- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“บิ๊กโย่ง” เน้น 3 สร้างขับเคลื่อนกลไกพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.61 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 2 ปี (ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ 2.ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3.ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย 4.ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุ และ 5.ด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมมอบโล่ห์รางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย (Building a Good Society Award) จำนวน 20 รางวัล และเกียรติบัตรรางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย จำนวน 18 รางวัล
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน แต่สามารถเติมเต็มการทำงานร่วมกันได้ อาทิ การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ ที่มีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งรัฐมีจุดแข็งคือการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ เป็นข้อบังคบ และมีฐานข้อมูลคนพิการ แต่มีบุคลากรน้อยและไม่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอาชีพให้ตรงความต้องการตลาดแรงงาน ขณะที่ภาคเอกชนมีประสบการณ์ในการช่วยฝึกอาชีพ พัฒนาศักยภาพ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนพิการได้ ขณะที่ภาคประชาสังคมก็ทำหน้าที่เป็นข้อต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะกับคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ และเข้าใจความต้องการของคนพิการ รวมถึงภาคการศึกษาวิชาการ ทำหน้าที่ช่วยพัฒนานวัตกรรมทางสังคมต่างๆ เมื่อเกิดข้อติดขัดก็ใช้เวทีการประชุมคณะทำงานฯ เป็นเวทีกลางในการพิจารณาวางแนวทางในการแก้ไข ซึ่งแต่ละประเด็นถือว่ามีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ที่คณะทำงานฯ จะเน้นและให้ความสำคัญในการสร้าง 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยเฉพาะการปรับเจตคติของสังคม ไม่ให้มองความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ผู้ถูกกระทำไม่กล้าร้องทุกข์ ทั้งที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 และมีกระบวนการช่วยเหลือพร้อมอยู่แล้ว 2.การสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งเป็นการนำ “ผลกำไร” มาบวกกับ “การสร้างประโยชน์แก่สังคม” และให้เกิดความยั่งยืนในตัวเอง โดยเฉพาะกับคนพิการและผู้สูงอายุ และ 3.การสร้างสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเดินหน้าต่อไป และทำให้เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
“ไม่อยากให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นวาระทางการเมือง หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพียงแต่รัฐบาลนี้ได้ยกระดับและสร้างกลไกคณะทำงานขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้นแม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่หากเครือข่ายยังร่วมกันเดินหน้าต่อไปก็จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป” พล.อ.อนันตพร กล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาช่วยให้เกิดการแก้ไข ทำความเข้าใจต่อประเด็นข้อจำกัด หรือการหนุนเสริมรายละเอียดต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ในส่วนของภาคประชาสังคม จะยังคงหนุนเสริมและร่วมขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตามความสามารถและความถนัดของแต่ละองค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังได้เรียนรู้แนวคิดการทำงานในรูปแบบของภาคเอกชน และเป็นภาคีที่จะร่วมกันทำงานพัฒนาสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป สสส. และภาคีเครือข่าย มีการทำงานที่หนุนเสริมและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ พม. อยู่แล้ว ทั้งการขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงในครอบครัว สตรี และผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พัฒนาระบบและความพร้อมประชาชนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนดำเนินงานต่อเนื่อง
“สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนากลไกระบบการคลังเพื่อสังคม (Social Impact Finance) เพื่อเป็นทางเลือกของการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านการพัฒนาสังคม โดยขณะนี้ได้ศึกษาในระยะที่หนึ่งเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการออกแบบ ดำเนินการ และให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เน้นเชิงป้องกัน และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมทางบวกที่เป็นรูปธรรม และลดค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยศึกษาใน 3 ประเด็น ได้แก่ คนพิการ เด็กด้อยโอกาส และผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ซึ่งการดำเนินการในช่วงต่อไปจะเป็นการทดลองภายใต้โครงการนำร่องและติดตามประเมินผล เพื่อนำมาสู่การพัฒนารูปแบบและขยายผลในระยะต่อไป โดยคาดหวังว่าแนวทางการดำเนินงานนี้จะสามารถเป็นกลไกพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาสังคมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม ถือเป็นพันธกิจที่ภาคธุรกิจดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายหลังมีกลไกการทำงานตามแนวทางสานพลังประชารัฐ ได้ช่วยให้การประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็งและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทำงานครอบคลุมในหลายมิติเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมาการดำเนินงานคืบหน้าไปมาก ในส่วนหอการค้าไทยและบริษัทเอกชนในเครือข่ายประชารัฐ ได้ขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการจนปัจจุบันภาคธุรกิจจ้างงานคนพิการ (ม.33, ม.35) ถึง 50,182 อัตรา เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 13,163 อัตรา ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ไม่เพียงช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความสุขให้กับผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกด้วย
You must be logged in to post a comment Login