วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ลับจนไม่โปร่งใส? / โดย นายหัวดี

On November 5, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

ประเด็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพมีคำถามเรื่องความโปร่งใสมาทุกยุค ด้วยข้ออ้างเป็นเรื่อง “ยุทธวิธี” ที่เป็น “ความลับ” ไม่สามารถใช้กระบวนการตรวจสอบตามปรกติได้ ทุกครั้งที่มีข่าวทางลบในการจัดซื้อ กองทัพจะออกมาบอกว่าตรวจสอบได้ จึงมีคำถามว่าแล้วทำไมไม่เปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้อและการตรวจสอบเพื่อแก้ข้อครหาในภายหลัง

อย่างกรณี “กรมการขนส่งทหารบก” จัดซื้อจัดจ้างเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW139 จำนวน 2 ลำ จากบริษัทอากัสตาเวสต์แลนด์ เอส.พี.เอ. ประเทศอิตาลี ในปี 2555 ยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น ผบ.ทบ. วงเงินประมาณ 1,350 ล้านบาท เฉลี่ยลำละ 675 ล้านบาท ทั้งที่มีการประกาศขายทั่วไปในราคาประมาณ 396 ล้านบาท

ฝ่ายกองทัพก็ออกมาแถลงว่าไม่ได้ซื้อแพง เพราะซื้อเครื่องซิมูเลเตอร์หรือเครื่องฝึกบินและการฝึกบิน สำรองอะไหล่ 2 ปี รวมถึงอุปกรณ์เพิ่มเติม ทุกกองทัพก็ซื้อแบบนี้ แต่ “คสช.” ก็ประกาศจะสร้างความโปร่งใสแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และออกมาตรการมากมายให้หน่วยงานราชการต่างๆเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงคุณธรรม หรือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ต้องเปิดเผย “ราคากลาง” โครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่ใช้งบประมาณของแผ่นดิน

ขณะที่ “บีบีซีไทย” เปิดเผยว่า ในยุค คสช. มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้งบประมาณสูงหลายโครงการ อย่างกองทัพบกซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีนประมาณ 7,000 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์จากรัสเซียประมาณ 5,000 ล้านบาท กองทัพเรือซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งประมาณ 4,000 ล้านบาท และเรือดำน้ำ S26T จากจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท และกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ 8 ลำ มูลค่า 8,997 ล้านบาท

ความโปร่งใสของกองทัพถูก “ปิดตาย” อยู่ที่คำว่า “เรื่องลับ” และ “ความมั่นคง”


You must be logged in to post a comment Login