- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ฟอสซิลปริศนา / โดย ศิลป์ อิศเรศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 9-16 พฤศจิกายน 2561)
ฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์คือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติทำให้คงสภาพอยู่ในชั้นหินเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี แต่ฟอสซิลที่พบบางชิ้นกลับเป็นร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในยุคใหม่ที่ไม่ควรจะอยู่ร่วมสมัยกับอายุของชั้นหิน
เมืองเกลนโรส บริเวณลุ่มแม่น้ำพาลักซี รัฐเทกซัส ประเทศอเมริกา ถูกเรียกว่าไดโนเสาร์วัลเลย์ เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์จำนวนมาก แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นคือ พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้ามนุษย์ที่บริเวณนั้นด้วย
ปี 1908 จอร์จ อดัม ผู้มีบ้านพักอาศัยในเมืองเกลนโรส พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้ามนุษย์บริเวณใกล้เคียงกับที่พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์ แต่ยังไม่มีคนรู้เรื่องนี้มากนัก จนกระทั่งในปี 1938 จึงมีการนำซากดึกดำบรรพ์รอยเท้ามนุษย์มาเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว
ปัญหาก็คือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อราว 65 ล้านปีก่อนหน้าที่จะมีมนุษย์อุบัติขึ้นบนโลก โรนัลด์ เบิร์ด นักบรรพชีวิน จึงออกมาสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จนพบว่าครอบครัวอดัมทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการต้มเหล้าเถื่อนและเก็บซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์ขาย
จอร์จขายซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์ในราคา 15-30 ดอลลาร์ จนกระทั่งมันเริ่มหายาก จอร์จก็ทำการแกะสลักหินเป็นรูปรอยเท้าไดโนเสาร์ขายให้กับนักท่องเที่ยว ต่อมาในปี 1939 อเมริกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทำให้จอร์จตัดสินใจแกะสลักชั้นหินเป็นรูปรอยเท้ามนุษย์เพื่อดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว
หรือว่าจะจริง?
ฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์อยู่เคียงคู่ฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์น่าจะจบลงแค่นั้น แต่ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2000 อัลวิส เดลก์ นักโบราณคดีสมัครเล่น พบฟอสซิลรอยเท้าแอโครแคนโทซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 112-125 ล้านปีก่อน ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำพาลักซี และใกล้ๆกันนั้นเขาพบฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์ความยาว 11 นิ้ว
ซากฟอสซิลทั้ง 2 ชิ้นถูกส่งไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งยืนยันว่าเป็นซากฟอสซิลของจริงอย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องนี้จึงถูกนำมาถกเถียงกันอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังคงตั้งข้อสงสัยว่าฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์นั้นถูกทำขึ้นมาภายหลัง
เดวิด เมย์ เชื่อว่าอัลวิสพบฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์บนก้อนหินที่อยู่ห่างออกไปจากลุ่มแม่น้ำ ไม่ได้พบบนชั้นหินที่เดียวกับที่พบฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งหมายความว่าฟอสซิล 2 ชิ้นนี้เกิดขึ้นต่างกาลเวลา
ปี 2008 เดวิดนำฟอสซิลทั้ง 2 ชิ้นมาตรวจสอบด้วยเครื่องซีทีสแกน พบว่าความหนาแน่นของชั้นหินบนรอยเท้าของฟอสซิลแตกต่างกัน ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าฟอสซิลทั้ง 2 ชิ้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ฟอสซิลสวมรองเท้า
ปี 1980 เจอร์รี สโตน พนักงานบริษัทคอร์เวตต์ออยล์ พบฟอสซิลเท้ามนุษย์อายุ 40 ล้านปี ในเมืองไอราแอน รัฐเทกซัส ที่แปลกก็คือเท้ามนุษย์นี้สวมรองเท้าบู๊ตที่ยังมีสภาพดี ไม่ได้แข็งเป็นหินเหมือนกับเท้าที่สวมใส่มันอยู่ ฟอสซิลชิ้นนี้ต่อมาถูกเรียกว่า Limestone Cowboy หรือโคบาลหินปูน
ต้องใช้เวลาหลายล้านปีที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตกลายสภาพเป็นฟอสซิล หากเท้าที่พบมีอายุ 40 ล้านปี รองเท้าบู๊ตที่สวมใส่ก็คงทำมาจากหนังไดโนเสาร์ แต่เมื่อพิจารณาจากการตัดเย็บที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองก็สามารถสืบพบได้ว่ามันผลิตขึ้นโดยบริษัท เอ็ม. แอล. แลดดี้ ตั้งอยู่ที่เมืองซานแอนเจโล รัฐเทกซัส
บริษัท เอ็ม. แอล. แลดดี้ ไม่ได้มีอายุเก่าแก่ 40 ล้านปีแน่ๆ มันเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1936 การเย็บลวดลายรองเท้าแบบ 10 ฝีเข็มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของรองเท้าบู๊ตที่ผลิตในช่วงทศวรรษ 1950 แต่ฟอสซิลเท้าอายุ 40 ล้านปี เข้าไปอยู่ในรองเท้าบู๊ตอายุไม่กี่สิบปีได้อย่างไร ไม่มีใครสามารถบอกได้ บางคนพยายามให้คำอธิบายว่าฟอสซิลนี้ถูกพบในหนองน้ำซึ่งมีตะกอนแร่ธาตุบางอย่างทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อทำให้มันกลายสภาพเป็นฟอสซิล
ซากบนรองเท้า
วันที่ 1 มิถุนายน 1968 วิลเลี่ยม ไมสเตอร์ พบฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์บนชั้นหินอายุระหว่าง 300-600 ล้านปี ในเมืองแอนติโลบสปริง รัฐยูทาห์ มันไม่ใช่เป็นแค่รอยเท้ามนุษย์ หากแต่เป็นรอยเท้าที่สวมรองเท้า
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์เพิ่งมีบนโลกเมื่อราว 1-2 ล้านปีก่อน มนุษย์เพิ่งรู้จักประดิษฐ์รองเท้าเมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง ฟอสซิลรอยรองเท้ามาอยู่บนชั้นหินอายุ 300-600 ล้านปีก็นับว่าประหลาดมากพอดู แต่เมื่อผ่าหินฟอสซิลออกก็ยิ่งประหลาดใจยิ่งขึ้น เพราะพบฟอสซิลไทรโลไบต์ สัตว์ทะเลที่สูญพันธุ์ไปเมื่อราว 280 ล้านปีก่อน
นั่นหมายถึงว่าผู้สวมใส่รองเท้าเหยียบตัวโทรโลไบต์ตอนที่มันยังมีชีวิต แต่รองเท้าหรือแม้กระทั่งมนุษย์และโทรโลไบต์ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีอธิบายว่า ก้อนหินที่วิลเลี่ยมพบนั้นมีรูปร่างคล้ายรอยรองเท้าเท่านั้น แต่มันไม่ใช่รอยรองเท้าจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ตรงกันข้ามกับผู้ที่ศรัทธาในลัทธิรังสรรค์นิยมที่มีความเชื่อว่าโลกมีอายุไม่กี่หมื่นปี พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์และไดโนเสาร์เคยอาศัยอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาเดียวกัน การพบฟอสซิลมนุษย์และไดโนเสาร์ในที่เดียวกันเป็นหลักฐานพิสูจน์ความเชื่อนี้
1.รอยเท้ามนุษย์ริมแม่น้ำพาลักซี
2.เจ้าหน้าที่นำรอยเท้าไดโนเสาร์ไปเก็บรักษา
3.ฟอสซิลรอยเท้าแอโครแคนโทซอรัส
4.ฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์พบข้างรอยเท้าแอโครแคนโทซอรัส
5.ฟอสซิลเท้าในรองเท้าบู๊ต
6.ลวดลายแบบ 10 ฝีเข็ม
7.ฟอสซิลเท้ามองจากด้านบน
8.ฟอสซิลรอยรองเท้าและไทรโลไบต์
9.ไทรโลไบต์
You must be logged in to post a comment Login