วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จุดเด่นหรือจุดดับ

On December 5, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 5 ธ.ค. 61)

ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายกับการที่พรรคพลังประชารัฐจะเอาชื่อ “ประยุทธ์” ไปใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประเด็นที่ยังเป็นคำถามคือ การเปิดตัวในครั้งนี้จะช่วยสร้างหรือฉุดความนิยมของพรรคให้มากขึ้นหรือไม่ จริงอยู่ว่าผู้สมัคร ส.ส. ที่ดึงมาจากพรรคอื่นส่วนมากเป็นพวกดาวฤกษ์ มีแสงในตัวเอง ไม่ต้องอาศัยชื่อของพรรคหรือบารมีของดารานำในพรรค แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การประกาศออกมาครั้งนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้เลือกข้างหรือไม่ ถ้ามีผลคงจะอาศัยแสงจากผู้สมัครดาวฤกษ์นำทางไปสู่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ

การเมืองเป็นเรื่องชิงคะแนนเสียงจากประชาชน อะไรที่สุ่มเสี่ยงจะเสียคะแนนเสียง อะไรที่สุ่มเสี่ยงทำให้หาเสียงเพิ่มได้ยาก ต้องหลีกเลี่ยงและต้องแก้เกมให้เร็วที่สุด

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะรีบออกมาลดทอนกระแสเรื่องการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ผิดคิวหลุดปากออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งในรายชื่อที่พรรคจะใส่ไว้ในบัญชีท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายของสังคม แต่เมื่อมีความชัดเจนก็ทำให้กระแสโจมตีเรื่องสืบทอดอำนาจถูกโหมขึ้นมาอีก

ถ้าไม่มีอะไรกระทบต่อคะแนนเสียงคงไม่ต้องออกมาแก้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแก้หรือไม่แก้อย่างไร ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าไม่มีผลต่อคนที่ตัดสินใจไปแล้ว

คนที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดหรือฝ่ายไหนตั้งแต่วันที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร

คนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรทางการเมืองถือว่าไม่มีผล เพราะเป็นคนที่เลือกข้างชัดเจนแล้ว

ประเด็นเรื่องการสืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจถ้าจะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนก็น่าจะมีผลต่อกลุ่มคนกลางๆที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าหนึ่งคะแนนที่มีในมือจะให้กับฝ่ายใด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐจะแก้เกมด้วยการบิดประเด็นว่าพวกที่พูดเรื่องสืบทอดอำนาจเป็นพวกที่ต้องการสร้างความขัดแย้งในสังคม

ทั้งนี้เพราะจับประเด็นได้ว่าประชาชนกลุ่มใหญ่เบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง ต้องการให้บ้านเมืองหลุดพ้นวังวนเดิมๆคือ เลือกตั้ง ประท้วง และปฏิวัติ ถ้าถามคนกลุ่มนี้แน่นอนว่าพอใจการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ทำให้เกิดความสงบ ไม่มีม็อบออกมาเดินบนท้องถนน โดยไม่สนใจวิธีการที่ทำให้ไม่มีม็อบว่าคืออะไร

อย่างไรก็ตาม แม้คนกลุ่มใหญ่จะพอใจเรื่องความสงบเรียบร้อย แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่พอใจผลงานด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหาร คสช. ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร การพูดเรื่องความขัดแย้งจึงต้องการรักษาความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ไว้

ขณะเดียวกันการท้าให้แข่งกันที่นโยบายก็ต้องการเสริมให้คนกลุ่มนี้หันมามองและศึกษานโยบายของพรรคพลังประชารัฐมากขึ้นว่าจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับพรรคคู่แข่งที่มีความเด่นชัดในผลงานเศรษฐกิจมายาวนาน

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะแก้เกมการเมืองเรื่องฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายเผด็จการ สืบทอดอำนาจไม่สืบทอดอำนาจอย่างไร ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เป้าเดียวที่จะถูกใช้โจมตีได้ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะออกมาให้ตามแก้กันไม่รู้จบ ไล่ตั้งแต่เรื่องที่เด่นชัดแล้วอย่างรัฐธรรมนูญที่เผลอหลุดปากว่าเขียนมาเพื่อพวกเรา กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ การแบ่งเขตเลือกตั้ง และที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนในอนาคตอันใกล้คือการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

น่าสนใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะบิดประเด็นเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้คนกลุ่มใหญ่ที่อยู่กลางๆ หรือคนที่ถอนการสนับสนุนไปแล้ว ให้หันมาลงคะแนนเสียงให้ในวันเลือกตั้ง

ถ้าไม่พูดถึงกติกา อำนาจรัฐ และอดีต ส.ส.เกรดเอที่ดูดเข้าสังกัดได้ ต้องบอกว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีอะไรเหนือกว่าคู่แข่ง ยิ่งตัวบุคคลที่จะชูเป็นนายกฯยิ่งไม่รู้ว่าจะเป็นจุดเด่นหรือจุดดับของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง

จับตาดูพรรคคู่แข่งถ้าเปิดชื่อ 3 คนที่จะส่งชิงตำแหน่งนายกฯที่มีกระแสข่าวว่าจะมีชื่อคนที่ได้รับฉายาว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี รับรองได้ว่าเพิ่มความเหนื่อยให้พรรคพลังประชารัฐได้อีกเท่าตัว


You must be logged in to post a comment Login