องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นหมู่เกาะและมีภูมิประเทศอยู่ติดกับชายฝั่ง ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังกว่านี้เพื่อบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสัตว์จากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เนื่องในวันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พ.ย.ของทุกปี
จากกรณีโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ และคลื่นยักษ์สูง 6 เมตรถล่มเกาะสุลาเวสีของอินโดเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000คน มีชาวบ้านที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่กว่า 70,000 คน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นนี้ มาจาก ระบบเตือนภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนในเมืองปาลูและเมืองดองกาลา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยได้ว่าจะเกิดสึนามิ ทำให้ไม่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนแต่ยังรวมถึงสัตว์อีกนับพันที่เสียชีวิต และ อีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกทอดทิ้ง มีชีวิตอยู่โดยปราศจากอาหารและน้ำ
“โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่เกาะสุลาเวสี เป็นอีกบทเรียนแห่งความสูญเสียที่ย้ำเตือนถึงความสำคัญในการตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ รวมถึงการรณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจให้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติรวมถึงสัตว์เลี้ยงสามารถเอาชีวิตรอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ “ สตีฟ แม็คไอวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวพร้อมเสริมว่าหลังเกิดเหตุสึนามิถล่มอินโดนีเซีย ทีมสัตวแพทย์ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ลงไปยังพื้นที่เมืองปาลูเพื่อเข้าช่วยเหลือสัตว์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดจนสัตว์เลี้ยง,วัว-ควายและแพะที่ได้รับบาดเจ็บและป่วยกว่า 3,000 ตัวจากภัยพิบัติ
“ทันทีที่เราไปถึงเมืองปาลู เราได้ประจักษ์ด้วยตาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสึนามิที่พัดถล่มจากชายฝั่งเข้ามา 500 เมตร เราเห็นผู้ประสบภัยและสัตว์ในพื้นที่ต่างตกอยู่ในสภาพช็อก และยังคงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง”นายสัตวแพทย์ ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม ผู้จัดการโครงการการจัดการภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกถ่ายทอดประสบการณ์จริงๆจากการลงพื้นที่
นอกจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ยังได้ทำงานร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์แห่งสุลาเวสี เพื่อหามาตรการลดความเสี่ยงที่จะไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก ด้วยการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับคนในชุมชนเท่าทันถึงความอันตรายและความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะสึนามิ แทนที่จะพึ่งพาระบบเตือนภัยเพียงอย่างเดียว ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งควรเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยสึนามิได้ดีกว่า เมื่อใดที่เกิดแผ่นดินไหวให้เตรียมพร้อมอพยพขึ้นที่สูงทันที
ทั้งนี้การหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติซึ่งจะกระทบต่อชีวิตคนและสัตว์
เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกดำเนินการมาตลอด ทั้งในสุลาเวสี และอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก เพราะจากประสบการณ์ลงพื้นที่ประสบภัย มักพบว่าชาวบ้านไม่เพียงเพิกเฉยกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ หลายครั้งในยามคับขันยังเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นทั้งเพื่อนที่ดีและแหล่งรายได้ในการดำรงชีพ
You must be logged in to post a comment Login