วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เอฟเฟ็คนาฬิกาเพื่อน

On December 28, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 28 ธ.ค. 61)

เป็นไปตามคาดผลการตัดสินกรณีนาฬิกาของ “บิ๊กป้อม” ป.ป.ช. ใช้เวลาสอบ 1 ปีเต็ม ก่อนมีมติตีตกไม่ตั้งข้อกล่าวหา เพราะเชื่อได้ว่ายืมเพื่อนมาใส่จริง พร้อมประกาศชัดไม่สนใจกระแสสังคม ยึดการพิจารณาตามพยานหลักฐานเท่านั้น เมื่อผลออกมาเช่นนี้แน่นอนว่าย่อมกลายเป็นบรรทัดฐานและทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคตคงมีกรณียืมคนอื่นมาใช้เกิดขึ้นอีกหลายกรณี อย่างไรก็ตาม แม้ในส่วนของ ป.ป.ช. จะถือว่าจบแล้ว แต่เชื่อว่าอารมณ์ของผู้คนต่อเรื่องนี้จะยังไม่จบ และน่าจะมีผลทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งสวิงไปอีกข้างหนึ่งพอสมควร แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ได้เปิดหน้าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักหัวหน้า คสช. ก็ตาม

ยื้อกันมาเป็นปีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติอย่างเป็นทางการ 5 ต่อ 3 เสียง ไม่แจ้งข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องนาฬิกาเพื่อน เพราะเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาว่าจงใจปกปิดหรือไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน

ป.ป.ช. ให้เหตุผลที่ยกคำร้อง เนื่องจากเป็นนาฬิกาของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ที่ให้ พล.อ.ประวิตรยืมใช้ จำนวน 21 เรือน ส่วนอีกเรือนแม้ยังหาไม่ได้ว่าเป็นของนายปัฐวาท แต่ทราบว่าชอบให้เพื่อนคนอื่นๆยืมเป็นเรื่องปรกติ ซึ่งตรงนี้จะให้กรมศุลกากรตรวจสอบว่าเป็นของใครต่อไป

ส่วนเรื่องแหวนนั้น ป.ป.ช. สรุปว่าเป็นแหวนมรดกที่ได้รับจากมารดา สำหรับแหวนอื่นๆ 12 วง เป็นแหวนใส่แสดงสัญลักษณ์ ประมาณว่าเป็นแหวนรุ่น ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สิน

พร้อมประกาศไม่สนเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อครหาของสังคม เพราะ ป.ป.ช. พิจารณาตามพยานหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม ยังติดติ่งให้สังคมติดตามไว้เรื่องหนึ่งคือ การยืมนาฬิการาคาแพงของเพื่อนมาใส่เข้าข่ายรับผลประโยชน์เกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช. บอกว่าประเด็นนี้ยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ

สรุปคือไม่ใช่ของตัวเอง ยืมเพื่อนมา ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน

ถ้าจะให้เดาล่วงหน้า ขอเดาว่าไม่น่าเข้าข่ายรับผลประโยชน์เกินกว่า 3,000 บาท เพราะเมื่อยืมเพื่อนมาก็ต้องคืน ไม่ได้เอาเก็บไว้

ถ้าจะให้มีน้ำหนัก มีเหตุผล ก็ต้องเอาอย่างบางองค์กรที่เปิดพจนานุกรมตัดสิน เพราะตามพจนานุกรมคำว่า “ยืม” เป็นคำกริยา มีความหมายว่า “ขอสิ่งของ เงิน เป็นต้น มาใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วคืนให้หรือใช้คืน”

เมื่อมีการคืนหรือใช้คืนจึงไม่น่าเข้าข่ายรับผลประโยชน์

กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่จะสร้างความปวดหัวตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะจากนี้ไปใครก็ตามที่ซุกทรัพย์สินแล้วไม่แจ้งบัญชี พอถูกจับได้ก็อ้างว่าไม่ใช่ของตัวเอง ยืมคนอื่นมา ประเด็นเดียวที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือหาคนที่ให้ยืมมายืนยันให้ได้ หาไม่ได้ก็บอกว่าคนที่ให้ยืมตายแล้ว และที่ยืมมานั้นคืนไปแล้ว ถือว่าจบ

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเรื่องนาฬิกาเท่านั้น หากจำกันได้ยังมีกรณีอดีตนายตำรวจใหญ่ที่ยืมเงินเพื่อน 300 ล้านบาท และก็บอกว่าคืนไปแล้วเช่นกัน

เมื่อผลการตรวจสอบออกมาเป็นบรรทัดฐานอย่างนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะทำให้การตรวจสอบทำได้ยากมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบจะง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับว่าใครตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าองค์กรเดียวกัน ตัดสินเรื่องแบบเดียวกันแตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็เคยทำมาแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น กรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง ที่ตัดสินว่าการสลายการชุมนุมคนเสื้อเหลืองมีความผิด (แม้ภายหลังศาลจะยกฟ้อง) ส่วนการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีคนเจ็บคนตายจำนวนมากไม่เป็นความผิด ไม่ตั้งข้อกล่าวหาใคร

การตัดสินโดยยึดพยานหลักฐานเป็นหลักโดยไม่สนใจกระแสสังคมนั้นเป็นเรื่องดี เพราะเป็นหลักประกันเรื่องความยุติธรรมให้ผู้ถูกกลาวหา

แต่ประเด็นคือเหตุผลที่นำมาใช้กล่าวอ้างหรืออธิบายคำตัดสินจะต้องมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ เพราะถ้ามีเหตุผลน่าเชื่อถือ เหตุผลที่หักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างหมดจด จะทำให้สังคมไม่ติดใจสงสัยในคำตัดสิน

หากใช้เหตุผลที่คนฟังแล้วเสียงโห่ดังมากกว่าเสียงปรบมือ ก็จะทำให้คุณค่าขององค์กรที่ทำการตัดสินนั้นลดลงไป

เรื่องแหวนและนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร แม้ในส่วนของ ป.ป.ช. จะถือว่าจบแล้ว แต่เชื่อว่าอารมณ์ของผู้คนต่อเรื่องนี้จะยังไม่จบ และน่าจะมีผลทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งสวิงไปอีกข้างหนึ่ง แม้ พล.อ.ประวิตรจะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ได้เปิดหน้าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักหัวหน้า คสช. ก็ตาม


You must be logged in to post a comment Login