วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อำนาจแค่สงสัย?

On November 20, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 20 พ.ย.2561)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “ศรีอัมพร ศาลิคุปต์” ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ จะให้ความเห็นว่า “ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่รัฐบาลทหารอ้าง “ความมั่นคง” เป็นสำคัญจะถูกต่อต้านมากมาย

เพราะให้คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากมาย สามารถตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำ บังคับบอกรหัสเพื่อเปิดข้อมูลได้หมดโดยไม่ต้องมีหมายจับหมายค้น แม้คดีจะยังไม่เกิด แต่แค่ “สงสัย” ก็สามารถเข้าไปตรวจค้นยึดได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน บริษัท ประชาชนทั่วไป ถือเป็นการเข้าไปยึดเพื่อตรวจสอบแจ้งข้อหาทีหลัง ยึดแล้วเอาข้อมูลไป ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ใช่ระบบสากล เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

จึงต้องดูว่าการเเก้ไขและเสนอเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้จะออกมาอย่างไร ซึ่ง “ผู้พิพากษาอาวุโส” เห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนก็มีความเป็นห่วงว่าถ้าออกกฎหมายลักษณะแบบนี้มาจะเกิดความเสียหายจนประเทศอื่นๆไม่กล้าคบหาสมาคมด้วย

ขนาดจีนซึ่งมีระบอบการปกครองเเตกต่างยังไม่กล้าใช้อำนาจแบบสุดกู่ เนื่องจากเป็นหลักการที่ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะการค้าการลงทุนจะได้รับความเสียหาย ซึ่งมูลค่าทางการค้าของเเต่ละบริษัทรวมๆแล้วนับแสนล้านดอลลาร์ เพราะอาจเกิดข้อมูลรั่วไหลจนเกิดคดีความเเละถูกข้อครหาต่างๆที่มาจากการนำข้อมูลไปขาย

เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่เพิ่งออกกฎหมายป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ก็เน้นแก้ไขทางเทคนิคที่อาชญากรไซเบอร์มุ่งโจมตีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในเซิร์ฟเวอร์

“กฎหมายไซเบอร์” ของ “ประเทศกูมี” ที่ชักเย่อกันมาแล้วหลายรอบ จึงถูกมองว่าร้ายยิ่งกว่ากรณี “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” ออกมาแฉข้อมูลลับการสอดแนมของสภาความมั่นคงสหรัฐ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐแบบครอบจักรวาล!


You must be logged in to post a comment Login