วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ท่าทีของ‘ตาอยู่’

On December 6, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 6 ธ.ค. 61)

ท่าทีของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศไม่เข้าร่วมประชุมกับ คสช. ไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เป็นท่าทีที่ส่งผลต่อการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง การไม่เข้าร่วมวงถกกับ คสช. จะทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของผลประชุมมีน้อยลง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนละขั้วกับ คสช. มาตั้งแต่แรก ส่วนการประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคพลังประชารัฐหลังเลือกตั้งก็เพราะรู้ดีว่าขนาดของพรรคมีอำนาจต่อรองมากพอที่จะเล่นบท “ตาอยู่” ได้ เมื่อมีศักยภาพที่จะเป็นขั้วที่สามชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เรื่องอะไรจะไปรับบทหามเสลี่ยงให้คนอื่นนั่ง

ท่วงท่าทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วง 1-2 วันมานี้ ถือว่ามีความแหลมทางการเมืองอย่างมาก

เป็นท่าทีที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองนับจากนี้ไปถึงอนาคตข้างหน้าหลังการเลือกตั้ง

ท่าทีแรกคือการปฏิเสธเข้าร่วมประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคมนี้

เป็นท่าทีเดียวกับพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจเผด็จการ ซึ่งประกาศไม่เข้าร่วมประชุมก่อนหน้านี้แล้ว

แม้เหตุผลในการไม่เข้าประชุมของพรรคประชาธิปัตย์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป กล่าวคือไม่ใช่ไม่เข้าร่วมเพราะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่มองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าประชุม เพราะคาดการณ์ว่าจะเป็นการประชุมเพื่อบอกกฎกติกาให้พรรคการเมืองปฏิบัติในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของ คสช. ที่จะกำหนดกฎกติกาเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดไว้

ที่สำคัญเห็นว่าการจัดและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของ กกต. โดยตรง คสช. ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง เพราะจะมีข้อครหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของหัวหน้า คสช. อย่างชัดเจนลงแข่งขันด้วย

การไม่เข้าร่วมประชุมของพรรคประชาธิปัตย์จะไปเพิ่มน้ำหนักให้กับท่าทีของพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และจะลดทอนความน่าเชื่อถือของการประชุมในครั้งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกำหนดกติกาเพิ่มเติมอย่างที่เป็นข่าวจริงจะเป็นการตอกย้ำภาพการใช้อำนาจแทรกแซงของ คสช. ให้ชัดเจนขึ้น

หากเป็นไปในทิศทางนี้แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบถึงพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในการหาเสียงเลือกตั้งในภาพรวมด้วย

ท่าทีต่อมาที่จะมีผลกระทบต่อการเมืองหลังการเลือกตั้งคือ การประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะเห็นว่ามีแนวทางการทำงานไม่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การโยกย้าย การรวมศูนย์อำนาจ

แม้จะไม่ปิดประตูแน่น แง้มไว้ว่าให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนแนวทางของใคร

แต่เมื่อประกาศออกไปอย่างนี้แล้ว ทำให้เหลือเงื่อนไขเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหลังการเลือกตั้งได้คือ พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ไม่ใช่ให้พรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลโดยมีคนของพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ประกาศท่าทีออกมาอย่างนี้จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเลือกตั้งถือเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นนายอภิสิทธิ์คงไม่มั่นใจว่าหลังการเลือกตั้งจะมี 3 ขั้วชิงกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือ ขั้วพรรคเพื่อไทย ขั้วพรรคพลังประชารัฐ และขั้วพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อมีความหวังว่าจะได้เป็น “ตาอยู่” จึงไม่แปลกที่ได้เห็นนายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนออกมาอย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login