วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐบาลรักษาการ VS รัฐบาลคสช. ความแตกต่างและความได้เปรียบก่อนการเลือกตั้ง

On December 20, 2018

เว็บไซต์ ilaw จับประเด็นการเลือกตั้งปี 2562 ภาคประชาชนนำโดยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รวมถึงพรรคการเมืองที่ประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตยต่างก็มีข้อเสนอต่อ คสช. เหมือนกันว่า ให้คสช. ลดสถานะของตัวเองเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ ก่อนการเลือกตั้ง และให้ยุติการใช้อำนาจพิเศษอย่าง ‘มาตรา 44’ ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ให้มีผลในทางบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันถือว่าเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่รักษาการ ไม่เหมือนกับกรณีการยุบสภาแล้วรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งแบบนั้นจะเป็นรัฐบาลรักษาการระหว่างการเลือกตั้ง และมีข้อกำหนดว่า รัฐบาลรักษาการจะทำสิ่งใดไม่ได้บ้าง
ดังนั้น ในช่วงเวลาของการเลือกตั้งปี 2562 รัฐบาลคสช. จึงยังคงมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในการอนุมัติงบประมาณ โครงการ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ รวมไปถึงยังมีสภาในการพิจารณากฎหมายและแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระได้ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 อยู่ในมือด้วย
‘รัฐบาลรักษาการ’ รัฐบาลที่ต้องถูกจำกัดอำนาจก่อนการเลือกตั้ง
คำว่า ‘รัฐบาลรักษาการ’ เป็นคำที่ใช้เรียกรัฐบาลที่ยังอยู่ในตำแหน่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ในกรณีที่ฝ่ายบริหารของรัฐมีเหตุให้ต้องยุติบทบาทลง จึงต้องยังมี “ฝ่ายบริหารชั่วคราว” นั่งทำงานอยู่จนกว่าจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่มารับไม้ต่อ เพื่อดูแลงานเฉพาะหน้าให้ยังเดินหน้าไปได้ไม่ให้การทำงานของระบบกลไกต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ซึ่งก็คือฝ่ายบริหารชุดเดิมที่สิ้นสภาพไปนั่นเอง
แต่เนื่องจากรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่รัฐบาลชั่วคราว รัฐบาลจึงต้องมีการ ‘จำกัดอำนาจ’ ของรัฐบาลรักษาการไว้โดยเฉพาะในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลงด้วยเหตุอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือในกรณีที่จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่
โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่ ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ห้ามก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รัฐธรรมนูญ 2560 กับสถานะ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ของคสช. ก่อนการเลือกตั้ง
หากพิจารณารัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดอำนาจของ คสช. ไว้เลย ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจพิเศษกับ คสช. ไว้ใช้อีกก่อนการเลือกตั้ง เช่น มาตรา 265 ที่ให้ คสช. ยังคงอยู่และยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เช่น อำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้หัวหน้าคสช. สามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ โดยมีผลชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนถึงวันก่อนที่จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หรือหมายความว่า คสช. ยังมีสภาที่แต่งตั้งมาเองคอยทำหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญได้ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งด้วย
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง 2562 แทนที่รัฐบาลชุดเดินจะถูกจำกัดอำนาจ ตรงกันข้าม รัฐบาลคสช. จึงสามารถอนุมัติงบประมาณ จำนวน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อแจกจ่ายประชาชน เช่น ใช้แจกจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแบ่งไปอุ้มราคาสินค้าเกษตรอย่างเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงยังมีมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดใดๆ
ล่าสุด วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ครม. อนุมัติหนุนใช้บัตรเดบิต คืน VAT 5% รับตรุษจีน พร้อมอนุมัติของขวัญจาก 8 หน่วยงาน เช่น ขยายสิทธิลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 11,500,000 คน เพิ่มอัตราค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหายเป็น 10 ปีและเพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 40,000 บาท
นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการบริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง เช่น บโอน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ข้าราชการทหารผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก กระทรวงกลาโหม มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ที่สำคัญคือ การกระทำดังกล่าวเป็นความได้เปรียบที่สงวนไว้เฉพาะ คสช. ในการเลือกตั้งครั้งนี้

You must be logged in to post a comment Login