วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โซ่ตรวนยังอยู่?

On December 13, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 13 ธ.ค. 61)

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 “ปลดล็อกการเมือง” ให้ประชาชนและพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองในการเลือกตั้งได้ แต่ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คสช. ยังคงควบคุมและจำกัดเสรีภาพประชาชนในหลายประเด็น

1.ยังมีอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และมาตรา 265 รัฐธรรมนูญ 2560 คือมีอำนาจจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจอย่างเด็ดขาดที่จะออกคำสั่งใดๆเพื่อควบคุมเเละบริหารประเทศ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง โดยปราศจากการตรวจสอบจากศาล ทั้งชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ

2.ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ถือเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังมีอำนาจจับกุม เข้าไปในเคหสถาน ยึด ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน หรือ “ปรับทัศนคติ”

3.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่มีเงื่อนไขไม่ให้กระทบกระเทือนคดีที่ยังขาดความชัดเจน ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ทั้งประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ซึ่งกำหนดความผิดแบบเดียวกัน ยังไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

4.ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวตามประกาศ คสช. ที่ 41/2557 ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร คดีที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557-11 กันยายน 2559 ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ทำให้ไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่

5.คสช. ยังมีเครื่องมือในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

เมื่อ คสช. ยังมีอำนาจมาตรา 44 อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่ล้มกระดานการเลือกตั้ง!!


You must be logged in to post a comment Login