุว่า “ยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง” ไม่ได้ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น แต่แอบจัดทำไว้ก่อนแล้วโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยร่างฉบับที่เขียนกันไว้ก่อนแล้วก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

4.ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเขียนรับรองไว้ว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ให้ถือว่าได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

คบไฟนำทาง หรือโซ่ตรวนล่ามชาติ?

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แสดงความคิดเห็นยุทธศาสตร์ชาติว่า ถ้าเข้าไปอ่านแผนจะเศร้ามาก เพราะมันเป็นแค่ wish list ที่เขียนทุกอย่างยัดลงไปตามจินตนาการแคบๆของคนเขียน ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มี priority ไม่มีหลักใหญ่ ไม่พูดถึงการปรับและพัฒนากลไกสถาบัน

ถ้าทำตามทุกอย่างเจ๊งแน่ เพราะทรัพยากรมีไม่พอ ถ้าไม่ทำตามก็ผิดกฎหมาย (ยกเว้นเขาว่าไม่ผิด) โดยก่อนหน้านี้นายบรรยงได้ตั้งคำถามถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 ตอนหนึ่งว่า

ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ : มันจะออกมาเป็นคบไฟนำทาง หรือโซ่ตรวนล่ามชาติกันแน่?

โดยระบุว่า คำว่า “ปฏิรูป” ที่ตะโกนเพรียกหากันมาหลายปี อาจจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง เป็นรูปธรรมกับเขาบ้างเสียที หลังจากที่เคยเป็นเสมือนแค่ “นามธรรม” ที่เอาไว้ใช้โค่นล้มฝ่ายตรงข้าม กับเอาไว้สร้างความหวังลมๆแล้งๆให้คนแหงนรอมานาน การทำแผนยุทธศาสตร์ชาติครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าท่านทำได้ดีประเทศอาจจะเจริญรุดหน้าได้ดีดั่งหวัง แต่ถ้าทำได้ไม่ดีชาติอาจจะถูกฉุดให้หยุดการพัฒนาได้เลย ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะเยาวชนอาจจะต้องเจอกับ Lost Generation คือการพัฒนาต่างๆหยุดชะงักไปหลาย 10 ปีได้เลย (ถึงตอนนี้ผมไพล่นึกไปถึงแผนยุทธศาสตร์ “Burmese Way to Socialist” ของจอมพลเนวินที่ปฏิวัติพม่าในปี 2505 แล้ววางแผนยุทธศาสตร์ที่ (อ้างว่า) ใช้สังคมนิยม ชาตินิยม และพุทธศาสนาเป็นหลัก

แต่จริงๆแล้วเป็นการจรรโลงระบอบ “ทหารนิยม” ครองอำนาจยาวนาน จน 40 ปีให้หลังจากประเทศมั่งคั่ง พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนอันดับ 2 ของเอเชีย จากที่เคยรวยกว่าเรามาเหลือรายได้ต่อคนแค่ 1 ใน 6 ของไทย และทำให้นึกถึงแผนยุทธศาสตร์ “Bolivarian Mission” ของประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลา ที่ตอนแรกได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างท่วมท้น แต่อีกไม่ถึง 20 ปีให้หลัง ประเทศที่มั่งคั่งทรัพยากรที่สุดก็เละเสียยิ่งกว่าเละอย่างไม่น่าเชื่อ)

หลายคนอาจจะเห็นว่าการมาวิพากษ์วิจารณ์ก่อนที่จะเห็นแผน เห็นรูปร่างหน้าตาของแผน อาจจะเป็นเรื่อง “ตีตนไปก่อนไข้” หรือ “ติเรือทั้งโกลน ติโขนที่ยังไม่ทรงเครื่อง” แต่ผมเกรงว่าถ้าจะรอให้เห็นแผนมันจะช้าและสายเกินไป เนื่องจากเขากำหนดเวลาให้สั้นมาก และถึงเวลานั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากไม่ได้

คนร่างคนทำก็คงมีทั้งทิฏฐิและอทิฏฐิมานะเต็มไปหมดจนการปรับปรุงแก้ไขคงยากมาก ยิ่งเห็น สนช. ผ่านกฎหมายทุกทีด้วยมติ 180-0 ยิ่งทำให้น่ากลัวใหญ่ (ไม่รู้จะต้องมีสมาชิกกินเงินเดือนไปทำไม มีแค่วิปก็พอ)

นายบรรยงได้ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อคือ 1.เรื่องระยะเวลา ทำไมต้อง 20 ปี ทำไมไม่ 5-10-15 ปี รัฐธรรมนูญมาตรา 65 ก็ไม่ได้กำหนดเวลา แต่มากำหนดในกฎหมายลูก

2.เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการ 35 คน เป็นตามตำแหน่ง 18 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ซึ่งในกรรมการตามตำแหน่งนั้นเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการ 13 คน และเป็นประธาน Trade Associations 5 คนคือ ประธานสภาเกษตรกร สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาธุรกิจท่องเที่ยว และสมาคมธนาคาร

ทำไมกลุ่มธุรกิจอื่นอีกมากมายจึงไม่ได้เข้ามา จึงต้องระวังไม่ให้เกิดภาวะ “กุมรัฐ” หรือ “State Capture” ที่ถือว่าร้ายแรงพอๆกับการผูกขาด (Monopoly) …ทั้งนี้ ต้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชนด้วย

3.เรื่องความยืดหยุ่นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผน (ซึ่งต้องมีแน่ๆ) มันจะทำได้ยากมากๆ ต้องใช้เวลาขั้นตอนมากมาย ซึ่งอาจไม่ทันการ แถมถ้ากรรมการเกิดไม่อยากให้แก้ก็แก้ไม่ได้ หรือกรรมการอยากแก้ รัฐสภาไม่ให้แก้ก็ไม่ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การคาน เพราะรัฐบาลแทบไม่มีอำนาจอะไรเลยในการบริหารประเทศใน 20 ปีข้างหน้า ทุกอย่างต้องทำตามคณะกรรมการ

4.เรื่อง “การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล” ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 มาตรา 23-27 ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการที่จะกล่าวโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้เลือกเลยว่าจะยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาที่จะส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณา ซึ่งแค่ชี้มูลก็ต้องพ้นตำแหน่ง ถ้าคณะกรรมการ วุฒิสภา และ ป.ป.ช. (ซึ่งทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดยคนเดียวกัน) เห็นว่าใครต้องพ้นตำแหน่งก็จะปลดได้

นายบรรยงเตือนทิ้งท้ายว่า “เอาแค่ 4 ข้อที่ผมยกมา ก็คงพอจะเห็นได้ว่าการทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นดาบสองคมที่ผู้จัดทำต้องคำนึงถึงคมที่จะบาดตัวให้ดีตั้งแต่เริ่มต้น หาไม่แล้วแทนที่จะใช้ฟาดฟันอุปสรรคได้กลับจะทำร้ายประเทศให้สาหัสได้เลย แทนที่จะเป็นคบไฟนำทางให้ชาติ อาจกลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติไปแทน”

2-07

ใคร? “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

แผนยุทธศาสตร์ชาติจึงเหมือน “ยุทธศาสตร์ คสช.” ตามยุทธศาสตร์ควบคุม ติดตาม และลงโทษรัฐบาลที่มาจากประชาชนที่จะเดินล้ำเส้น

นักการเมืองและนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า อนาคตประเทศไทยเหมือนถูก “ตีตรวนล่ามโซ่” ไว้กับรัฐธรรมนูญปี 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกลุ่มเผด็จการอนุรักษ์นิยมฝันว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จากกรอบความคิดของกลุ่มคนไม่กี่คนซึ่งเหมือน “ผู้วิเศษ” ทั้งที่รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจมากว่า 4 ปี และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ นอกจากความเงียบสงบภายใต้อำนาจจาก “ปลายกระบอกปืน”

“รัฐธรรมนูญปี 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” จึงถูกตั้งคำถามว่าสร้างขึ้นมาเพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของชาติและประชาชนทุกคน หรือเพียงเพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของเผด็จการอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มเท่านั้น!!??


You must be logged in to post a comment Login