วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไอ้ซังกะบ๊วย!! เป็นคนดีไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

On December 6, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 7-14 ธันวาคม 2561)

“แม่งจะตายห่ากันให้หมดหรืออย่างไรกับไอ้เรื่องซังกะบ๊วยพวกนี้…”

อาการหงุดหงิดไม่พอใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ทำเนียบรัฐบาล ที่กล่าวช่วงหนึ่งว่า

“หลายอย่างวันนี้ยังมีปัญหา ผมกลับมาก็ไม่ได้พัก ไม่ได้ไปเที่ยวไหน ตามจี้ตูดถามกันทุกเรื่อง ผมจึงต้องพูดในทุกเรื่อง ถ้าฟังผมบ่นก็อย่าเพิ่งเบื่อกัน เพราะจะบ่นเป็นครั้งสุดท้ายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลอื่นไม่ทำอะไรเพราะกลัวเสียคะแนนเสียง อย่างเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สื่อข้างนอกก็ถามกันอย่างเดียวเรื่องการแบ่งเขต แม่งจะตายห่ากันให้หมดหรืออย่างไรกับไอ้เรื่องซังกะบ๊วยพวกนี้

ก็ว่ากันไปตามกติกา จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ กติกาว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ผมจะไปรู้อะไร นายกฯจะรู้เรื่องการแบ่งเขตหรือ ไม่เกี่ยวหรอก ใครได้ใครเสียก็ว่าไป วันนี้เขาแบ่งด้วยอะไร เขาแบ่งด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นกับเรื่องของพื้นที่ วันนี้เปลี่ยนไปเท่าไรแล้ว 4-5 ปี จะเอาแบบเดิมตลอด ติดพื้นที่แบบเดิมตลอด ไม่ว่าจะปรับอย่างไร ตั้งอย่างไร แก้อย่างไร ถ้าคนไม่เลือกเลย พรรคไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น ก็แล้วแต่โชคชะตาก็แล้วกัน ประเทศไทยไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เหลือแต่คนในห้องนี้คงเข้าใจผมนะ”

คำตอบชัดเจนรอปลดล็อกก่อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม) กรณีพรรคพลังประชารัฐประกาศจะส่งเทียบเชิญเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคว่า เป็นความชัดเจนของพรรค ทำไมตนต้องไปชัดเจนกับเขาด้วย ทำไมอยากจะรู้กันเหลือเกิน ซึ่งทุกพรรคบอกจะเสนอ “ประยุทธ์” ทั้งนั้น แต่ก็ไม่เห็นใครมาเชิญตนเลย จะพูดก็พูดไป แต่ตนยังไม่ตัดสินใจ แม้อยากรู้ก็ยังไม่ให้รู้ แต่ถ้าไม่อยากรู้ตนก็จะพูดเอง

ส่วนเหตุผลที่หลายพรรคสนใจเสนอชื่อตนเป็นนายกฯนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่อาจพิจารณาตัวเองได้ว่าเก่งหรือไม่เก่ง ทั้งจะเลือกตนเพราะอะไรก็ยังไม่รู้เหมือนกัน อาจเห็นว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี คงหวังแค่นั้นหรือไม่ตนก็ไม่รู้ หรืออาจหวังอย่างอื่นด้วย

เมื่อถามว่ารู้สึกดีใจหรือไม่ที่หลายพรรคสนใจ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เขาเรียกว่าต้องใช้บารมี 10 ประการ ขันติบารมี คือไม่ยินดียินร้ายต่อคำชมและคำติฉินนินทาและไม่ได้สนใจ เพราะยึดถือที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ รู้จักไหมบารมี 10 ประการ”

พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า พรรคพลังประชารัฐเคยเป็นทีมงานที่ร่วมงานกันมาก่อน จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ซึ่งพรรคใดก็ตามที่ทำงานสอดคล้องกับที่ทำอยู่วันนี้ หากตนตัดสินใจเข้าไปสู่การเมืองก็ต้องสนับสนุนพรรคเหล่านี้ เพราะได้ทำงานต่อ แต่จะเป็นนายกฯหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะจะต้องมีการพิจารณาในสภา ส่วนธงในใจของตนคือสนับสนุนพรรคการเมืองที่เดินหน้าประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ พรรคอื่นหากมียุทธศาสตร์ที่อาจดีกว่าพลังประชารัฐก็ให้เสนอมา ไม่ใช่เพียงติฉินไปเรื่อยๆ ต้องพูดด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบ

วันนี้กระแสโพลก็ออกมาอยู่แล้วว่าจะเลือกพรรคไหน เลือกคนคุ้นเคย เลือกตัวบุคคล ไม่เลือกพรรค หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องสร้างการรับรู้ว่าประชาชนจะได้อะไรและดีกว่าอย่างไร

ส่วนคำตอบและความชัดเจนของตนเองนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปลดล็อกเมื่อไรก็ว่ากันตอนนั้น เพราะเมื่อมีการปลดล็อกทุกคนก็จะพูดได้เต็มปากเต็มคำ ตนจะฟังว่าพรรคนี้เสนออะไรมา มีประโยชน์ตรงไหน ไม่ใช่เสนอเหมือนหาเสียงครั้งก่อนๆ ตนคิดว่าการจะทำงานเพื่อชาติและประชาชนต้องยึดกติกา เหมือนนักมวยจะขึ้นชกก็ต้องฟังกติกา ซึ่งกติกาวันนี้มีความแตกต่างจากแต่ก่อนอยู่บ้าง เหมือนกติกามวย กติกากอล์ฟ หรือกติกาอื่นๆ ที่เปลี่ยนไปหมด หลายอย่างไม่เคยทำได้ก็ทำได้ หรือหลายอย่างเคยทำไม่ได้ก็ทำได้ จึงควรเตรียมตัวเองให้พร้อมเข้ามาสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสิน อย่าทำอะไรให้เสียเวลาและประเทศชาติเดินหน้าลำบาก

กกต. แบ่งเขตตามที่ใครขอมา?

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง ไม่ปฏิเสธประชาธิปไตย และตลอดเวลาทำงานเพื่อหยุดความขัดแย้งและเดินหน้าตามโรดแม็พ แต่กลับฉุนเฉียวไม่พอใจเมื่อถูกถามเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งพิสดารของ กกต. ว่าเป็นเรื่อง “ซังกะบ๊วย” ทั้งที่พรรคการเมืองหลายพรรคมองว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งอัปลักษณ์และอัปยศ เห็นได้ชัดเจนจาก 11 เขตเลือกตั้งใหม่ที่เคยเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่กลับเอื้อพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะพื้นที่สุโขทัย นครราชสีมา อุบลราชธานี และกาญจนบุรี

ขณะที่เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 27) ระบุว่า 1.ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง 2.คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน 3.ความสะดวกในการเดินทาง และ 4.การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรเท่านั้น การแบ่งเขตของ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระ จึงถูกตั้งคำถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่าได้ทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นอิสระหรือไม่ เพราะ กกต. คือกรรมการที่เป็นกลาง ต้องทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้อำนาจ คสช. หรือผู้มีอำนาจ

ไร้วุฒิภาวะความเป็นผู้นำ

ร้อยโทหญิง สุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ทำไมไม่ออกมากล่าวขอโทษประชาชนด้วยปากของตัวเอง ถ้ารู้สึกสำนึกผิดจริงๆที่กล่าวคำหยาบคายและแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อหน้าสาธารณชนเพราะไม่พอใจที่โดนวิจารณ์เรื่องการแบ่งเขตแบบพิสดารเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้บางพรรค ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องออกมาพูดแทน เพราะมันดูไม่จริงใจ

ถ้าไม่มีเฟซบุ๊คไลฟ์ของเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์เป็นหลักฐาน รัฐบาลคงไม่ยอมรับว่ามีการพูดจาหยาบคายไม่เหมาะสมจริง เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เชิญนักข่าวออกจากห้องประชุมไปแล้วเพื่อปิดข่าว แต่ไม่รู้ว่ายังมีการถ่ายทอดทางเฟซบุ๊คทำให้ข่าวหลุดออกมาจนได้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมและขาดวุฒิภาวะหลายครั้ง นอกจากนี้รัฐบาลยังอ้างไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตของ กกต. เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นคนเซ็นคำสั่งให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งเอาเองโดยไม่จำเป็นต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชน

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านถึงโจมตีรัฐบาลว่าอยู่เบื้องหลังการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เละเทะและไม่เป็นธรรม ยกเว้นพรรคที่ได้ประโยชน์ก็คงจะเชียร์ว่านี่เป็นการแบ่งเขตตามธรรมชาติ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมอยู่แล้วว่าใครเป็นอย่างไร เพราะคนไทยฉลาดพอและดูออกว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลังการแบ่งเขตเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น”

ใครขอมาแบ่งเขตแบบพิสดาร

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีต กกต. ตั้งคำถามถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดสุโขทัยว่า “ใครขอมาครับ” เพราะที่อ้างว่าการแบ่งเขตที่ออกมาอย่างเป็นทางการเป็นรูปแบบที่ 4 ไม่เคยถูกรับฟังความเห็นจากประชาชนเลย

นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จากการรวบรวมของอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พบว่ามีหลายจังหวัดที่การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตาม 3 รูปแบบที่เคยรับฟังความเห็นจากประชาชน

จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ จะปฏิเสธการร่วมประชุมเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานและบอกว่าจะเข้าไปรับฟังเฉยๆ ไม่มีตอบอะไรทั้งสิ้น แต่ก็ตำหนิพรรคการเมืองที่ไม่เข้าร่วมว่าไม่เคารพกติกา อย่างนี้จะอยู่กันได้มั้ย จะมาเป็นรัฐบาลได้ยังไง หรือไม่อยากเลือกตั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งจะบอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเรื่อง “ซังกะบ๊วย”

“โบว์” น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา สมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า “เลือกตั้งประเทศไหนเขาไปคุยกติกาในสโมสรกองทัพบกกัน? แค่สถานที่ก็ผิดแล้ว ยังมีคนจัดประชุมเป็นเผด็จการที่แทรกแซงการเลือกตั้ง ปูทางสืบทอดอำนาจอีก… สติค่ะ”

ถูกถามแค่นี้..จะเป็นจะตาย

คนที่ “จะเป็นจะตาย” ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่มองว่าการเลือกตั้งต้องอยู่ในกรอบที่ คสช. กำหนดเท่านั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ คสช. เขียนขึ้นมา ไม่ทำตามก็มีความผิด รัฐบาลหลังการเลือกตั้งแทบไม่มีอำนาจอะไรเลยในการบริหารประเทศใน 20 ปีข้างหน้า

ฝ่ายที่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงมองการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุทธศาสตร์ชาติว่าเป็น “โซ่ตรวนล่ามชาติ” มากกว่าที่จะทำให้ชาติมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่ต้องการยุทธศาสตร์ชาติแบบ คสช. ซึ่งนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้ตั้งคำถามโดยเขียนบทความเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ค “ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ มันจะออกมาเป็นคบไฟนำทาง หรือโซ่ตรวนล่ามชาติกันแน่?” อ่านย้อนหลังได้ที่ https://www.lokwannee.com/stg/?p=281613

ขอโทษเรื่อยเปื่อยซ้ำซาก

ประเด็นการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่อง “ซังกะบ๊วย” แม้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ขอโทษที่ใช้คำไม่สุภาพ เพียงแต่ต้องการสื่อว่าตัวเองและรัฐบาลไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ซึ่ง กกต. ก็ชี้แจงหลักเกณฑ์การแบ่งเขตชัดเจนแล้วว่ามาจากอะไร ไม่ใช่ทำเพื่อเข้าข้างใครทั้งสิ้น

แต่หากย้อนไปก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความฉุนเฉียวบ่อยครั้ง ทุกครั้งก็จะออกมาขอโทษและอ้างว่าทำงานหนัก หรือหงุดหงิดที่ถูกถามเรื่องเดิมๆ ทั้งที่หลายคำถามเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้ความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งหรืออนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ได้มีผลเฉพาะด้านการเมือง แต่ยังมีผลถึงเรื่องเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ

เทียบเชิญ “ประยุทธ์”

ประชาคมโลกจึงเฝ้ามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ถูกมองว่าออกแบบมาเพื่อการ “สืบทอดอำนาจ” ไม่ใช่เพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคง อย่างที่หลายพรรคการเมืองประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเพื่อทำงานของ คสช. ให้สำเร็จ โดยเฉพาะนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้หลุดปากแล้วว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ เจ้าของวลี “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นห่วงคือการสืบทอดอำนาจหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคไม่พยายามเสนอนโยบาย แต่หาเรื่องสร้างความขัดแย้ง ตนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีความพยายามสืบทอดอำนาจ เห็นได้จากการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไม่ใช่สายบูรพาพยัคฆ์เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่มาจากสายอื่น หรือแม้กระทั่งว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 เขต และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่ทหารชั้นนายพล

“ขออย่าให้เอาเรื่องการสืบทอดอำนาจมาพูดอีก เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในสังคม และเพื่อที่จะใช้เวลาทำงานให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี เพราะบ้านเมืองเสียโอกาสเสียเวลาทำงานมาหลายปีแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว

“ประยุทธ์” ต้องมีความสง่างาม

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ชัดเจนมานานแล้ว เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พูดออกมาเท่านั้น ถือเป็นสิทธิ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนมาเพื่อพวกเรา เราก็ต้องทำตามกระบวนการไป

วันนี้หัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยยังอยู่ที่การฟ้องประชาชน เพราะในฐานะพรรคการเมืองหรือแม้แต่ประชาชนต่างก็มีความกังวลใจในการใช้อำนาจรัฐที่จะเอื้อให้กับฝ่ายที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งล่าสุดมีคนมาเล่าว่ามีการเตรียมกลยุทธ์ช่วงใกล้เลือกตั้ง อาจมีการกดดันเพื่อให้อดีต ส.ส. บางคนไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้พรรคต้นสังกัดหาคนไม่ทัน แม้จะเป็นการกล่าวหา ก็เตือนลอยๆกลางอากาศว่าอย่าทำอย่างนั้น เพราะถือว่าต่ำถึงขีดสุด วันนี้การเมืองต้องพัฒนา ไม่ใช่ถอยหลังลงคลองน้ำเน่าอย่างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว มันน่าละอายต่อประชาชน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิมากๆ มาสร้างและคืนความยุติธรรมให้กับฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อาสาเป็นผู้นำทางการเมืองก็ต้องมีความสง่างามในสายตาของนานาชาติและประชาชนด้วย ต้องเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่คำนึงถึงวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเคารพในจริยธรรมที่ควรจะมี เรื่องนี้ไม่ต้องให้ใครบอก ผู้นำระดับสูงต้องคำนึงถึงจิตสำนึก ไม่ต้องให้ใครมาเรียกร้อง หรือรักษามารยาท ควรแสดงสปิริตอย่างที่คนอื่นเขาทำกัน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯและหัวหน้า คสช. จะสง่างามมาก และมาสังกัดในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ แต่หากยังดันทุรังอยู่ในตำแหน่งต่อจะสุ่มเสี่ยงขัดหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและมีจุดจบชีวิตที่น่าเป็นห่วง

ท้า “ประยุทธ์” เปิดหน้าชิงนายกฯ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายและการรับฟังปัญหาจากประชาชน เชื่อว่าจะสามารถสร้างนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนได้ แต่ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองเจอปัญหาถูกจำกัดการพบปะประชาชน หลังจากที่มีการปลดล็อกทางการเมืองพรรคจะลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเต็มที่

นายจาตุรนต์ระบุว่าที่ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 7 ธันวาคม เพราะมองว่าการจัดการประชุมของ คสช. ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย การดูแลการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่ คสช. สะท้อนให้เห็นว่า คสช. ต้องการจะแทรกแซงการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ยืนยันว่าพรรคไทยรักษาชาติปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยากให้ คสช. ปลดล็อกทางการเมืองให้ชัดเจน ยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 จนถึงการเลือกตั้ง รวมถึงปลดล็อกการให้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนควบคู่ไปด้วย

นายจาตุรนต์ยังกล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์จะสังกัดพรรคการเมืองให้ชัดเจนเพื่อความสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ทำ แต่อย่างน้อยที่สุดขอให้เปิดเผยให้ชัดเจนว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

4 รัฐมนตรีไร้สำนึก

.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าอดีต ส.ส. ของพรรคที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จะไปแต่ตัว แต่ไม่มีคะแนนเสียง และแม้พรรคพลังประชารัฐจะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สำคัญ เพราะประชาชนเห็นฝีมืออยู่แล้วว่าคนคนนั้นเปรียบเหมือนลิเก รู้อยู่แล้วว่าจะเล่นบทไหน ตอนไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้

ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึง 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่า แม้ทางกฎหมายไม่จำเป็นต้องลาออก แต่ก็ต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองที่จะตัดสินใจลาออก นอกจากนี้ยังมีอีกคนที่เป็น “อีแอบ” ใช้ให้ 4 รัฐมนตรีออกหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อเอาเปรียบทุกขั้นตอนในการเลือกตั้งครั้งนี้

“มาร์ค” ยืนยันการเมืองมี 3 ขั้ว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานมายังพรรคประชาธิปัตย์ให้ร่วมรัฐบาล โดยจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอเป็นการตอบแทนว่า เห็นเขาว่าจะได้ 350 ที่นั่ง ส.ส. ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรอีก

ส่วนข่าวที่ออกมาเหมือนกับว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมเป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มี ตนมาเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้ได้พบปะกับสมาชิกพรรคในช่วงการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค โดยพูดชัดเจนว่าอย่ามาพูดเรื่องตำแหน่ง เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเป็นไปตามรายงานข่าวว่าจะเสนอกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นและเวลา เพราะ 1.ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ประชาชนต้องให้คำตอบก่อนว่าสนับสนุนแนวทางของพรรคไหน อย่างไร และ 2.ต้องดูว่าตอนหาเสียง แนวทางของพรรคพลังประชารัฐยังยืนยันการทำงานในรูปแบบรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ หากบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ ตนว่ายากที่จะทำงานด้วยกันได้ เพราะประชาชนเดือดร้อนมาก

“ผมยืนยันว่าการเมืองมี 3 ขั้วคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ผมคิดว่าตอนนี้ 3 แนวทางแตกต่างกันชัดเจน จึงต้องให้ประชาชนพิจารณาก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน”

เรื่องซังกะบ๊วย?

การเมืองเรื่องการเลือกตั้งแม้จะเป็นแค่เรื่อง “ซังกะบ๊วย” และจะมี 3 ขั้วอำนาจที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เป็นการต่อสู้แค่ 2 ทางเลือกคือ ฝ่ายที่สนับสนุน “ระบอบ คสช.” กับฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้าน “ระบอบ คสช.”

แม้ว่าคาดการณ์ว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรคขนาดเล็กจะได้ ส.ส. 126 ที่นั่ง ซึ่งรวมกับ ส.ว.ลากตั้งอีก 250 คน จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม คะแนนเท่าที่มีก็จะมีปัญหาการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าในที่สุดแล้วตามสไตล์หัวหน้าพรรคที่มักจะ “พูดไปหล่อไป” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน

เป้าหมายการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอด “ระบอบ คสช.” จึงต้องได้เสียง ส.ส. 250 ที่นั่งขึ้นไป หากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเครือข่ายไม่ชนะอย่างถล่มทลายก็ต้องทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลให้ได้ ถึงวันนั้นเราจะได้เห็นได้ยินวลีเด็ดๆที่เป็นวาทกรรม “คนดีเพื่อชาติ” ดังกระหึ่มบ้านเมืองกันอีก

เป็นคนดีไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ขณะที่การปราบโกงที่รัฐบาลคนดีเอามาชูเป็นผลงานกลับยิ่งฮาไปกันใหญ่ เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อจัดงานวันต้านโกงสากลวันที่ 7 ธันวาคม ภายใต้แนวคิด “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีคดี “นาฬิกายืมเพื่อน” พอดี ทั้งที่ช่วงรัฐบาลทหาร “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” หรือ CPI (Corruption Perception Index) ประเทศไทยได้ประมาณ 34-38% จาก 100 คะแนน และปีล่าสุดได้ 37 คะแนน อยู่ลำดับที่ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ทั้งที่ “ทั่นผู้นำ” ประกาศเป็นรัฐบาล “คนดี” ไม่โกง และไม่ยอมให้ใครโกงแม้แต่บาทเดียว แต่ล่าสุดแม้แต่ ป.ป.ช. กลับต้องเลื่อนประกาศที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารระดับสูง รวมถึงในสถาบันการศึกษา ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะก่อนหน้านี้กรรมการและผู้บริหารในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยกันลาออก แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเองยังลาออกจากการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

“เป็นคนดี” จะสบถ แม่ง ห่า.. เหี้- อะไรก็ได้?

จึงเกิดคำถามถึงการ “เป็นคนดี” ว่า การใช้คำสั่งมาตรา 44 ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงกรรมการในองค์การมหาชน กรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้น “เป็นคนดีจริง” หรือไม่?

หรือเมื่อเป็นคนดีแล้วมีสิทธิ์เหนือใครที่ทำอะไรก็ไม่มีความผิด แม้แต่การไม่ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเอง ด่านักการเมืองโคตรโกงและมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ “คนดี” กลับไม่กล้าแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอย่างนั้นหรือ?

จึงไม่แปลกที่ “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้องคนดีจะอ้างความชอบธรรมและสารพัดเหตุผล เพราะว่า

เป็นคนดี ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

เป็นคนดี ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ

เป็นคนดี ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ

เป็นคนดี ควบ รมต. พร้อมตั้งพรรคก็ไม่ต้องลาออก

เป็นคนดี ต้องเรียกประชานิยมว่าประชารัฐ (เพราะแจกหนักกว่า)

เป็นคนดี เอาเปรียบแก้กติกา แต่ให้เรียกว่าคือการปฏิรูป

เป็นคนดี จะทำอะไรก็ไม่ผิด ขนาดพวกนกหวีดยังติดคอ ไม่มีเสียง

เป็นคนดี แม่งจะสบถเหี้- ห่าอะไร ก็อุ๊ยตาย..น่าร้าก

เป็นคนดี ยึดอำนาจเขามา ตอนแรกบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ตอนนี้ทำทุกอย่างเพื่อจะอยู่ต่ออีก 20 ปี

เอาเลย.. เอาที่พวกเมิงสบายใจ!!??


You must be logged in to post a comment Login