- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
โพลกับของจริง
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 27 พ.ย.2561)
การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทางการเมืองถือเป็นเรื่องปรกติที่หลายสำนักทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ผลที่ออกมาก็มักเรียกความสนใจได้ไม่น้อย ทั้งที่ผลการสำรวจที่ได้อาจไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนมากมายที่จะกำหนดผลการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ของกรรมการ การใช้กฎกติกาบางข้อที่เขียนให้คุณให้โทษกับผู้แข่งขัน ที่สำคัญบางทีมอาจถูกตัดสิทธิออกจากการแข่งขัน เพราะเห็นมีข่าวจากฝั่งที่เคยได้รับประโยชน์จากการตัดสิทธิคู่แข่งแย้มๆออกมาว่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรคถูกยุบแน่นอน
ถ้าเปรียบการเมืองเหมือนการแข่งขันฟุตบอล เมื่อวานที่ผ่านมา (26 พ.ย.) คือวันสุดท้ายของการซื้อขายตัวนักเตะ ทำให้คอการเมืองได้เห็นภาพชัดเจนแล้วว่าใครย้ายไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง
หลังจากนี้จะเข้าสู่การเตรียมทีมเพื่อลงแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่กุนซือแต่ละทีมจะวางแผนการเล่นเพื่อให้ได้แต้มมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ทั้งนี้ หากดูตามผลสำรวจความเห็นของประชาชนล่าสุดที่สำนักดังอย่างนิด้าโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ทำออกมาก่อนตลาดซื้อขายปิดตัว ผลปรากฏว่าคะแนนของทีมแชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทยยังมาเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 31.75 ส่วนอันดับสองเป็นพรรคน้องใหม่อย่างพลังประชารัฐ ร้อยละ 19.92 อันดับสามเป็นพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ร้อยละ 16.98 ตามติดด้วยพรรคใหม่มาแรงอย่างอนาคตใหม่ ร้อยละ 15.63 ขณะที่ไทยรักษาชาติอยู่อันดับแปด รวมพลังประชาชาติไทยอยู่อันดับเก้า
หากยึดตามผลโพลและดูผลคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่ถูกแบ่งออกเป็นสองข้างอย่างชัดเจน พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะกำชัยชนะในการเลือกตั้ง
แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่าย เพราะพรรคกลางๆที่พร้อมเข้าร่วมงานได้กับทุกขั้ว อยู่ที่ว่าพอใจข้อเสนอของฝ่ายไหน มีคะแนนรวมกันแล้วพอที่จะเป็นตัวแปรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไปรวมกลุ่มกับพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นขั้วที่สามสามารถชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน
ขณะที่ความนิยมในตัวบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นถือว่าสอดคล้องกับคะแนนความนิยมของพรรคการเมือง เมื่อร้อยละ 25.16 เลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากค่ายเพื่อไทย รองลงมาร้อยละ 24.05 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ยังไม่ประกาศสังกัดค่ายการเมืองใด ร้อยละ 14.52 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 11.67 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.90 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจนี้ดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งอยู่บ้างเมื่อพบว่าร้อยละ 61.67 อยากได้พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ร้อยละ 38.33 อยากได้พรรคการเมืองเก่า เพราะมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ เคยเห็นผลงานมาแล้ว
ที่สำคัญผลโพลนี้อาจใช้ชี้วัดอะไรไม่ได้แม้จะเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีสิทธิเลือกตั้ง กระจายสำรวจทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทุกระดับการศึกษาและอาชีพ แต่ก็ใช้ตัวอย่างในการสำรวจเพียง 1,260 ตัวอย่างเท่านั้น ขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริงมีอยู่มากกว่า 50 ล้านคน 1,260 คนที่ตอบแบบสอบถามจึงห่างไกลจากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูตัวผู้เล่นที่แต่ละพรรคการเมืองจะส่งลงสนามแล้ว โอกาสที่ผลการเลือกตั้งจริงจะสวนทางกับผลโพลก็มีความเป็นไปได้ เพราะในวันแข่งขันนอกจากตัวบุคคลที่จะลงแข่งกันแล้วยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดผลแพ้ชนะด้วย เช่น การทำหน้าที่ของกรรมการ และการใช้กฎกติกาบางข้อที่เขียนมาให้คุณให้โทษกับผู้ลงแข่งขัน
ที่สำคัญบางทีมอาจถูกตัดสิทธิจากการแข่งขัน เพราะเห็นมีข่าวจากฝั่งที่เคยได้รับประโยชน์จากการตัดสิทธิคู่แข่งขันแย้มๆออกมาว่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรคถูกยุบแน่นอน
You must be logged in to post a comment Login