วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
ข่าวด่วน
- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เช็คเกียรติประวัติ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หลังรัฐประหารทำอะไรบ้าง?
On November 2, 2018
เว็ยไซต์ iLaw รายงานที่มาที่ปของ “กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” หลังจากวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์ชาติ” หรือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” ซึ่งจะมีระยะเวลาบังคับใช้ถึง 20 ปี โดยบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 – 2580 ยุทธศาสตร์ คสช. จะมี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นผู้ดูแลและควบคุมให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินการตาม
นับถึงวันที่ ยุทธศาสตร์ คสช. บังคับใช้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีจำนวน 29 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน และเป็นกรรมการที่รัฐบาล คสช. แต่งตั้ง 12 คน จากการสำรวจพบว่า นับตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ กรรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่วนใหญ่เคยผ่านการทำงานสนับสนุนรับใช้ คสช. มาด้วยตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 12 คน ที่(เคย)เป็นสมาชิก คสช.
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้การันตีที่นั่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้กับฝ่ายความมั่นคงถึงเจ็ดที่นั่ง คือ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะเกิดจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการทหารมากกว่าด้านอื่น รวมไปถึงภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นการต่อท่ออำนาจ ให้ทหารมีเอี่ยวในการบริการประเทศต่อ
ทั้งนี้ ถ้าบวกเพิ่มกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคนที่เป็นทหารจะทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้มีทหารอยู่ถึง 11 คน และมีนายทหารถึง 10 คน เป็นสมาชิก คสช. นอกจากนี้ คสช. ยังมีวิษณุ เครืองาม และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (อดีตสมาชิก) เป็นที่ปรึกษา คสช. ด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึงการที่มีสัดส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มากในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ว่า เพราะยุทธศาสตร์ชาติต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมาความไม่เข้าใจกันทำให้เกิดความเสียหาย ถ้ามีผู้บัญชาการเหล่าทัพยังติงได้ และฝ่ายนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิก็ติงผู้บัญชาการเหล่าทัพได้การมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า บ้านเมืองเราทหารเขารับรู้รับทราบเดินไปด้วยกันกับฝ่ายประชาชน หรือฝ่ายนักวิชาการ และพล.อ.ประวิตร ย้ำว่าต้องมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ “เพราะประเทศเราจะไปเหมือนใครไม่ได้”
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 8 คน ที่เป็นรัฐมนตรีรัฐบาล คสช.
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ คสช. ดำรงตำแหน่งมากที่สุดในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือจำนวนแปดคน โดยมีสองคนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้หากมีการเลือกตั้งในปี 2562 จริงตามโรดแมป และหลังจากนั้นรัฐสภาไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหลุดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเข้าดำรงตำแหน่งแทน เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร ที่ตำแหน่งของเขาจะคงอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่รัฐมนตรีอีกจำนวนหกคน คือ 1) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 2) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4) สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 5) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ 6) อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม
ซึ่ง ครม. ของพวกเขาเองได้แต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และพวกเขามีวาระการดำรงตำแหน่งถึงห้าปี กล่าวคือแม้ ครม. ชุดที่พวกเขาดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดลงแต่พวกเขาจะยังคงเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ไปจนถึงปี 2565
สำหรับการตั้งรัฐมนตรีเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิถึงหกคนนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่จัดทำรายชื่อบุคคลให้ ครม. พิจารณา กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้น หลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง จึงให้ตั้งแบบนี้ไปก่อน เพราะแต่ละคนเป็นคนที่ทำยุทธศาสตร์ชาติหกด้านมาก่อน เหมือนเป็นเจ้าของเรื่องอยู่ก่อนแล้ว ก็จะให้มาทำต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อผ่านไปสักระยะการจะลาออก หรือ ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ยากอะไร
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 13 คน ที่ คสช. ตั้งเป็นกรรมการ ป.ย.ป.
ย้อนกลับไปวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ครม.ของพลเอกประยุทธ์ เคยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ อย่างน้อยจำนวน 22 คน เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ซึ่งมีสองคน จาก 22 คน ได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
และหากย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2560 คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือการตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” โดยมีชื่อย่อว่า “ป.ย.ป.” ซึ่งเหตุผลสำคัญของการประกาศคำสั่งคือการเตรียมการปฏิรูปและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
คำสั่งนี้ได้ให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิได้ โดยมีที่ปรึกษาฯ จำนวนหกคน ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ 1) เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 2) ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) 3) กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส 4) ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 5) บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และ 6) ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ โดยห้าคนแรกจะมีวาระการทำงานถึงห้าปี
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 9 คน ที่เป็นสมาชิก สนช.
ในบรรดากรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน มีสองที่นั่งที่กำหนดโควต้าให้กับตัวแทนจากรัฐสภา คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคนที่หนึ่ง และสองตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันที่ยังไม่มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเกิดขึ้น ประธานสนช. คือ พรเพชร วิชิตชลชัย จะทำหน้าที่แทนในส่วนนี้ของรัฐสภา
จากข้อมูลพบว่าจากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 35 คน มีถึงเก้าคน ควบตำแหน่งสมาชิก สนช. (รวมประธาน สนช.) คือบรรดาตัวแทนฝ่ายความมั่นคงห้าคน
นอกจากนี้ในบรรดากลุ่มภาคธุรกิจชั้นนำที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหกคน มีจำนวนสองคน ที่เป็นสมาชิกสนช. คือ สุพันธ์ มงคงสุธี ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ปรีดี ดาวฉาย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 4 คน ที่ คสช. เคยแต่งตั้งในสภาปฏิรูปต่างๆ
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติสี่คนที่เคยถูก คสช. แต่งตั้งไปเป็นสมาชิกสภาปฏฺิรูปต่างๆ คือ
1.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคย ถูก คสช.แต่งตั้งเป็นประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)
2.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เคยถูก คสช. แต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.
3.กลินท์ สารสิน ในฐานะประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถูก คสช. แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
และคนสำคัญอย่าง 4.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อครั้งเป็นสมาชิก สปช. ได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ความสามารถในการใช้คำใหญ่ๆ ทำให้เมื่อเข้ามารับหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ก็ได้รับงานสำคัญคือ เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
ครั้งหนึ่ง สุวิทย์เคยให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์ว่า “ผมดีใจที่นายกฯ ให้ความไว้วางใจ ให้ทำงานช่วยท่านในเชิงขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง” ดังนั้นจึงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าเขาคือคีย์แมนสำคัญในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติของ คสช.คนหนึ่ง
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 4 คน ที่ควบกรรมการปฏิรูปประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องดำเนินการไปคู่ขนานกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกลางเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ
ทั้งนี้พบว่าจากรายชื่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน ณ ขณะนี้ มีสี่คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช.เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ ในด้านต่างๆ คือ 1) กานต์ ตระกูลฮุน และ 2) บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศษฐกิจ และ 4) พลเดช ปิ่นประทีป กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งสามคนแรกเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของ ป.ย.ป. ด้วย
สี่ปีกว่าของการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าของ คสช. ไม่มีอะไรมากกว่าการตั้งองค์กร หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำคนของตัวเองเข้าไปนั่งซ้อนกันไปซ้อนกันมา ซึ่งกรรมการที่ถูกแต่งตั้งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่วนใหญ่คือคนที่ คสช.แต่งตั้งเขาไปทำหน้าที่ต่างๆ มาก่อนแล้ว
เรายังไม่เห็นรูปธรรมของการพัฒนาประเทศจากคนพวกนี้ รูปธรรมอย่างเดียวคือชัดเจนว่าการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นเครื่องการันตีว่า คสช.จะยังคงสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง และการรัฐประหารครั้งนี้จะไม่เสียของ
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 12 คน ที่ร่วมเป็นคณะทำงานโครงการประชารัฐ
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. และเป็นเจ้าของแนวคิดโครงการประชารัฐ คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และลูกศิษย์สองคน คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุตตม สาวนายน รมต.อุตสาหกรรม ยกแพ็คเข้ามาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิวาระห้า
นอกจากนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สัดส่วนของภาคธุรกิจถูกล็อกไว้ให้ถึงห้าที่นั่ง ประกอบด้วย 1) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4) ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 5) ประธานสมาคมธนาคารไทย เมื่อรวมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกสามคนซึ่งมาจากภาคธุรกิจเท่ากับว่า สัดส่วนของกรรมการชุดนี้จะมีที่มาจากภาคธุรกิจถึง 8 แปดคน
ด้วยสัดส่วนของภาคธุรกิจที่มากเป็นรองเพียงแค่ทหารทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นที่รวมตัวกันของบรรดานายทุนชั้นนำ เนื่องจากกรรมการจำนวนห้าคน เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารใหญ่ คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ กรรมการหนึ่งคน เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม คือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และมีกรรมการอีกสองคน เกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ เอซซีจี เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีวาระห้าปี ก็เกี่ยวพันกับธุรกิจทั้งสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แม้โดยตำแหน่งจะอยู่ในภาคธุรกิจ แต่จากสืบค้นพบว่า ประพัฒน์ มักจะได้รับแต่งตั้งจากภาครัฐเป็นกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม เช่น คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ และกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง เป็นต้น
จากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากภาคธุรกิจทั้งหมดแปดคนมีจำนวนถึงหกคนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการประชารัฐ ถ้ารวมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 29 คน จะมีกรรมการ 12 คน ที่ร่วมโครงการประชารัฐ
โครงการประชารัฐเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจชั้นนำของประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างทหารกับนายทุนที่เข้ามาควบคุมทิศทางของประเทศ
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 3 คน ที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ เปิดตัวพร้อมด้วยสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นแกนนำพรรค ประกอบด้วย
๐ อุตตม สาวนายน รมต.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค
๐ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.วิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค
๐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมต.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค
๐ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค
นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐยังมี พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิก สปช. เข้าร่วม
รัฐมนตรีจำนวน 3 คน และอดีตสมาชิก สปช. ที่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ยังดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คือ
๐ อุตตม สาวนายน เป็น “กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ”
๐ สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็น “กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ”
๐ พลเดช ปิ่นประทีป เป็น “กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ ” กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข”
๐ กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็น “กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน” และ “กรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ”
ทั้ง 4 คน ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้ไปดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดจะนั่งควบตำแหน่งยาวไปถึงปี 2565
หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตามพวกเขาจะมีบทบาทอยู่ต่อไป
อุตตม สุวิทย์ และพลเดช จะนั่งใน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” มีอำนาจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูป
กอบศักดิ์ จะนั่งใน “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” มีอำนาจสอดส่องหน่วยงานของรัฐที่ไม่ยอมดําเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยสามารถส่งเรื่องให้ ส.ส. หรือ ส.ว. และมีมติส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. ดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ขณะที่หากการดำเนินการของ ครม. ขัดยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ ส.ส. และ ส.ว. เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
พลเดช และกอบศักดิ์ จะนั่งใน “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” อีกตำแหน่งมีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยหากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา
ด้วยเหตุนึ้ รัฐบาลเลือกตั้งหากไม่เดินตามยุทธศาสตร์ชาติ อาจพ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี นอกจากนี้ ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อีกด้วย
You must be logged in to post a comment Login