วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ระบอบอำนาจนิยม!

On November 21, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 พ.ย.2561)

“ศรีอัมพร ศาลิคุปต์” ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ แสดงความกังวล “ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” หรือ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” โดยย้ำว่าการให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลถือเป็นการล่วงเกินต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักนิติธรรมสากล

แม้กฎหมายจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้งาน แต่ก็อันตรายอย่างยิ่ง เพราะหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและภาคเอกชนจะถูกละเมิดโดยง่าย แต่ละคดีสามารถดูได้เป็นรายคดี ไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปจับเลย อย่างในอดีตให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจจับก่อนแล้วแจ้งข้อหาทีหลัง ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับ จึงมีการแก้ไขวิธีพิจารณาคดีอาญาต้องขอหมายจับ หมายค้นของศาลก่อน และหลังจับต้องส่งศาลไม่เกิน 48 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาว่าสมควรให้ขังหรือไม่ กลไกตรวจสอบถ่วงดุลเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจจึงจำเป็น

หาก “พ.ร.บ.ไซเบอร์” ไม่แก้ไขก็จะส่งผลกระทบมากมาย อาทิ ทำลายหลักการและโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัวถูกทำลาย ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยล้มเหลว

ทำให้โครงสร้างการปกครองจากนิติรัฐกลายเป็นรัฐตำรวจ ผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายบริหารจะใช้กฎหมายนี้กำราบปราบปรามศัตรูทางการเมือง ศัตรูทางความคิดที่ไม่ตรงกับผู้ปกครองได้โดยง่าย

ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไป เป็นระบอบคณาธิปไตย ขัดธรรมเนียมปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ประเทศที่นิยมประชาธิปไตยถือปฏิบัติ

เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนจากประเทศอื่น เนื่องจากเกิดความไม่วางใจในการถูกล่วงละเมิดความลับทางการค้า ทางลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตร ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและเครือข่ายการทำธุรกิจ นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามและไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย

จึงไม่แปลกที่ที่ผ่านมาจะมีการต่อต้าน “พ.ร.บ.ไซเบอร์” ฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้รัฐเผด็จการอาจดูเป็นเรื่องจำเป็น เพราะความเคยชินกับการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แต่ในระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางครบถ้วนทุกด้าน

ไม่ใช่การรับฟังความเห็นแบบราชการไทยหรือรัฐไทยที่แทบทุกเรื่องจะมีคำถามเรื่องความโปร่งใสและรอบด้านหรือไม่?

โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆที่ออกภายใต้ระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือกฎหมายที่ผ่านสภา ก็ถูกมองว่าเป็น “สภาลากตั้ง” ที่ไม่ต่างอะไรกับ “สภาฝักถั่ว”!


You must be logged in to post a comment Login