วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กินที่ลับไม่ไขที่แจ้ง

On December 20, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 20 ธ.ค. 61)

การจัดงานระดมทุนเข้าพรรคการเมืองที่จัดวันเดียวได้เงินหลายร้อยล้านบาท แม้กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันมีกำหนดข้อห้ามมากมายเพื่อป้องกันการครอบงำพรรคด้วยเงิน แต่ในยุคไทยแลนด์โอนลี่ ประเทศกูมี ความมหัศจรรย์ของกฎหมาย นายทุนตัวจริงน่าจะยังอยู่ในที่มืดต่อไป เว้นแต่ กกต. จะจริงจังกับการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินบริจาคเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของเงินตัวจริงหรือไม่ แต่ถ้าทำแบบนี้จะเกินหน้าที่ เพราะกฎหมายให้แค่รับทราบรายงานจากพรรคการเมืองว่าใครบริจาคเท่าไรแค่นั้น

ช่วงค่ำวันที่ 18-19 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นฤกษ์งามยามดีหรืออย่างไรไม่ทราบ พรรคการเมืองที่คนมองว่าอยู่ในกลุ่มก้อนอำนาจเดียวกันพร้อมใจกันจัดงานระดมทุนเข้าพรรคเพื่อสะสมเป็นเสบียงไว้ใช้สู้ศึกเลือกตั้ง

พรรครวมพลังประชาชาติไทยภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ยึดทำเลศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดระดมทุน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร คสช. และกลุ่มสามมิตร “สมศักดิ์-สุริยะใส-สมคิด” ใช้อิมแพ็ค ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 เป็นสถานที่จัดระดมทุน

พรรครวมพลังประชาชาติไทยใช้รูปแบบงานกาล่าดินเนอร์แบบโต๊ะจีน 240 โต๊ะ สนนราคาโต๊ะละ 1 ล้านบาท เพื่อระดมทุน 240 ล้านบาท สนับสนุนกิจกรรมพรรค

พรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีน 200 โต๊ะ ขายบัตรโต๊ะละ 3 ล้านบาท หอบเงิน 600 ล้านบาทเข้ากระเป๋าเอาไว้ทำกิจกรรมของพรรค

ในงานของพรรครวมพลังประชาชาติไทยนอกจากนักธุรกิจน้อยใหญ่ที่เต็มใจจ่ายค่าโต๊ะแล้ว ยังมีตัวแทนจากพรรคการเมืองไปอุดหนุนกิจการของเพื่อนด้วย เช่น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่งานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐขณะที่ปั่นต้นฉบับอยู่นี้งานยังไม่เริ่ม แต่เชื่อว่าพรรคการเมืองที่ไปร่วมกิจกรรมคงเป็นไปในลักษณะการค้าต่างตอบแทน คือตัวแทนพรรคพลังประชารัฐไปร่วมงานระดมทุนของพรรคไหนไว้ พรรคนั้นก็น่าจะส่งคนมาร่วมงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน

การที่พรรคการเมืองหนึ่งส่งตัวแทนไปร่วมงานระดมทุนของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นพันธมิตรกัน

เมื่อเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง แน่นอนว่าหลังการเลือกตั้งความเป็นพันธมิตรก็ยังคงอยู่ แม้การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่หากไม่มีเหตุการณ์แบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน พรรคการเมืองเหล่านี้ย่อมอยากร่วมงานกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

เช่นเดียวกับนักธุรกิจน้อยใหญ่ที่ซื้อบัตรกินโต๊ะจีนราคาแพง เงินที่จ่ายค่าบัตรย่อมหมายถึงการทอดไมตรีให้กับฝ่ายการเมืองเช่นกัน

ทั้งนี้ ตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลักการสำคัญคือ ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองมากขึ้น โดยขัดขวาง “กลุ่มทุน” และ “ผู้มีบารมีนอกพรรค” แทรกแซงการดำเนินกิจการของพรรคเหมือนในอดีต โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องดังนี้

ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียกรับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือในหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งแจ้งวัตถุประสงค์การบริจาค และแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบด้วย

บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้พรรคการเมืองมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีไม่ได้ ขณะที่นิติบุคคลหากบริจาคให้พรรคการเมืองเกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่และผู้ถือหุ้นรับทราบด้วย และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเกินกว่า 10,000 บาทต่อวัน โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ในการเลือกตั้ง ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายใน 7 วัน ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลต่างประเทศ นิติบุคคลที่มีผู้ถือสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ 49 คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือเงินอุดหนุนจากต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ รวมถึงวัด บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้กับพรรคการเมือง หรือเข้าร่วมการระดมทุนของพรรค

น่าสนใจว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทยประกาศรายชื่อผู้ซื้อบัตรโต๊ะจีนออกมาแล้ว จะประกอบด้วยใครบ้าง และคนเหล่านี้ให้เหตุผลในการจ่ายเงินนับล้านเพื่อแลกกับอาหารไม่กี่อย่างบนโต๊ะจีนนี้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ในยุคไทยแลนด์โอนลี่ ประเทศกูมี ความมหัศจรรย์ของกฎหมาย นายทุนตัวจริงน่าจะยังอยู่ในที่มืดต่อไป เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจริงจังกับการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินบริจาคเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของเงินตัวจริงหรือไม่

แต่ถ้าทำแบบนี้ก็จะเกินหน้าที่ เพราะกฎหมายให้แค่รับทราบรายงานจากพรรคการเมืองว่าใครบริจาคเท่าไรแค่นั้น


You must be logged in to post a comment Login