วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐธรรมนูญไทย

On December 11, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 11 ธ.ค. 61)

วันที่ 10 ธันวาคมเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 ยกร่างโดยรัฐบาลทหาร แม้จะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่บิดเบือนเนื้อหาในหลายประเด็น

โดยเฉพาะ “บทเฉพาะกาล” ให้ คสช. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ คือ คสช. สามารถใช้ “อำนาจพิเศษ” ตาม “มาตรา 44” ออกกฎหมายหรือจับกุมคุมขังบุคคลใดที่เห็นว่ากระทำผิดกฎหมายได้ แม้แต่การแทรกแซงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง จนนำมาซึ่งวาทกรรม “แม่ง..จะตายห่ากันให้หมดหรือยังไงกับไอ้เรื่องซังกะบ๊วยพวกนี้”

บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ “ยุทธศาสตร์ชาติ” มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อๆไปเป็นระยะเวลา 20 ปี ถือเป็นพัฒนาการของ “ระบอบเผด็จการ” ซึ่งจะทำให้ประเทศและประชาชนอยู่ในกะลาไปอีกอย่างน้อย 20 ปี

รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ยิ่งช่วงที่จะมีการเลือกตั้งยิ่งเห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นอาวุธจัดการนักการเมืองฝ่ายเห็นต่างและเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” อย่างวาทกรรมของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ “รัฐประหารถาวร” เพราะได้ติดตั้งระบอบรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ และปิดประตูล็อกตายไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ

การออกจากรัฐประหารถาวรได้จำเป็นต้องสร้าง “ประชาชน” ให้กลับมาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือก้าวแรกของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายพรรคการเมือง “ชูธง” ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนโดยประชาชน


You must be logged in to post a comment Login