- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
มารยาทกับกฎหมาย
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 17 ธ.ค. 61)
แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่บรรยากาศตอนนี้ไม่ต่างจากหลังประกาศยุบสภานับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลกลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจจำกัด เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐเอื้อประโยชน์ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง แต่อย่างที่รู้กันว่ารัฐบาลทหาร คสช. เป็นรัฐบาลพิเศษ นอกจากไม่อยู่ในสถานะรักษาการแล้วยังมีอำนาจมาตรา 44 ที่สามารถหยิบมาใช้เมื่อไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีกฎหมายบังคับแต่มารยาทเป็นสิ่งที่ควรแสดงออก ควรทำตัวให้เหมือนรัฐบาลรักษาการ หากยังเอาเปรียบคู่แข่งจนนาทีสุดท้าย ถ้าไม่ได้ ส.ส. ตามเป้าระวังหลังเลือกตั้งไม่มีใครคบ
นับจากวันนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2 เดือนเศษๆ ก็จะถึงกำหนดวันเลือกตั้งที่ประกาศกันไว้ว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในวันที่ 2-4 มกราคมปีหน้า สถานะของรัฐบาลทหาร คสช. จะกลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการ
แต่ความมหัศจรรย์ของกฎหมายในยุคสมัยนี้ นอกจากรัฐบาลทหาร คสช. จะไม่ต้องเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะมีอำนาจจำกัดเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง ยังมีอำนาจพิเศษมาตรา 44 ที่จะงัดมาใช้เมื่อไรก็ได้อีกต่างหาก
จึงเป็นที่มาของเสียงเรียกร้องจากพรรคการเมืองให้รัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร คสช. 4 คน ที่ไปปลุกปั้นสร้างพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลงดดำเนินการใดๆที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง
หากย้อนไปดูกติกาเก่าที่ถูกคณะรัฐบาลทหารชุดนี้ฉีกทิ้งไป เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
2.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
4.ไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด
ข้อกำหนดนี้มีผลตั้งแต่ยุบสภาหรือรัฐบาลหมดวาระ ไม่ต้องรอมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่รัฐบาลทหาร คสช. ไม่มีวาระ ไม่ได้ยุบสภา มารยาทอันพึงควรปฏิบัติจึงอนุโลมว่าให้เริ่มนับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า 4 รัฐมนตรีที่ไปเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่
ในทางข่าวยังกลับไปกลับมา บ้างก็ว่าจะลาออกเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง บ้างก็ว่าไม่ลาออก เพราะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าต้องลาออก
ถึงนาทีนี้จะลาออกหรือไม่ลาออกไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่หากยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต้องทำตัวให้เหมือนรัฐมนตรีรักษาการ ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐทั้งทรัพยากรบุคคลและสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆในทางเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคตัวเอง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากมีชื่อเป็นผู้ถูกเสนอชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตัวให้เหมือนนายกฯรักษาการ โดยเฉพาะอำนาจตามมาตรา 44 ไม่ควรจะหยิบมาใช้ในทุกกรณี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการทุกคืนวันศุกร์ แม้จะเปลี่ยนชื่อจาก “คืนความสุขให้คนในชาติ” เป็น “ศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” แล้วก็ไม่ควรมีต่อไป เพราะเนื้อหาเป็นการพูดถึงการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเข้าข่ายเป็นการหาเสียงอย่างชัดเจน
ไม่เพียงรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” รายการเดินหน้าประเทศไทยทุกวันหลังเคารพธงชาติก็ควรยุติด้วย
แม้ไม่มีกฎหมายบังคับเพราะเป็นรัฐบาลพิเศษ แต่มารยาทเป็นสิ่งที่ควรแสดงออก หากยังเอาเปรียบคู่แข่งจนนาทีสุดท้ายระวังหลังเลือกตั้งไม่มีใครคบ
You must be logged in to post a comment Login