- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 23 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ยางดำ ยางดี
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2561)
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมปัจจุบันยางรถยนต์ส่วนใหญ่จึงมีแต่สีดำ ทั้งๆที่บรรดารถคลาสสิกล้วนใช้ยางขอบขาวหรือแม้แต่ขาวทั้งเส้นก็ยังมี ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นเหตุ
ในชีวิตประจำวันเราเคยได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและยางมีสีสันต่างๆ ทั้งเขียว แดง เหลือง น้ำเงิน ฯลฯ โดยใช้การย้อมสีหรือใส่สารเคมีบางอย่างเพื่อสร้างสีที่ต้องการ แต่ทำไมยางรถยนต์จึงผลิตแต่สีดำเท่านั้น
จริงอยู่ที่มีการผลิตยางรถยนต์สีสันต่างๆออกวางขายในตลาดอยู่บ้าง แต่ผลิตออกมาในจำนวนน้อยเพื่อสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม จุดประสงค์เพื่อความสวยงาม ไม่เหมาะกับการใช้ขับขี่ประจำวัน ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์
ยางรถยนต์ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1895 ยางรถยนต์รุ่นแรกๆเป็นสีขาวทั้งเส้น เนื่องจากมันคือสีของน้ำยางที่เป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตยางรถยนต์ ดังจะเห็นได้จากยางรถยนต์ Ford รุ่นแรก Model A ซึ่งผลิตในปี 1903 เป็นยางสีขาวทั้งเส้น
ยืดอายุใช้งาน
ยางรถยนต์รุ่นแรกๆมีอายุการใช้งานแค่ 5,000 ไมล์เท่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยของระยะทางผู้ใช้รถยนต์อยู่ที่ 12,000-15,000 ไมล์ต่อปี ดร.เบนจามิน แฟรงกลิน กู๊ดริช เจ้าของบริษัทผลิตยางรถยนต์ บี.เอฟ.กู๊ดริช คิดค้นการใช้สารซิงก์ออกไซด์ผสมลงในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ เพื่อยืดอายุการใช้งานและทำให้ยางรถยนต์มีสีขาวสดใสมากยิ่งขึ้น
ปี 1904 เอส.ซี. มอต นักเคมีบริษัทซิลเวอร์ทาวน์ ประเทศอังกฤษ คิดหาวิธีเปลี่ยนสีผลิตภัณฑ์ยางด้วยการเติมคาร์บอนแบล็กลงในกระบวนการผลิตเพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นสีเทา แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาดีกว่าที่คาดหวัง เพราะมันสามารถยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์
เอส.ซี. มอต สั่งซื้อคาร์บอนแบล็กมาจากบริษัทบินนีย์และสมิธ บริษัทผลิตดินสอสีเทียนชื่อดังของอเมริกา เจ้าของผลิตภัณฑ์ดินสอสีเทียนยี่ห้อเครโยลา แต่คาร์บอนแบล็กยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ จนกระทั่งบริษัทไดมอนด์รับเบอร์ขอซื้อลิขสิทข์จากซิลเวอร์ทาวน์ในปี 1910
ปี 1911 บริษัทไดมอนด์รับเบอร์สั่งซื้อคาร์บอนแบล็กจากบริษัทบินนีย์และสมิธ โดยเซ็นสัญญาซื้อคาร์บอนแบล็กปริมาณ 1 ล้านปอนด์ต่อปี เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ นับว่าเป็นบริษัทแรกของโลกที่นำคาร์บอนแบล็กมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ แต่คนส่วนใหญ่ให้เครดิตบริษัท บี.เอฟ.กู๊ดริช มากกว่า เนื่องจากบริษัทไดมอนด์รับเบอร์และบริษัท บี.เอฟ.กู๊ดริชควบรวมกันในปี 1904
เคล็ดลับเขม่าดำ
บริษัทผลิตดินสอสีเทียนมีความเกี่ยวข้องกับคาร์บอนแบล็กเนื่องจากมันเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำหมึกและดินสอสีดำ เอ็ดวิน บินนีย์ เป็นบุตรของโยเซฟ บินนีย์ เจ้าของบริษัท พีกสกิล เคมิคัล เวิร์กส์ ผู้ผลิตน้ำหมึกรายใหญ่ ส่วนซี. ฮาโรลด์ สมิธ มีศักดิ์เป็นหลาน
หลังจากโยเซฟเกษียณ เอ็ดวินและฮาโรลด์ก็จับมือกันก่อตั้งบริษัทบินนีย์และสมิธผลิตสีทาโรงนาและน้ำหมึกยี่ห้อ Peerless โดยมีเขม่าดำหรือคาร์บอนแบล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต จากการที่ต้องใช้คาร์บอนแบล็กเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตคาร์บอนแบล็กเองในปี 1891
อลิซ บินนีย์ ภรรยาของเอ็ดวิน มีอาชีพเป็นครู เธอมักประสบปัญหาฝุ่นชอล์กจากการเขียนกระดานดำ และพบว่านักเรียนมีปัญหากับดินสอในสมัยนั้นที่มีลักษณะปลายแกรไฟต์หรือแร่ดินสอดำเป็นทรงสี่เหลี่ยม เธอจึงนำปัญหานี้มาปรึกษากับสามี
ปี 1902 บริษัทบินนีย์และสมิธคิดค้นดินสอสีดำยี่ห้อ Staonal ต่อมาในปี 1903 เพิ่มสีลงไปกลายเป็นดินสอสีเทียนหลากหลายสีสันยี่ห้อเครโยลา และในปี 1904 ผลิตชอล์กไร้ฝุ่นยี่ห้อ An-Du-Septic ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดนวัตกรรมใหม่ประจำปี 1904
ดินสอสีเทียนเครโยลาไม่ได้ขายดีเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น แต่มันเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักบริษัทบินนีย์และสมิธในฐานะผู้ผลิตดินสอสีเทียนเครโยลา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเป็นผู้ส่งออกคาร์บอนแบล็กรายใหญ่ของโลก
ขาดแคลนซิงก์ออกไซด์
บริษัท บี.เอฟ.กู๊ดริช ผลิตยางที่มีหน้ายางผสมคาร์บอนแบล็ก ส่วนแก้มยางยังคงใช้ซิงก์ออกไซด์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ยางรถยนต์ที่ผลิตในปี 1912 มีหน้ายางดำและขอบขาว ยาง 2 สีได้รับความนิยมเกินคาด กลายเป็นแฟชั่นที่เจ้าของรถยนต์อยากมีไว้ครอบครอง ยางขอบขาวถูกติดตั้งเฉพาะในรถยนต์รุ่นหรูเท่านั้น
มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพอเมริกันต้องการใช้ซิงก์ออกไซด์จำนวนมากในการผลิตกระสุนปืน ทำให้เกิดการขาดแคลน บริษัทผลิตยางรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆจึงต้องหันมาใช้คาร์บอนแบล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางรถยนต์เพื่อทดแทนการใช้ซิงก์ออกไซด์
ยางไฟร์สโตน รุ่นบอลลูน ผลิตยางขอบขาวกว้างเกือบ 5 นิ้ว ขณะที่บริษัทอื่นๆผลิตยางขอบขาวกว้างเพียงแค่ 3 นิ้ว เมื่อเวลาผ่านไปขนาดของขอบขาวก็ยิ่งเล็กลง ช่วงระหว่างปี 1954-1956 มาตรฐานความกว้างขอบขาวอยู่ที่ 2.5 นิ้ว และระหว่างปี 1957-1961 มาตรฐานขอบขาวก็ลดลงไปอีกหน่อยเหลือแค่ 2.25 นิ้ว
ปี 1962 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ มาตรฐานยางขอบขาวลดขนาดครั้งมโหฬารเหลือความกว้างแค่ 1 นิ้วเท่านั้น แต่ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ยางขอบขาวถูกลดขนาดลงเหลือแค่ 3/8 นิ้ว และถูกติดตั้งเฉพาะกับรถยนต์หรูราคาแพงเท่านั้น
คาร์บอนแบล็กเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยางรถยนต์มีสีดำ มันทำให้เนื้อยางแข็งแรงและทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ส่วนยางขอบขาวถูกออกแบบมาเพื่อความสวยงาม มีความทนทานน้อยกว่ายางที่มีสีดำทั้งเส้น ด้วยเหตุนี้เองยางรถยนต์ในปัจจุบันจึงมีแต่สีดำเท่านั้น
1.Ford Model A ปี 1903 ใช้ยางสีขาวทั้งเส้น
2.Duesenberg Model J ปี 1931 ใช้ยางขอบขาว
3.ยางขอบขาว ¾ นิ้ว
4.ยางรถยนต์หลากสีสัน
5.โรงงานผลิตคาร์บอนแบล็ก
6.น้ำหมึกยี่ห้อ Peerless
7.ดินสอสีดำยี่ห้อ Staonal
8.ชอล์กไร้ฝุ่นยี่ห้อ An-Du-Septic
9.ดินสอสีเทียนยี่ห้อเครโยลา
10.โรงงานผลิตคาร์บอนแบล็กของบินนีย์และสมิธ
11.โฆษณายางขอบขาวกู๊ดริชให้เครดิตบริษัทซิลเวอร์ทาวน์
You must be logged in to post a comment Login