วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“หนูน้อยแพ้อาหาร”รักษาได้จริงหรือ?

On December 28, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ผศ.พญ.ปัญจมา ปาจารย์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2561-4 มกราคม 2562)

ปัจจุบันภาวะแพ้อาหารเป็นภาวะที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด็ก นอกจากเป็นภาวะที่อันตราย ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กรวมถึงผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เด็กที่แพ้มีข้อจำกัดในการเข้าโรงเรียนหรือการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ส่วนผู้ปกครองต้องใช้เวลาเตรียมอาหารให้บุตรเอง และหลายครั้งต้องขาดงานเนื่องจากการป่วยของบุตร รวมถึงเด็กบางคนที่แพ้อาหารหลายชนิดอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีภาวะแพ้อาหาร

เด็กที่มีภาวะแพ้อาหารอาจสังเกตง่ายๆ โดยแบ่งเป็น

1.กลุ่มที่มีอาการเฉียบพลัน จะมีอาการภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร โดยมักจะมีอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม และถ้ามีอาการรุนแรงจะเกิดภาวะแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อะนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis) ได้แก่ มีอาการของระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ซึม และชักได้

2.กลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ถ้าเกิดที่ระบบผิวหนังจะสัมพันธ์กับโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) โดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณแก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการระบบทางเดินอาหารอาจถ่ายเป็นมูกเลือด หรือมีอาการอาเจียนและถ่ายเหลวรุนแรงเมื่อได้รับอาหารที่แพ้

แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ตอนไหน

การตรวจอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการขึ้นกับว่าเป็นการแพ้ชนิดใด ถ้าเป็นการแพ้ชนิดเฉียบพลัน ส่วนใหญ่สามารถทำการตรวจโดยใช้วิธีสะกิดผิวหนัง (skin prick test) หรือการตรวจเลือดหา specific IgE ต่ออาหารที่แพ้ได้ กรณีที่เป็นการแพ้แบบล่าช้า การตรวจโดยสะกิดผิวหนังและการตรวจ specific IgE อาจไม่พบความผิดปรกติ

* การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือ การทดสอบให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oral food challenge test) แต่การตรวจวิธีนี้ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะกรณีที่แพ้เฉียบพลัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ จึงแนะนำให้ทำในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ถ้าแพ้แบบล่าช้าและอาการไม่รุนแรงอาจสามารถทดลองที่บ้านได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ภาวะแพ้อาหารเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอดหรือหลังคลอด

การแพ้อาหารเกิดขึ้นภายหลังคลอด โดยอาหารบางชนิดจะเกิดอาการแพ้ในเด็กอายุน้อย เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี แต่มีอาหารบางชนิดที่เริ่มมีอาการในเด็กโต เช่น อาหารทะเล เป็นต้น

การรักษา

การรักษาโดยทั่วไป แนะนำให้เลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าแพ้จนกว่าอาการแพ้จะดีขึ้นตามช่วงอายุ แต่มีอาหารหลายชนิดที่มีโอกาสหายแพ้ได้น้อย หรือในบางครั้งผู้ป่วยมีอาการแพ้มาก ทำให้ไม่หายจากการแพ้อาหารตามช่วงอายุ และอาหารบางชนิดผู้ป่วยสามารถเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากปะปนเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด และฉลากอาหารไม่ได้ระบุ ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้โดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้เกิดอาการแพ้ได้

วิทยาการการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาภาวะแพ้อาหารได้อย่างไร

ในปัจจุบันการรักษาการแพ้อาหารสามารถทำได้กรณีที่แพ้แบบเฉียบพลัน เรียกว่า “วิธีการรักษาภาวะแพ้อาหารโดยวิธีรับประทาน” (oral immunotherapy) โดยเริ่มจากมีการศึกษาในต่างประเทศในผู้ป่วยที่แพ้ถั่วลิสง นมวัว ไข่ และแป้งสาลี แต่การรักษาจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะเสี่ยงต่อการแพ้รุนแรงได้

การรักษาวิธีนี้จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปทีละน้อย และค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นระยะจนถึงระดับที่สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายได้ จากนั้นต้องกินอาหารชนิดนั้นๆต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

สำหรับศิริราช เมื่อแพ้อาหารมีวิทยาการการแพทย์รักษาอย่างไร

ศิริราชมีการรักษาด้วยวิธี oral immunotherapy มาประมาณ 6 ปี โดยเริ่มจากผู้ป่วยที่แพ้แป้งสาลี ซึ่งมีการปรับปรุงโปรแกรมการรักษาให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ภายหลังได้เริ่มทำการรักษาในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ นมวัว แป้งสาลี และถั่วเหลือง โดยใช้หลักการเดียวกับของต่างประเทศคือ เพิ่มปริมาณอาหารที่แพ้ให้ผู้ป่วยรับประทานทีละน้อยจนถึงระดับที่เหมาะสม และมีการติดตามโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การรักษาจะทำในเฉพาะรายที่ไม่หายจากอาการแพ้เมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสม ร่วมกับไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารชนิดที่แพ้ได้ หรือมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยผู้ปกครองต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงในการรักษาอย่างละเอียด

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้เปิดให้บริการ “คลินิกภูมิแพ้” มาตั้งแต่ปี 2515 ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีอาการภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นหอบ หืด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ รวมถึงเด็กๆที่มีภาวะแพ้อาหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลเฉพาะทาง

กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลจะแบ่งเป็น 2 ช่วง

ครั้งแรกจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 วัน เพื่อหาปริมาณอาหารที่มากที่สุดที่รับประทานแล้วไม่เกิดอาการ โดยจะมีแพทย์และพยาบาลเฝ้าตลอดทำการรักษา ส่วนการเพิ่มปริมาณในแต่ละครั้งจะทำการรับตัวผู้ป่วยไว้ดูแลในโรงพยาบาลครึ่งวัน โดยจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลติดตามอาการตลอด ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กๆที่มีภาวะแพ้อาหารมารับบริการและอาการดีขึ้นเป็นจำนวนกว่า 20 รายแล้ว

เมื่อรักษาจนหายเป็นปรกติแล้ว มีโอกาสกลับมาแพ้อาหารอีกหรือไม่

ผลการรักษาจะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ

1.ระดับรับประทานอาหารได้โดยไม่มีอาการ เรียกว่า desensitization ผู้ป่วยในระยะนี้ยังต้องรับประทานอาหารที่แพ้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหยุดหลายวันอาจกลับมามีอาการได้ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ถึงระดับนี้ แม้จะไม่หายขาด แต่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก

2.การรักษาในระดับหายขาด (sustained unresponsiveness หรือ tolerance) ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปรกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่แพ้อย่างต่อเนื่อง ผลการรักษาในระดับนี้ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปี

ในอนาคตเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะทำให้ผู้ป่วยเด็กที่มีข้อบ่งชี้สามารถเข้ารับการรักษาได้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องพัฒนาในด้านบุคลากรและสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก

เกร็ดความรู้

ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ซึ่งอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้ามีอาการสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

กรณีที่ยังมีภาวะแพ้อาหาร เด็กๆควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้โดยเด็ดขาด ไม่ควรไปทดลองเอง เพราะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรแนะนำเด็กๆให้อ่านฉลากอาหารเสมอ และถ้ามีประวัติแพ้รุนแรงควรพกยาฉีด adrenaline ติดตัว และฝึกซ้อมในการฉีดอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอาการ

 


You must be logged in to post a comment Login