วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แจกแหลก

On November 22, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 22 พ.ย.2561)

ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีรัฐประหาร 2 ครั้ง พร้อมๆกับวาทกรรมว่า “ระบอบทักษิณ” เป็น “ทุนสามานย์” ที่รุมกระหน่ำนโยบาย “ประชานิยม” และ “ทักษิโณมิกส์” เลวร้ายชั่วร้ายต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน เผด็จการรัฐสภา การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ฯลฯ

นโยบาย “ประชานิยม” บ่อนทำลายชาติ เพราะมุ่งหาเสียงจากคนจน คนชนบท และคนชั้นกลาง เช่น นโยบายรักษาทุกโรค 30 บาท นโยบายรถคันแรก นโยบายรับจำนำข้าว การปรับค่าแรงขั้นต่ำ หรือเงินเดือนปริญญาตรีหมื่นห้า ฯลฯ

วันนี้นโยบาย “ประชานิยม” ก็ยังอยู่ในใจประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนยากจนและคนชนบท จึงไม่แปลกที่รัฐบาลฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเห็นต่างจะนำไปลอกเลียนและดัดแปลงเป็นนโยบายเพื่อสร้างความนิยม

รัฐบาลทหารขณะนี้ก็ถูกมองว่านโยบาย “ประชารัฐ” ลอกนโยบาย “ประชานิยม” ทั้งยังใช้งบประมาณมากกว่าอีกด้วย อย่างเช่น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งการช่วยเหลือคนยากจน คนสูงอายุ และคนไร้ที่พึ่ง ล้วนเป็นเรื่องที่ดี ล่าสุดใช้งบประมาณ 86,994 ล้านบาท เพื่อแจกเงิน 500 บาทให้กับผู้ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” อ้างว่าเป็นเรื่องจำเป็นต้องแจก เพราะประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องดูแลผู้มีพระคุณ แต่ก็มีคำถามว่าทำไมจึง “แจกแหลก” ในช่วงนี้ เหมือนปรากฏการณ์ “ดูดแหลก”

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญ แบ่งเป็น 2 มาตรการคือ ให้สามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือนเป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 100,000 บาท มีผู้ได้สิทธิ 659,000 คน เป็นเงิน 20,000 ล้านบาท ทั้งเติมเงินข้าราชการบำนาญที่ได้บำเหน็จต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้เป็น 10,000 บาท จำนวน 52,700 คน ใช้วงเงิน 558 ล้านบาท

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่มีเงาทะมึน “เฮียกวง” อยู่ด้านหลัง เคยโพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงความแตกต่างระหว่างนโยบาย “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ” ว่า “ประชานิยม” มุ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า         ส่วน “ประชารัฐ” ดำเนินการตามบันได 3 ขั้น “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ขั้นที่หนึ่ง “พึ่งพาตนเอง” ขั้นที่สอง “พึ่งพากันเอง” และขั้นที่สาม “รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง”

นโยบายช่วยเหลือประชาชนและข้าราชการถือเป็นเรื่องที่ดีหากเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจและแก้ปัญหาให้เกิดการพึ่งพากันเองอย่างทั่วถึงทุกฝ่ายจริง ไม่เหมือน “โครงการขนาดใหญ่” มากมายที่กระจุกอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มจนเป็นที่มาของวาทกรรมฮิต “รวยกระจุก จนกระจาย”

เข้าทำนอง “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”!


You must be logged in to post a comment Login