- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ไม่มีอะไรแน่นอน
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การแย่งชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเปิดหยั่งเสียงรอบแรกจากสมาชิกพรรคผ่านแอพพลิเคชั่นวันที่ 1-3 พฤศจิกายนนี้ ถึงตอนนี้ที่เคยมองกันว่า “อภิสิทธิ์” ชนะขาดชักไม่แน่เสียแล้ว ที่สำคัญความไม่แน่นอนนี้อาจกระทบไปถึงสัญญาลูกผู้ชายที่เคยพูดกันไว้ก่อนหน้านี้ทำนองว่าใครแพ้หยั่งเสียงรอบแรกจะถอนตัวไม่เข้าแข่งในการโหวตรอบสองในที่ประชุมใหญ่พรรควันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งผลโหวตจะมีผลตามกฎหมาย การถอนตัวหรือไม่ถอนตัวของผู้แพ้โหวตรอบแรกจะมีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก ถ้าถอนตัวแม้จะมีรอยร้าวจากการแย่งชิงเก้าอี้แต่ยังอยู่ในจุดที่พอประสานกันได้ แต่หากไม่ถอนตัวพรรคแตกแน่นอน
ในช่วงที่คอการเมืองเทความสนใจไปที่เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะละสายตาจากการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอะไรที่ว่าแน่ก็อาจไม่แน่นอนเสียแล้ว
อย่างที่ทราบกันว่าการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะทำเป็น 2 ขยัก คือเปิดให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเหมือนทำไพรมารีโหวตเบื้องต้นระหว่างผู้สมัครทั้ง 3 คน ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายนนี้
เมื่อได้ผลโหวตจากสมาชิกพรรคในรอบแรกซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายแล้ว จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อให้สมาชิกที่เป็นอดีต ส.ส. ประธานสาขาพรรค อดีตประธานสาขาพรรค และตัวแทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง โหวตรอบสอง
ก่อนหน้านี้ผู้สมัครทั้ง 3 คนคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร พูดจาทำนองเป็นสัญญาประชาคมว่าหากใครแพ้โหวตเบื้องต้นจะถอนตัวไม่เข้ากระบวนการโหวตจริงในการประชุมใหญ่ของพรรค
ช่วงหาเสียงก่อนหน้านี้หลายคนเชื่อว่านายอภิสิทธิ์คือเต็งหนึ่งที่จะได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกสมัย และเป็นเต็งหนึ่งแบบคะแนนทิ้งผู้สมัครคนอื่นไม่เห็นฝุ่น เพราะเป็นคนที่ได้รับความนิยมในวงกว้างมากกว่าผู้สมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีก 2 คน
แต่เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวล่าสุดของนายอภิสิทธิ์แล้ว ทำให้มองเห็นว่าคำว่าเต็งหนึ่งที่คนอื่นยกให้อาจมีความไม่แน่นอน
ไม่แน่นอนถึงขนาดนายอภิสิทธิ์ต้องออกมาโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า
“ผมไม่ได้ทิ้งห่าง โปรดอย่านิ่งนอนใจ อยากได้อภิสิทธิ์เข้าเส้นชัย เป็นหัวหน้าพรรค ต้องขอสมาชิกพรรคทุกท่านช่วยลงคะแนนให้ผ่านแอพพลิเคชั่น”
นอกจากข้อความที่โพสต์แล้ว ยังขอให้สมาชิกพรรคลงทะเบียนแจ้งเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์เพื่อให้ทีมงานส่งข้อความเตือนไม่ให้ลืมเข้าแอพพลิเคชั่นลงคะแนนให้นายอภิสิทธิ์อีกด้วย
มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเกิดความกังวลว่าสมาชิกที่ให้การสนับสนุนเห็นว่าคะแนนทิ้งห่างแล้วจะหลงลืมไม่ลงคะแนนให้ เพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ชนะ
อีกมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความกังวลที่เกิดจากข้อมูลจริงว่าคะแนนไม่ได้ทิ้งห่างจากผู้สมัครคนอื่นอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน
แม้แต่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนรักของนายอภิสิทธิ์ ยังต้องช่วยอีกแรงด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัวบอกเล่าถึงข้อดีของนายอภิสิทธิ์อย่างยืดยาว สรุปใจความที่ต้องการนำเสนอได้ว่าให้สมาชิกพรรคเลือกระหว่างคนที่มีอุดมการณ์ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอกกับคนที่อาจนำพรรคเว้นวรรคจากอุดมการณ์นี้
ยิ่งหากมองผ่านความเห็นของผู้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์อีกคนคือ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงความกังวลว่าคะแนนจัดตั้งอาจทำให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้มีผลออกมาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวทั้งหมด บวกกับการยืนยันกติกาเลือกหัวหน้าพรรคในที่ประชุมใหญ่วันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ไม่ใช้หลักเกณฑ์ 1 คน 1 คะแนนเสียง แต่แบ่งคะแนนเป็นสัดส่วน โดยให้น้ำหนักไปที่อดีต ส.ส. มากถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นของผู้มีสิทธิลงคะแนนอื่น ก็จะมองเห็นการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่เข้มข้น เพราะในจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนประมาณ 302 คน จำนวนอดีต ส.ส. น้อยกว่าผู้มีสิทธิอื่นเกือบเท่าตัว
ประเด็นที่น่าจับจ้องมากที่สุดในตอนนี้คือ ผู้ที่แพ้โหวตรอบแรกจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศจะถอนตัวไม่เข้าชิงในการโหวตรอบที่สอง ซึ่งผลโหวตจะมีผลตามกฎหมายหรือไม่
ถ้าถอนตัวแม้จะมีรอยร้าวจากการแย่งชิงเก้าอี้แต่ยังอยู่ในจุดที่พอประสานกันได้ แต่หากไม่ถอนตัวพรรคแตกแน่นอน
You must be logged in to post a comment Login