- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ใครไม่พร้อมยกมือ
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 19 พ.ย.2561)
การรวมกลุ่มกันของพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ชื่อไม่คุ้นหูประชาชนในนาม “สหพรรคการเมืองไทย” ที่จะยื่นเรื่องให้ กกต. เลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า แม้จะเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ก็มีคำถามกับพรรคการเมืองเหล่านี้ว่าถ้าเลื่อนให้จะมีความพร้อมลงแข่งขันจริงหรือไม่ ถ้าเลื่อนออกไปแล้วยังไม่พร้อม ไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเสนอให้เลื่อนเพื่ออะไร ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเลื่อนเลือกตั้งใครจะรับผิดชอบ
ขณะที่ธงจัดเลือกตั้งยังถูกปักแน่นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า โดยผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่มีเหตุปัจจัยให้เลื่อนเลือกตั้ง
แต่ก็ดูเหมือนว่าความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปยังคงมีอยู่
แม้จะเลื่อนออกไปไม่ได้มากเพราะต้องทำตามกรอบกฎหมายที่กำหนดให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือวันที่ 11 ธันวาคมนี้ แต่ก็ยังมีความพยายามให้เลื่อนโดยยกเหตุผลความไม่พร้อม
ทั้งนี้ หากจะถามว่าใครบ้างที่ไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
คำตอบเดียวที่พบในตอนนี้มีเพียงพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่ใช่ผู้เล่นหลักในสนามเลือกตั้ง ขณะที่พรรคใหญ่ๆที่ถือเป็นผู้เล่นหลักต่างมีความพร้อมและกระหายที่จะลงสนามแข่งขัน
ส่วนข้อกังวลที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เสร็จ อาจทำให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปนั้น
กรณีนี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่าจะไม่ใช่ประเด็นที่ใช้เลื่อนเลือกตั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ขยายเวลาให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง จากเดิมที่ต้องเสร็จตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขยายเวลาให้ถึงวันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม
ถ้าดูตามที่ กกต. เคยชี้แจง แม้จะขยายเวลาออกไปไม่มาก แต่น่าจะทำให้ กกต. สามารถประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้
ส่วนข้อกังวลเรื่องการทำไพรมารีโหวตคัดตัวผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ากว่ากำหนด ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับเดียวกันได้ขยายเวลาการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองออกไปจนถึงก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้ง
อุปสรรคที่เกี่ยวกับเงื่อนเวลาได้รับการคลี่คลายไปแล้ว
เหตุปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปจึงเหลือแค่ความต้องการของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่ได้เป็นผู้เล่นหลักในสนามการเมือง ซึ่งตามข่าวระบุว่าจะมีประมาณ 20 พรรคที่จะเข้าชื่อกันในนาม “สหพรรคการเมืองไทย” ยื่นให้ กกต. พิจารณาเลื่อนเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นวันที่ 5 พฤษภาคม
พรรคการเมืองที่ร่วมกันเคลื่อนไหวในนามสหพรรคการเมืองไทย เช่น พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคคนรุ่นใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังไทยดี พรรคของประชาชน พรรคไทยมั่นคง พรรคแผ่นดินธรรม พรรคไทยใหม่ พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นต้น
ความต้องการของพรรคการเมืองเหล่านี้จะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนต้องอยู่ที่การพิจารณาของ กกต. ที่สำคัญไม่มีใครยืนยันได้ว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไปตามความต้องการแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้จะพร้อมลงเลือกตั้งหรือไม่ จะส่งตัวแทนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งหรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคตั้งใหม่และพรรคเล็กๆจำนวนมากที่ตั้งมาแล้วยุบไปโดยที่ไม่เคยส่งผู้สมัคร ส.ส.
คำถามคือการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก 2 เดือนเศษจะทำให้พรรคการเมืองเหล่านี้มีความพร้อมมากขึ้นหรือไม่ ถ้าเลื่อนออกไปแล้วยังไม่พร้อม ไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเสนอให้เลื่อนเพื่ออะไร
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเลื่อนเลือกตั้งใครจะรับผิดชอบ?
You must be logged in to post a comment Login